จับเข่าคุย “ฐากร ปิยะพันธ์” เกมใหม่ “กรุงศรี คอนซูมเมอร์”

สัมภาษณ์

หนี้ครัวเรือนที่กลับสู่ขาขึ้นอีกครั้ง ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว คุณภาพหนี้ก็มีทิศทางที่ด้อยลง ดังนั้น แนวคิดการให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่ออย่างคำนึงถึง “ภาระหนี้ต่อรายได้” (DSR) มากขึ้น อาจถูกนำมาใช้ ขณะที่สถาบันการเงินก็ต้องปรับตัว โดย “ประชาชาติธุรกิจ” ได้พูดคุยกับ “ฐากร ปิยะพันธ์” ประธานกรรมการกรุงศรี คอนซูมเมอร์ และผู้บริหารสายงานดิจิทัลแบงกิ้งและนวัตกรรม ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ที่ได้สะท้อนภาพการทำธุรกิจท่ามกลางปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้

นำร่องงัด DSR สกรีนก่อหนี้

เขาบอกว่า ที่ผ่านมา ธปท.ได้หารือกับทุกแบงก์ไป ทำความเข้าใจคำจำกัดความของ DSR เพื่อดูว่าวิธีคำนวณของแต่ละแบงก์ โดยให้ทุกแบงก์ส่งข้อมูลที่บันทึกการปล่อยสินเชื่อที่ DSR ระดับต่าง ๆ ไปให้ทุกเดือน ซึ่งเห็นได้ว่า แต่ละแบงก์มีเกณฑ์ DSR ต่างกัน บางแห่งใช้รายได้ขั้นต้น (gross income) ขณะที่บางแบงก์ก็ใช้รายได้สุทธิ (net income) มาคำนวณ

ซึ่งการนำ DSR มาใช้ น่าจะหยุดหนี้ครัวเรือนได้ผล เนื่องจากจะสามารถบอกได้ชัดเจนว่า ลูกค้าคนใดมีรายได้ยังไม่มาก แต่ก่อหนี้เร็ว ซึ่งที่ผ่านมา ไม่เคยมีการกำหนดว่าลูกค้าแต่ละรายควรจะก่อหนี้ได้แค่ไหน สำหรับกรุงศรีมีค่าเฉลี่ย DSR ที่ใช้อยู่ประมาณ 40% ในกลุ่มคนรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาท ซึ่งเป็นกลุ่มเพิ่งเริ่มทำงาน ยังไม่ได้ขอสินเชื่อมาก อาจจะเพิ่งกู้ประเภทเดียว หรือทำบัตรเครดิตใบแรก

“ถึงแม้ว่ายังไม่มีข้อบังคับว่า จะต้องทำเมื่อไหร่ อย่างไร แต่ในเดือน ม.ค. 2563 เราจะเริ่มทำ DSR ที่ไม่เกิน 70% ของกลุ่มคนที่มีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาท เอากลุ่มนี้ก่อน ซึ่งลูกค้ากรุงศรีเองก็มีคนที่ DSR เกิน 70% อยู่ประมาณ 15-20% ของใบสมัครที่เคยรับมาและอนุมัติไป ซึ่งต่อไปยอดอนุมัติก็คงลดลงไป 15-20%”

ทั้งนี้ เชื่อว่า หากคุม DSR ทั้งระบบตลาดสินเชื่อรายย่อยจะชะงักทันที แต่ถ้าเป็นทั้งตลาด ก็ถือว่าเป็นธรรม (fair game)

“ผมมองว่า DSR เป็นยาถูกขนาน ดังนั้น ถ้ากำหนด DSR ที่ 70% จะได้เห็นเลยว่า ตลาดจะนิ่ง เราจะเห็นเลยว่าการเพิ่มขึ้นของหนี้จะชะลอตัวลง ซึ่งก็หวังว่า ถ้าลูกค้าจะไม่ไปกู้นอกระบบมากขึ้น”

เลิกผ่อน 0% ร้านอาหาร

เมื่อพูดถึงแคมเปญผ่อน 0% ที่ร้อนแรงก่อนหน้านี้ “ฐากร” บอกว่า จริง ๆ แล้ว ธปท.ไม่ได้ห้าม เพียงแต่อยากให้ดูว่า เป็นการเชิญชวนให้กู้ง่ายเกินไปหรือไม่มากกว่า และจากข้อมูลที่มีก็เห็นได้ว่า ผ่อน 0% ไม่ได้มีผลต่อการเป็นหนี้มากนัก และไม่ใช่ต้นเหตุที่ทำให้เกิดหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) โดย ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2562 NPL บัตรเครดิตของกรุงศรี คอมซูมเมอร์อยู่ที่ 1.1% ขณะที่ NPL ของสินเชื่อส่วนบุคคลอยู่ที่ 2.5%

โดยกรุงศรีคงทำโปรโมชั่นผ่อน 0% ต่อ แต่จะไม่ทำโปรฯนี้กับร้านอาหาร เช่น กิน 3,000 ผ่อนได้ เป็นต้น ซึ่งได้แจ้งร้านอาหารที่เป็นพันธมิตรธุรกิจไปแล้ว รวมถึงเรื่องที่ดูสุ่มเสี่ยงอย่างอื่น เช่น ซื้อขายสุนัข ที่อาจจะขัดศีลธรรม เป็นต้น

เกมการตลาดเปลี่ยน

สำหรับแนวโน้มธุรกิจบัตรเครดิต “ฐากร” กล่าวว่า สังคมสูงวัย น่าจะทำให้ภาพธุรกิจบัตรเครดิตเปลี่ยนไปแล้ว จากลูกค้าใหม่ที่จะเข้ามาน้อยลงเรื่อย ๆ ถึงจุดหนึ่งจะไม่โต ขณะที่ภาพการแข่งขันด้านการทำตลาด (มาร์เก็ตติ้ง) ก็จะเปลี่ยนไปจากที่ใช้แคมเปญลด แลก แจก แถม ไปสู่แข่งกันเรื่องความคิดสร้างสรรค์ (creativity) กับความฉลาดในการใช้ข้อมูล (data intelligence) มากขึ้น

โดยต่อไปกรุงศรี คอนซูมเมอร์ จะทำแคมเปญที่ไม่ได้แข่งเรื่อง cashback หรือส่วนลดสูงสุดแล้ว แต่จะเป็น “Right Offer to the Right Customer at the Right Time and Location and Communicate to the Right Channel” (ข้อเสนอที่ใช่ แก่ลูกค้าที่ใช่ ในเวลาและสถานที่ที่ใช่ และสื่อสารผ่านช่องทางที่ใช่) ซึ่งเป็นการนำบิ๊กดาต้ามาใช้ แล้วสื่อสารกับลูกค้าให้ตรงจุดมากขึ้น และจะทำธุรกิจกับข้อมูลที่มีอยู่ เพื่อเปลี่ยนข้อมูลให้เป็นเงิน หรือ “data commercialization” อย่างการใช้กรุงศรี คอนซูมเมอร์ และแอป U-CHOOSE ที่มีฐานลูกค้าราว 4-5 ล้านราย เป็นแพลตฟอร์มที่จะดึงพันธมิตรเข้ามา

ปีหน้าแข่งปล่อยกู้ดิจิทัลหนักขึ้น

สำหรับการปล่อยกู้โดยใช้ฐานข้อมูล (information based lending) “ฐากร” บอกว่า จากที่ทดลองทำมา พบว่า กับพันธมิตรบางรายก็มีความคืบหน้า ขณะนี้กำลังเริ่มทำกับโฮมโปร เมกาโฮม ขณะที่กับพันธมิตรบางรายก็ไม่ได้คืบหน้าอย่างที่คาดการณ์ไว้ อย่างกรณีลาล่ามูฟ ก็อาจจะชะลอและหยุดเพื่อดูผล หรือ Ookbee ที่สเกลค่อนข้างเล็ก แต่ก็ทำไปก่อน และก็มีบางพันธมิตรที่ดูแล้วก็อาจไม่เหมาะกับการทำ information based lending

“ที่ทดลองปล่อยกู้ไป ก็มีบางส่วนโอเค และที่ไม่โอเค ก็จะตอบยากนิดหนึ่ง ว่าที่ไม่โอเค เป็นเพราะว่าเศรษฐกิจไม่ดี มาพร้อมกับจังหวะที่ไม่ดี หรือเป็นเรื่องของข้อมูลที่สกอริ่ง ฯลฯ ผมว่ามันยังต้องปรับกันหลายรอบ อย่างไรก็ดี เชื่อได้ว่า ทุกธนาคารที่ไปคุยกับแพลตฟอร์มต่าง ๆ ก็ยังหาจุดลงตัวไม่ค่อยได้ เพราะข้อมูลไม่ได้อยู่กับเรา”

อย่างไรก็ตาม คาดว่าปีหน้าน่าจะเห็นการแข่งขันปล่อยสินเชื่อในรูปแบบ digital lending มากขึ้น เห็นได้จากทุกแบงก์เร่งหาพันธมิตรธุรกิจกัน เพื่อเตรียมระบบหลังบ้านไว้ให้พร้อมมากที่สุด ดังนั้น การแข่งขันก็น่าจะสนุกขึ้น และในช่วง 2-3 ปีต่อจากนี้ และคิดว่าแพลตฟอร์มเอง ก็มองหาโอกาสเข้ามาทำเองอยู่เหมือนกัน

จ่อ e-KYC เปิดบัญชีข้ามแบงก์

สำหรับการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ (NDID) นั้น “ฐากร” บอกว่า ขณะนี้ทดสอบข้ามธนาคารเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยในเดือน พ.ย.นี้ น่าจะเริ่มให้บริการเปิดบัญชีธนาคารไปก่อน เป็นจุดเริ่มต้นในการมีระบบ e-KYC ของประเทศไทย ซึ่งจะมี 10 ธนาคารแรกที่เริ่มใช้ก่อน จากนั้นเมื่อระบบเสถียร ก็น่าจะเริ่มมีการให้กู้ digital lending ได้ช่วงต้นปี 2563

“ผมคิดว่า เริ่มแรกเราคงไม่ได้เห็นคนแห่ไปเปิดบัญชี แต่โครงสร้างพื้นฐานตัวนี้ จะทำให้เกิดรูปแบบการทำ KYC (know your customer) ที่นำไปใช้ได้ง่ายขึ้น จะทำให้ landscape ในการทำ KYC เปลี่ยนไป อาจจะไม่ใช่ธุรกิจเปิดบัญชีอย่างเดียว อย่างเช่น ต่อไปบริษัทต่อบริษัทอยากพิสูจน์ตัวตนผู้ค้าและลูกค้า ในอดีตอาจจะต้องขอเอกสารมาดู แต่ต่อไปนี้ ก็อาจใช้ข้อมูลที่ยืนยันตัวตนไว้กับแบงก์ ก็จะสบายใจขึ้นมา” นายฐากรกล่าว