ค่าเงินบาททรงตัว นักลงทุนเฝ้าติดตามความขัดแย้งในตอ.กลาง

แฟ้มภาพ

ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวทรงตัวในกรอบ นักลงทุนเฝ้าติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 7 มกราคม 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (7/1) ที่ระดับ 30.15/16 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดในวันจันทร์ (6/1) ที่ระดับ 30.15/16 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงิน เปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายของสหรัฐ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 528 ในเดือน ธ.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 5 เดือน จากระดับ 51.6 ในเดือน พ.ย. โดยดัชนี PMI ได้รับแรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของคำสั่งซื้อใหม่ ขณะที่การจ้างงานแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ก.ค. และความเชื่อมั่นในภาคธุรกิจปรับตัวขึ้นเช่นกัน

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้แจงในการสัมมนา “Analyst Meeting” วันนี้ว่า ระบบการเงินไทยโดยรวมมีเสถียรภาพ แต่ยังคงสะสมความเปราะบางภายใต้เศรษฐกิจที่ชะลอตัวและอัตราดอกเบี้ยต่ำต่อเนื่อง คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เห็นว่าการดูแลความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินควรใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายควบคู่กับการใช้มาตรการกำกับดูแลสถาบันการเงิน (microprudential) และมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน (macroprudential) ร่วมกันอย่างเหมาะสม

ทั้งนี้ กนง.กังวลต่อสถานการณ์เงินบาทที่ยังแข็งค่าอยู่เมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าคู่แข่ง แม้จะแข็งค่าชะลอลงและเคลื่อนไหวทั้งสองทิศทางมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา จึงได้ติดตามสถานการณ์ค่าเงินบาทและเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด รวมถึงให้ติดตามประสิทธิผลของการผ่อนคลายกฎเกณฑ์เพื่อเอื้อให้เงินทุนไหลออกและพิจารณาความจำเป็นในการดำเนินมาตรการเพิ่มเติม นอกจากนี้ เห็นว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประมาณการไว้เดิม อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจโลกเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น ส่งผลให้การส่งออกและเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มทยอยปรับดีขึ้นในปี 63 ทั้งนี้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมาจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจและเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับสู่กรอบเป้าหมาย กนง.จะติดตามพัฒนาการของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และเสถียรภาพระบบการเงิน รวมทั้งปัจจัยเสี่ยง
ต่าง ๆ เพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป โดยพร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายอย่างเหมาะสม ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 30.15-30.16 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 30.15/17 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันนี้ (7/1) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.1193/95 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (6/1) ที่ระดับ 1.1194/96 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อย่างไรก็ตาม ภาพรวมค่าเงินยูโรเริ่มดีขึ้น ภายหลังไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงิน เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการของเยอรมนีปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 52.9 ในเดือน ธ.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 4 เดือน จากระดับ 51.7 ในเดือน พ.ย. ดัชนี PMI ได้แรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของการจ้างงาน และคำสั่งซื้อใหม่ ขณะที่ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจพุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบ 8 เดือน ดัชนี PMI ยังคงอยู่เหนือระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคบริการของเยอรมนียังคงมีการขยายตัว ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1174-1.1193 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1184/85 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนในวันนี้ (7/1) เปิดตลาดที่ระดับ 108.43/45 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (6/1) ที่ระดับ 107.99/10 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ หลังที่ประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ จะพิจารณาลงมติในสัปดาห์นี้ ต่อญัตติเรื่องการจำกัดอำนาจในการทำสงคราม เพื่อกำจัดการใช้ปฏิบัติการทางทหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ ที่เกี่ยวกับอิหร่าน  ส่งผลให้นักลงทุนเริ่มกลับมาถือครองสินทรัพย์เสี่ยง และลดการถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างสกุลเงินเยนลง โดยค่าเงินเยน
เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 107.81-108.50 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 108.44/46 เยน/
ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีภาคบริการของญี่ปุ่น เดือนธันวาคม (7/1), ดัชนีเงินเฟ้อของยูโรโซน เดือนธันวาคม (7/1), ยอดค้าปลีกของยูโรโซนเดือนพฤศจิกายน (7/1), ดุลการค้าของสหรัฐ เดือนพฤศจิกายน (7/1), ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐ โดยผลสำรวจของสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เดือนธันวาคม (7/1), คำสั่งซื้อภาคโรงงานของเยอรมนีเดือนพฤศจิกายน (8/1), ตัวเลขการเปลี่ยนแปลงในการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมจากเอดีพีของสหรัฐ (8/1), ดัชนีเงิเฟ้อของจีนเดือนธันวาคม (9/1), รายงานความเชื่อมั่นผู้บริโภคของไทย เดือนธันวาคม (9/1), ดุลการค้าของเยอรมนี เดือนพฤศจิกายน (9/1), อัตราการว่างงานของยูโรโซน เดือนพฤศจิกายน (9/1), จำนวนผู้ขอสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ (9/1), อัตราการว่างงานของสหรัฐ เดือนธันวาคม (10/1), สถิติการจ้างงานนอกภาคการเกษตรของสหรัฐ จากกรมสถิติแรงงาน (10/1)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -2.25/-2.10 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -3.80/-2.80 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ