ค่าเงินบาทอ่อนค่า หลังอัตราเงินเฟ้อไทยต่ำกว่าคาด

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่าภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 2 ธันวาคม 2562 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าววันนี้ (2/12) ที่ระดับ 30.21/22 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (29/11) ที่ระดับ 30.23/24 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อย ขณะที่นักลงทุนยังคงกังวลกับปัญหาในการทำข้อตกลงการค้าบางส่วนระหว่างจีนกับสหรัฐ หลังประธานาธิบดีสหรัฐ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ลงนามบังคับใช้กฎหมายเพื่อสนับสนุนการเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกง ขณะที่จีนเองนั้นก็ต้องการเวลาเพิ่มขึ้น เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ทางการเมือง

สำหรับปัจจัยในประเทศ กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อในเดือน พ.ย.ขยายตัวสู่ระดับ 0.21% จากระดับ 0.11% ในเดือน ต.ค. เมื่อเทียบเป็นรายปี แต่ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 0.34% ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (CORE CPI) ขยายตัวสู่ระดับ 0.47% จากระดับ 0.44% ในเดือน ต.ค. เป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ภาพรวมเงินเฟ้อทั่วไปถือว่าปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน เนื่องจากแรงกดดันจากราคาน้ำมันเริ่มลดลง ในขณะที่สินค้าและบริการในหมวดอื่น ๆ ยังเคลื่อนไหวสอดคล้องกับอุปทานและอุปสงค์ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 30.22-30.28 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 30.27/28 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันนี้ (2/12) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.1019/21 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (29/11) ที่ระดับ 1.1003/05 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรปรับตัวแข็งค่าขึ้น หลังจากมีรายงานระบุว่า อัตราเงินเฟ้อในยูโรโซนปรับขึ้นสูงเกินคาดในเดือน พ.ย. โดยได้รับแรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของราคาอาหารและบริการ โดยอัตราเงินเฟ้อยูโรโซนปรับขึ้นสู่ระดับ 1% ในเดือน พ.ย.จากระดับ 0.7% ในเดือน ต.ค. เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 0.9% ขณะเดียวกันในช่วงบ่าย มีการเปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) สำหรับภาคการผลิตขั้นปลายของไอเอชเอส มาร์กิต เดือน พ.ย.เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 46.9 จากระดับ 45.9 ในเดือน ต.ค. และสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1012-.1027 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1012/14 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนในวันนี้ (2/12) เปิดตลาดที่ระดับ 109.65/67 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (29/11) ที่ระดับ 109.55/57 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนยังคงเคลื่อนไหวในกรอบแคบเนื่องจากขาดปัจจัยชี้นำ ทั้งนี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 109.49-109.72 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 109.67/69 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายเดือน พ.ย.จากมาร์กิต (2/21), ดัชนีภาคการผลิตเดือน พ.ย. จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) (2/12), การใช้จ่ายด้านการก่อสร้างเดือน ต.ค. (2/12), ดัชนีภาวะธุรกิจนิวยอร์กเดือน พ.ย. จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) (3/12), ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือน พ.ย. จาก ADP (4/12), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการเดือน พ.ย. จากมาร์กิต (4/12), ดัชนีภาคบริการเดือน พ.ย. จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) (4/12), สต๊อกน้ำมันรายสัปดาห์จากสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) (4/12), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (5/12), ดุลการค้าเดือน ต.ค. (5/12), ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือน ต.ค (5/12), ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน พ.ย. (6/12), ดัชนีวามเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ธ.ค. จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน (6/12), สต๊อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือน ต.ค. (6/12),

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -2.4/-2.25 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ par/+0.55 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ