ปี’63 เศรษฐกิจโลกยังผันผวน รัฐต้องเป็นผู้นำลงทุนเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล

ดร.ปรเมธี วิมลศิริ

ดร.ปรเมธี วิมลศิริ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้บรรยายในหัวข้อ “รับมือเศรษฐกิจและสังคมยุคใหม่” ในงานสัมมนา “เชียงใหม่ 2020 # เปลี่ยนก่อนถูกเปลี่ยน” ว่า ปีนี้เศรษฐกิจไทยค่อนข้างชะลอตัวและไม่เป็นไปตามคาดการณ์ จากที่มองช่วงต้นปีเศรษฐกิจไทยจะเติบโต 4% แต่ตอนนี้หลายฝ่ายประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้จะเติบโตแค่ 2.5-2.6% ของ GDP เท่านั้น โดยสาเหตุหลักมาจากสงครามการค้าสหรัฐอเมริกา-จีน ทำให้ผู้ผลิตรายเล็กในซัพพลายเชนเดือดร้อน ส่งผลให้การส่งออกติดลบ เศรษฐกิจภาคต่าง ๆ ชะลอตัว แต่ตอนนี้เริ่มมีมาตรการรองรับหรือกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา ดังนั้นในปี 2563 การค้าในเศรษฐกิจโลกส่วนใหญ่คาดว่าจะปรับตัวได้ดีขึ้นกว่าปีนี้เล็กน้อย แม้อาจจะยังมีความไม่แน่นอนอยู่จากปัจจัยต่าง ๆ

“จึงอยากเสนอให้รัฐบาลดำเนินการใน 3 เรื่องนี้ 1) ภาครัฐยังมีความจำเป็นต้องเป็นผู้นำการลงทุนอยู่ เป็นการลงทุนที่จะสร้างโอกาสและสร้างแรงดึงดูดให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชน 2)ภาครัฐต้องเดินหน้าผลักดันเรื่องการเปลี่ยนแปลงโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วม (digital transformation) พร้อมกับมีการรองรับการปรับตัวของตลาดแรงงาน หรือ good job policy และ 3) ทุกคนและหน่วยงานภาครัฐต้องรับผิดชอบสังคมร่วมกัน”

อานิสงส์เบร็กซิต

หันมาดูทางด้านสหภาพยุโรปบ้าง ที่ตอนนี้กำลังมีการเจรจาเรื่องข้อตกลงการถอนตัวออกจากอียูของอังกฤษ (เบร็กซิต) หลายอย่างอยู่ท่ามกลางความผันผวน ความไม่แน่นอน มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย ตรงนี้จะเป็นข้อจำกัดของปีหน้าอยู่

อย่างไรก็ตาม สงครามการค้าในบางแง่มีผลบวกกับประเทศไทย เพราะจะมีการนำเข้าสินค้าไทยเข้าไปทดแทน รวมถึงจีนเข้ามาลงทุนในไทยเพื่อใช้ไทยเป็นฐานผลิตส่งสินค้าออกไปสหรัฐ อย่างไรก็ตาม ผลวิเคราะห์ของ Comtrade and Unctad Trains Data ประเมินว่า ผลกระทบจากเบร็กซิตมีทั้งผลบวกและผลลบกับหลายประเทศ และประเทศหนึ่งที่ได้รับผลบวกก็คือ ประเทศไทย เนื่องจากสินค้าของประเทศอื่น ๆ ที่เคยได้สิทธิประโยชน์จากอียูจะหมดไป ฉะนั้นแต้มต่อของไทยที่เคยเสียเปรียบจะดีขึ้นมาบ้าง

Advertisment

ไทยเกินดุลปี’63 บาทแข็งต่อ

สำหรับค่าเงินบาท ทุกคนบ่นว่า “ค่าเงินบาทแข็ง” เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ และประเทศคู่ค้าอื่น ๆ โดยมีการแข็งค่าขึ้นมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2560 สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด หรือเงินดอลลาร์ที่ได้มาจากด้านการค้าและการท่องเที่ยว เพราะฉะนั้น ดุลการค้า-ดุลภาคบริการ ซึ่งเป็นดุลบัญชีเดินสะพัด ปกติไทยเกินดุลบ้าง-ขาดดุลบ้าง มีเงินไหลเข้า-ไหลออก แต่ก็ไม่มากประมาณ 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ตั้งแต่ปี 2560-2562 เพิ่มขึ้นมา 30,000-40,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

ดังนั้นในส่วนของค่าเงินบาท ปีหน้ามีแนวโน้มที่ยังแข็งค่าอยู่แต่ว่าอาจจะไม่แรงเท่าปีนี้ ทาง ธปท.เองได้พยายามผ่อนปรนกฎระเบียบต่าง ๆ ให้มีเงินไหลออกมากขึ้น แต่เป็นไปได้ยากคงไม่สามารถทำให้ค่าเงินบาทอ่อนได้มาก

รัฐต้องเป็นผู้นำลงทุน

Advertisment

ในด้านการลงทุนของประเทศไทยเทียบกับต่างประเทศในระยะหลัง “มีแนวโน้มต่ำลง” อีกทั้งระดับการลงทุนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของไทยก็ยังต่ำกว่าประเทศในกลุ่มรายได้เดียวกัน และอยู่ในระดับเดียวกับประเทศที่มีรายได้สูง ในขณะที่ไทยยังมีรายได้ต่อหัวที่ต่ำ เพราะฉะนั้น ทำให้เกิดช่องว่าง มีการออมมาก ลงทุนไม่มาก การนำเข้าไม่มาก แต่มีเงินไหลเข้ามาก ทำให้ค่าเงินบาทแข็ง เพราะฉะนั้น ถ้าสถานการณ์ยังเป็นอยู่อย่างนี้ก็มีแนวโน้มจะทำให้ค่าเงินบาทแข็งในระยะต่อไปอีก

“ในเมื่อเอกชนยังลงทุนไม่มาก ภาครัฐจะต้องลงทุนนำ ซึ่งภาครัฐยังลงทุนได้เพราะหนี้สาธารณะอยู่ที่ 41% ของ GDP ซึ่งวินัยการคลังไม่ให้เกิน 60% ถ้ารวมโครงการต่าง ๆ ของรัฐที่อนุมัติไว้ก็คาดว่าใน 5 ปี หนี้สาธารณะอาจจะยังแค่ 48% นอกจากนี้ในหนี้ของรัฐบาลที่เป็นหนี้เก่าสมัยต้มยำกุ้ง ที่ ธปท.รับมาบริหารประมาณ 5% ของจีดีพีและหนี้รัฐวิสาหกิจที่เขารับภาระได้เอง (เช่น บริษัท ปตท.) 3.5% ของจีดีพี ก็เท่ากับมันยังมีงบประมาณที่ยังลงทุนได้อีก”

ชูลงทุนดิจิทัล-พัฒนาเมือง

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเคยมีแพ็กเกจการลงทุนใหญ่ เช่น จากระบบขนส่งทางถนนเป็นระบบขนส่งทางราง เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และแพ็กเกจเหล่านี้อนุมัติไปเกือบหมดแล้ว ไทยกำลังเข้าสู่กระบวนการก่อสร้าง ซึ่งก็จะมีการลงทุนมากในอีก 3-4 ปีข้างหน้า จากนั้นจะแผ่วลงไป “ผมจึงคิดว่ามันเป็นโอกาสที่รัฐบาลจะเป็นผู้นำการลงทุนที่เปิดโอกาสให้กับเอกชน และควรมีแพ็กเกจการลงทุนใหม่ ๆ เข้ามาในช่วง 4-5 ปีต่อไปข้างหน้านี้

คำว่า “การลงทุนแพ็กเกจใหม่” ควรเป็นลงทุนด้านดิจิทัล หรือ 5G-6G มีคำถามว่า รัฐบาลและเอกชนจะทำอะไรในอีก 5-6 ปีข้างหน้า ควรเป็นการลงทุนที่พัฒนาเมืองและพื้นที่นอก EEC เมืองต่าง ๆ เช่น เชียงใหม่-ขอนแก่น เมืองที่มีการพัฒนาดี ๆ จะสร้างรายได้ สร้างโอกาสการลงทุน พัฒนาเศรษฐกิจไปสู่ภาคธุรกิจได้

Reskill แรงงานสู่ยุคดิจิทัล

ดร.ปรเมธีกล่าวต่อไปถึงเรื่องดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น ซึ่งเห็นการเปลี่ยนแปลงในประเทศไทย แต่ในภาพรวมการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness Rankings 2019) จากทั่วโลก รวมกว่า 63 ประเทศ ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 40 ในเรื่องขององค์ประกอบความรู้ ระบบวิจัย การศึกษาในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานของเทคโนโลยี ขณะที่ด้านความพร้อมของสังคมในการปรับตัวให้เข้ากับโลกเศรษฐกิจดิจิทัล ไทยอยู่ในอันดับ 40-50 ภาคการเงิน banking & financial services ไทยมีความพร้อมอยู่ลำดับที่ 7 โดยมีการใช้โมบายแบงกิ้ง อีคอมเมิร์ซ พร้อมเพย์ที่มีการใช้กันอย่างรวดเร็ว

ขณะที่ ธปท.จะทำเรื่องระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (national digital ID) ทางออนไลน์ได้ อันนี้จะเข้าไปในระบบภาคการเงินและขยายไปภาคอื่น ๆ ผมคิดว่าจะมีการขับเคลื่อนต่อในปีหน้า โดยเฉพาะกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมต้องไปดูกฎระเบียบต่าง ๆ ที่ทำให้ไทยยังก้าวไปสู่ยุค 4.0 ไม่ได้ ต้องมีการปรับปรุง “เรื่องของดิจิทัลดิสรัปชั่น ผมยังเชื่อว่าในภาพรวม หรือในระยะหนึ่งต้องเป็นบวก จะเกิดการจ้างงาน เกิดงานใหม่ ๆ และมีผลตอบแทนที่ดีกว่างานเก่า ๆ แต่ในการเปลี่ยนแปลงก็ไปกระทบในหลายธุรกิจ กระทบคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งรัฐต้องมีแพ็กเกจเข้าไปดูแลหรือนโยบายในเรื่อง good job policy ให้คนมั่นใจว่า ตัวเองจะสามารถผ่านช่วงการเปลี่ยนแปลงไปสู่การทำงานอื่น”

คลิกอ่านเพิ่มเติม…เศรษฐกิจ 3 ยักษ์เจอทางตัน กระสุนด้าน…เสี่ยงถดถอย