“แบงก์ชาติ” จ่อหารือ ก.คลัง ทบทวนกรอบเงินเฟ้อปี’63 คาดชัดเจนภายใน 1 เดือนนี้

วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าแบงก์ชาติ

ธปท. จ่อหารือก.คลัง ทบทวนกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อปี’63 คาดชัดเจนใน 1 เดือนนี้ ส่วนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่า 1.25% สามารถทำได้ หากเศรษฐกิจมีความเสี่ยงตามหลักการ data-dependent

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในงานประชุมนักวิเคราะห์ หรือ Analyst Meeting ครั้งที่ 4/2562 ว่า ขณะนี้ธปท. อยู่ระหว่างการหารือขั้นตอนสุดท้ายร่วมกับกระทรวงการคลัง ในเรื่องของการทบทวนเป้าหมายเงินเฟ้อในปี 2563 คาดว่าจะมีความชัดเจนภายใน 1 เดือนนี้ ก่อนที่จะมีการลงนามร่วมกันและนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในช่วงปลายปี 2562 ขณะที่ปัจจุบัน ธปท.และกระทรวงการคลังวางกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อในปี 62 อยู่ที่ 1-4% ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงจากกรอบเป้าหมายที่ใช้ในปี 61

“เรื่องเงินเฟ้อ เรามีการทบทวนเป็นประจำอยู่แล้ว ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกมีการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้าง การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ รวมถึงราคาพลังงานที่เปลี่ยนแปลงไป ตอนนี้เรากำลังหารือในขั้นสุดท้ายกับกระทรวงคลัง ก่อนจะลง MOU และเข้า ครม.ในปลายปี รออีก 1 เดือนก็จะเห็นว่าเราจะปรับหรือไม่” นายวิรไท กล่าว

อย่างไรก็ดี ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ยอมรับว่าในปีนี้อัตราเงินเฟ้อขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้เดิม และไม่น่าจะเข้าสู่กรอบเป้าหมายที่ 1-4% ได้ จากผลของราคาพลังงานและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ต่ำกว่าคาด ทั้งนี้ ประเมินว่า ณ สิ้นปี 62 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะเพิ่มขึ้นเพียง 0.8% และจะเริ่มเข้าสู่กรอบเป้าหมายที่ระดับ 1% ได้ในปี 63

นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงินธปท. เปิดเผยถึงกรณีที่มีการคาดการณ์ว่า กนง. จะไม่ลดอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่า 1.25% ว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 1.25 เป็นเพียงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ต่ำที่สุดในอดีต ไม่ได้หมายความว่าจะลดลงต่ำกว่านั้นไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ในอนาคตข้างหน้าเศรษฐกิจยังมีความเสี่ยงอีกมาก หากมีความจำเป็นที่จะปรับอัตราดอกเบี้ยก็สามารถปรับดอกเบี้ยได้ต่ำกว่า 1.25%

“คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ดำเนินการตามนโยบาย หากมีความจำเป็นต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่า 1.25% ก็สามารถทำได้ตามหลักการ data-dependent ซึ่งชั่งน้ำหนักทั้ง 3 เรื่อง คือ เงินเฟ้อ เศรษฐกิจ และเสถียรภาพระบบการเงิน รวมถึงเรามีเครื่องมือดูแลเสถียรภาพระบบการเงินระหว่างทางอยู่แล้ว” นายเมธี กล่าว

ทั้งนี้ นายนายวิรไท กล่าวเสริมถึงกรณีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่ 1.25% ว่าการดูนโยบายการเงินต้องดูบริบทด้วย ธนาคารกลางของประเทศอื่นที่สามารถลดดอกเบี้ยลงได้มาก เพราะในช่วงที่ผ่านมาได้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปสูงก่อนแล้วตามความจำเป็นของเขา ขณะที่อัตราดอกเบี้ยของไทยไม่ได้ปรับขึ้นมากถ้าเทียบกับประเทศอื่น ๆ และหากมาดูเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (yield curve) ของไทยในปัจจุบัน พบว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลที่สั้นกว่า 15 ปี ลดต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 1.50 เสียอีก ฉะนั้น สภาพคล่องในตลาดการเงินของไทยจึงไม่ใช่ปัญหา