เงินบาทแข็งค่า รับเม็ดเงินไหลเข้าตราสารหนี้

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 7 กันยายน 2560 ค่าเงินบาทเปิดตลาดที่ระดับ 33.13/15 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (6/9) ที่ระดับ 33.16/16 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยในคืนที่ผ่านมา ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจทั้ง 12 เขต หรือ “Beige Book” โดยรายงานระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีการขยายตัวในอัตราปานกลางในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงกลางเดือนสิงหาคม อย่างไรก็ตาม เงินเฟ้อยังคงเคลื่อนไหวในระดับต่ำ นอกจากนี้ผลการสำรวจของไอเอชเอส มาร์กิต ระบุว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการของสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 56.0 ในเดือนสิงหาคม อย่างไรก็ตามเงินดอลลาร์ยังคงได้รับแรงกดดันจากประเด็นความไม่แน่นอนในการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการเฟด โดยนายสเตนลีย์ ฟิสเชอร์ รองประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) วัย 74 ปี ประกาศลาออกจากตำแหน่งในวันนี้ ในจดหมายที่ยื่นต่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ โดยระบุถึงเหตุผลส่วนตัว ซึ่งการลาออกของนายฟิสเชอร์จะเปิดโอกาสให้ทรัมป์ส่งคนของตนเข้ารับตำแหน่งในคณะกรรมการเฟด ในช่วงที่เฟดกำลังดำเนินการปรับนโยบายการเงินให้กลับสู่ภาวะปกติ ด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และปรับลดงบดุลจากวงเงิน 4.5 ล้านล้านดอลลาร์ ทั้งนี้กระแสคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ เนื่องจากอัตาเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำกว่าระดับเป้าหมาย และความกังวลในเรื่องของพายุเฮอร์ริเคน “เออร์มา” ซึ่งกำลังเคลื่อนตัวขึ้นฝั่งสหรัฐและคาดว่าจะสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงนั้น ได้เพิ่่มแรงกดดันให้สกุลดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มอ่อนค่าลง

ในส่วนของปัจจัยภายในประเทศนั้น ค่าเงินบาทยังคงมีแนวโน้มแข็งค่าเนื่องจากการที่มีเงินทุนต่างประเทศไหลเข้ามาในตลาดตราสารหนี้เป็นจำนวนมาก โดยล่าสุดนักลงทุนต่างชาติได้มีการซื้อตราสารหนี้ระยะสั้นเป็นจำนวนมากถึง 2 หมื่นกว่าล้านบาท แสดงให้เห็นว่า นักลงทุนต่างชาติมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยมากขึ้น และมองว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นและสามารถให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าภูมิภาคอื่น ๆ ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 33.08-33.14 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 33.08/09 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับค่าเงินยูโรวันนี้ (7/9) เปิดตลาดที่ระดับ 1.1924/26 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (6/9) ที่ระดับ 1.1944/46 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีกำหนดการประชุมนโยบายการเงินและแถลงมติอัตราดอกเบี้ยในวันนี้ ในขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า นายดรากีคงจะไม่ออกมาส่งสัญญาณมากนักเกี่ยวกับโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในอนาคต เนื่องจาก ECB อาจจะรอจนถึงเดือนตุลาคม ก่อนที่จะประกาศเรื่องการเปลี่ยนแลงมาตรการ QE นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ยังคาดการณ์ด้วยว่า นายดรากี อาจจะแสดงความกังวลเกี่ยวกับการแข็งค่าของสกุลเงินยูโร ในการประชุมครั้งนี้ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 1.1909-1.1975 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 1.1974/1.1976 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

ในส่วนของค่าเงินเยนวันนี้ (7/9) เปิดตลาดที่ระดับ 109.07/09 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าลงจากราคาปิดตลาดในวันพุธ (6/9) ที่ระดับ 108.70/72 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ดดยค่าเงินเยนอ่อนค่าลงเล็กน้อยหลังจากมีการเทขายทำกำไร แต่อย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังคงกังวลเกี่ยวกับเหตุการณ์ตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลีระหว่างเกาหลีเหนือและสหรัฐ ส่งผลให้นักลงทนยังคงเข้ามาถือสินทรัพย์ปลอดภัยเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ในระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงระหว่าง 108.88-109.39 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 108.88/108.90 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ข้อมูลทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่ต้องจับตาดูในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จำนวนผู้ขอสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (7/9) GDP ยูโรโซน (7/9) ผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (7/9) และสต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือนกรกฎาคม (8/9)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -1.6/1.4 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่้ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -2.3/-1.3 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ