เปิด “คืนภาษีในเมือง” แบบถาวร สรรพากรไฟเขียวขยายจุดบริการไม่จำกัด

สรรพากรไฟเขียวเอกชนให้บริการคืนภาษีนักท่องเที่ยวในเมืองได้ “เป็นการถาวร” หวังหนุนยอดขายร้าน VRT พันสาขาทั่วประเทศเพิ่ม 10% เปิดทางตัวแทนคืนภาษีขอเพิ่มจุดให้บริการได้ทั่วประเทศ “ไม่จำกัด” พร้อมรับสมัคร “ตัวแทนรายใหม่” ตั้งแต่ 1 ต.ค. 62 เป็นต้นไป เผยผลทดสอบนำร่องให้บริการ 5 บริษัทช่วง 1 ปีที่ผ่านมา “บรรลุวัตถุประสงค์” ทั้งช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ/การท่องเที่ยว-หนุนนักท่องเที่ยวซื้อสินค้าในไทยเพิ่มขึ้น-ส่งเสริมผู้ประกอบการท้องถิ่นมีโอกาสขายสินค้า

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2562 เป็นต้นไป กรมสรรพากรได้เปิดกว้างให้ผู้ที่ได้รับอนุญาตเป็นตัวแทนคืนภาษีนักท่องเที่ยวในเมือง (Downtown VAT Refund) สามารถตั้งจุดให้บริการคืนภาษีนักท่องเที่ยวได้โดยไม่จำกัดจุดบริการ จากเดิมตอนที่เป็นโครงการทดสอบให้บริการ (แซนด์บอกซ์) กำหนดให้เปิดได้บริษัทละไม่เกิน 5 จุด เฉพาะในกรุงเทพฯและปริมณฑล ทั้งนี้ เป็นไปตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 229) ที่เพิ่งออกประกาศและมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2562 เป็นต้นไป

“ปัจจุบัน ตัวแทนคืนภาษีนักท่องเที่ยวในเมืองมีด้วยกัน 5 ราย และมีจุดให้บริการ 18 จุด ซึ่งหากจะขอเพิ่มจุดบริการ ต้องขอเข้ามาที่กรม เพื่อให้มีการตรวจสอบระบบให้พร้อมก่อน ทั้งในแง่คุณสมบัติและเทคโนโลยีที่เชื่อมต่อกับกรม อย่างไรก็ดี ตอนนี้ยังไม่มีตัวแทนรายใดมาขอเปิดจุดบริการเพิ่มเติม” นายเอกนิติกล่าว

นายเอกนิติกล่าวด้วยว่า การเปิดบริการคืนภาษีนักท่องเที่ยวในเมืองแบบเป็นการทั่วไป จะช่วยให้ยอดขายสินค้าของร้านค้าในระบบคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้นักท่องเที่ยว หรือร้าน VRT (VAT Refund for Tourist) เพิ่มขึ้นราว 10% โดยปัจจุบันร้าน VRT (ณ 31 ส.ค. 2562) มีทั้งสิ้น 1,800 ราย มีสาขารวมทั้งสิ้น 9,969 แห่ง ซึ่งในปี 2561 ที่ผ่านมา มียอดขายสินค้าที่นักท่องเที่ยวขอคืนภาษีทั้งสิ้น 51,724 ล้านบาท

แหล่งข่าวจากกรมสรรพากรเปิดเผยว่า  อธิบดีกรมสรรพากรได้ลงนามออกประกาศ ฉบับที่ 229 เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ให้ผู้เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรที่ซื้อสินค้าจากผู้ประกอบการจดทะเบียน เพื่อนำออกไปนอกราชอาณาจักร มีสิทธิตั้งตัวแทนเพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ถูกเรียกเก็บไว้แล้วได้ ตามมาตรา 84/4 แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2562 และกำหนดให้ประกาศมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2562 เป็นต้นไป

พร้อมกันนี้ กรมสรรพากรได้ประกาศเปิดรับสมัครตัวแทนคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรในเมืองด้วย โดยกำหนดว่าผู้สนใจจะสมัครเป็นตัวแทน (รายใหม่) ต้องยื่นคำขออนุมัติตามแบบคำขอต่ออธิบดีกรมสรรพากรผ่านหัวหน้ากลุ่มบริหารการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่นักท่องเที่ยว ซึ่งต้องมีคุณสมบัติ คือ 1.เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย 2.มีทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้วตั้งแต่ 25 ล้านบาทขึ้นไป 3.เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม  4.มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการเป็นตัวแทนระบุไว้ในหนังสือรับรองนิติบุคคล และ 5.ต้องเสนอแผนการดำเนินงานในการให้บริการเป็นตัวแทน

แหล่งข่าวกล่าวว่า กรมได้สรุปผลดำเนินการในแซนด์บอกซ์ที่เป็นการทดลองระบบ ช่วง 1 ปีที่ผ่านมา (1 ต.ค. 2561-30 ก.ย. 2562) ว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ คือ 1) กระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของประเทศ 2) เพิ่มช่องทางการให้บริการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้เดินทางออกนอกราชอาณาจักร 3) ส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวซื้อสินค้าในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น และ 4) ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นมีโอกาสในการขายสินค้าได้มากขึ้น

“การเปิดให้บริการคืนภาษีนักท่องเที่ยวในเมือง ที่ผ่านมาแม้ตัวเลขจะดูไม่มาก แต่ถือว่าเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยว เป็นช่องทางที่นักท่องเที่ยวสามารถเลือกใช้บริการในเมืองได้ ซึ่งทำให้มีเงินไปจับจ่ายใช้สอยต่อไปได้อีก ทำให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น นอกจากนี้ มองกันว่า หากเปิดเป็นแบบถาวร จะทำให้ตัวเลขเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน เพราะจะมีการโปรโมตมากขึ้น” แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า สำหรับตัวแทนคืนภาษีนักท่องเที่ยวในเมือง 5 รายที่เข้าทดสอบในแซนด์บอกซ์ช่วงที่ผ่านมา ได้แก่ 1.บริษัท เคาน์เตอร์เซอร์วิส จำกัด 2.บริษัท แวต รีฟันด์ เซ็นเตอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด 3.บริษัท ไทย แวต รีฟันด์ จำกัด 4.บริษัท มันนี่ แวลู จำกัด และ 5.บริษัท คิง เพาเวอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด สามารถให้บริการเป็นการถาวรได้ต่อไปทันที รวมถึงสามารถขอเพิ่มจุดให้บริการได้