บล.ไทยพาณิชย์ปรับเป้าดัชนีปี’63 ลงเหลือ 1,750 จุด

บล.ไทยพาณิชย์ปรับเป้าดัชนีหุ้นไทยปี’63 เหลือ 1,750 จุด จากเดิมตั้งเป้าทดสอบ 1,800 จุด เหตุผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนปี’63 เสี่ยงได้รับผลกระทบจากภัยแล้งที่กดดันให้กำลังซื้อในประเทศลดลง หวังธุรกิจพลังงาน-ปิโตรเคมีช่วยประคองตลาดปีนี้ หลังได้รับอานิสงส์จากราคาน้ำมันดิบที่ปรับเพิ่มขึ้นจากกสถานการณ์ความขัดแย้งสหรัฐ-อิหร่าน

นายสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) เปิดเผยว่า ฝ่ายวิจัยปรับลดคาดการณ์ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ SET (SET Index) ปี 2563 ลงเหลือ 1,750 จุด จากเดิมคาดว่ามีโอกาสทดสอบ 1,800 จุด รวมถึงปรับลดคาดการณ์กำไรต่อหุ้น (EPS) ลงเช่นกัน โดยคาดว่า EPS ปี 2563 จะอยู่ที่ 101.00 บาท/หุ้น จากเดิมคาดว่า EPS ปีนี้จะอยู่ที่ 103.00 บาท/หุ้น

โดยผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์ได้รับแรงกดดันจากปัจจัยลบเรื่องภัยแล้งซึ่งส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อในประเทศมากที่สุด อย่างไรก็ตาม คาดว่าตลาดหุ้นมีโอกาสที่จะฟื้นตัวได้จากหุ้นในกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมีที่ได้รับนิสงส์จากราคาน้ำมันดิบโลกที่ปรับขึ้นจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ

ขณะที่สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและอิหร่านกระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุนและเพิ่มความผันผวนต่อดัชนีหุ้นในปีนี้ โดยฝ่ายวิจัยคาดว่าจากเหตุความขัดแย้งมีโอกาสที่ดัชนีจะมีความเสี่ยงขาลง (downside risk) โดยให้แนวรับสำคัญไว้ที่ 1,550 จุด นอกจากนี้ สถานการณ์ความขัดแย้งยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก การค้า และราคาน้ำมันดิบ

โดยราคาน้ำมันดิบเป็นตัวที่สะท้อนปัจจัยความเสี่ยงเร็วที่สุด ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบปรับขึ้นสูงกว่าปัจจัยพื้นฐาน (Premium) อย่างไรก็ตาม คาดว่าในระยะข้างหน้าราคาน้ำมันดิบจะเคลื่อนไหวในกรอบ 65-70 เหรียญ/บาร์เรล (ราคาน้ำมันดิบเบรนท์) เท่านั้น และเป็นไปได้ยากที่ราคาน้ำมันดิบจะปรับขึ้นสูงเหมือนในอดีตเนื่องจากซัพพลายในตลาดมีมากขึ้นจากน้ำมันดิบสหรัฐ

“สถานการณ์ความขัดแย้งดังกล่าวเป็นความขัดแย้งระหว่าง 2 ประเทศนี้เท่านั้น และยากที่จะขยายไปเป็นสงครามเต็มรูปแบบ โดยหลังจากที่ประธานาธิบดีทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ แถลงข่าวถึงความขัดแย้งเมื่อช่วงเช้าวันที่ 8 ม.ค.63 (เวลากลางดึกคืนวันเดียวกันตามเวลาในไทย) ส่งผลให้สถานการณ์ผ่อนคลายลงชั่วคราว แต่เชื่อว่าปัจจัยกดดันนี้จะไม่ได้หายไปไหนจนกว่าจะเกิดการเจรจาตกลงกันระหว่าง 2 ประเทศนี้” นายสุกิจ กล่าว

นายสุกิจ กล่าวว่า หากไม่รวมปัจจัยความขัดแย้ง ปัจจุบันบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลกได้รับปัจจัยกระตุ้นจากความตึงเครียดทางการค้าที่ผ่อนคลายลง นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย เสถียรภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการกลับมาเก็บสะสมสินค้าคงคลัง จุดลงตัวทางเศรษฐกิจในปัจจุบันไม่น่าจะกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ (new normal) ในขณะที่ความไม่แน่นอนจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีตามยุคสมัย สังคมผู้สูงอายุ และหนี้ครัวเรือน ยังไม่หมดไป เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในวัฏจักรอัตราดอกเบี้ยต่ำและการเติบโตต่ำ

โดยช่วงที่ผ่านมาภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกส่งผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในนโยบายการเงินสำหรับเศรษฐกิจประเทศหลักๆ ธนาคารกลางทั่วโลกลดอัตราดอกเบี้ยลงและเพิ่มปริมาณเงินในระบบ ในขณะที่ธนาคารกลางประเทศหลักๆ กลับมาเริ่มโครงการซื้อพันธบัตรอีกครั้ง ในสหรัฐการลดอัตราดอกเบี้ยและการลดลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวส่งผลทำให้อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยปรับตัวลดลง ซึ่งช่วยให้ต้นทุนทางการเงินในการซื้อที่อยู่อาศัยปรับลดลง และกระตุ้นกิจกรรมในภาคอสังหาริมทรัพย์ แม้ว่าจะมีความรู้สึกเชิงบวกเกี่ยวกับการลงทุนทั่วโลกในระยะสั้น แต่ยังคงมุมมองเชิงลบต่อภาพรวมเศรษฐกิจทั่วโลกในปี 2563

ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2563 คาดว่าจะขยายตัวได้ 2.8% แต่อาจจะมีโอกาสปรับขึ้น (upside) จากระดับสินค้าคงคลังที่ลดลง (มีแนวโน้มว่าเอกชนจะเริ่มกลับมาผลิตมากขึ้น) โดยเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยที่กำลังอยู่ในแนวโน้มเติบโตต่ำ หลังจากเติบโตสูงถึง 5.0% ในไตรมาส 1/61 อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อมาก็ชะลอตัวลง โดยตัวเลขอัตราการขยายตัวของจีดีพีล่าสุดในไตรมาส 3/62 ที่ 2.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) และ 0.1% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา (QoQ)

อย่างไรก็ตาม มีความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยง 3 อย่างในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ซึ่งจะสร้างแรงกดดันต่อตลาดหุ้นไทย ความเสี่ยงอย่างแรก คือ การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายน 2563 ซึ่งอาจจะส่งผลทำให้เกิดความไม่แน่นอนทางการเมืองและนโยบายสำหรับภูมิภาคและโลก ความกังวลเกี่ยวกับการเลือกตั้งสหรัฐฯ อาจจะเริ่มปรากฏให้เห็นหลังการเลือกตั้งขั้นต้นในเดือนมีนาคม หรือประชุมใหญ่พรรคเดโมแครตในเดือนกรกฎาคม 2563

ความเสี่ยงอย่างที่สอง คือ ตลาดอาจจะรู้สึกกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ย การผ่อนคลายนโยบายการเงินจึงอาจจะเปลี่ยนเป็นมาตรการกระตุ้นทางการคลัง ความเสี่ยงอย่างที่สาม คือ ตลาดสินเชื่ออาจจะเปลี่ยนมามีสภาวะที่เอื้ออำนวยลดน้อยลงในปี 2563 สินเชื่อขยายตัวอย่างรวดเร็วในหลายประเทศ (โดยเฉพาะในเอเชีย) และมีความกังวลเกี่ยวกับอัตราการผิดนัดชำระหนี้ที่สูงขึ้น โดยเฉพาะในจีน มองว่าความเสี่ยงนี้เป็นความเสี่ยงสำคัญอย่างหนึ่งในตลาดสินเชื่อของเอเชีย

แม้ข้อมูลเศรษฐกิจภายในประเทศอ่อนแอลงและนักวิเคราะห์ในตลาดปรับประมาณการกำไรของบริษัทจดทะเบียนลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่สถานการณ์การลงทุนปรับตัวดีขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจากท่าทีผ่อนคลาย (dovish) นโยบายการเงินของธนาคารกลางหลักๆ และความคาดหวังว่าโมเมนตัมเศรษฐกิจจะปรับตัวดีขึ้น ในตอนนี้หุ้นปลอดภัยกำลังเป็นที่ต้องการ โดยซื้อขายด้วยมูลค่า (valuation) ที่สูงขึ้น ในขณะที่หุ้นวัฏจักรซื้อขายด้วย valuation ระดับต่ำสุดในรอบหลายปี

“ภาพรวมเศรษฐกิจมหภาคที่ปรับตัวดีขึ้น และความคืบหน้าที่ดีขึ้นในการรเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน จะช่วยให้ตลาดคลายความกังวลเกี่ยวกับหุ้นวัฏจักรซึ่งปัจจุบันการถือครอง (position) ยังคงเบาบาง โดยระยะข้างหน้ากลุ่มหุ้นวัฏจักร เช่น ปิโตรเคมี โรงกลั่น และอิเล็กทรอนิกส์ น่าจะปรับตัวขึ้นโดดเด่น (outperform) รวมถึงเชื่อว่าหุ้นกลุ่มธนาคารจะได้รับความสนใจมากขึ้น เมื่อพิจารณาจาก valuation ที่น่าสนใจ การบริหารจัดการเงินทุนได้อย่างเหมาะสม และการปรับปรุงค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญในระดับสูง เราคาดว่าจะมีการสับเปลี่ยนกลุ่มลงทุนมายังหุ้นวัฏจักรอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้” นายสุกิจ กล่าว

โดย บล.ไทยพาณิชย์ แนะนำให้นักลงทุนคงสถานะการถือครองหุ้นปลอดภัยที่มีคุณภาพสูงสำหรับการลงทุนระยะยาว เนื่องจากเราอยู่ในช่วงปลายวัฏจักรเศรษฐกิจ (late cycle) ในขณะที่มองหาหุ้นวัฏจักรที่มีค่า beta สูงสำหรับพอร์ตซื้อขายระยะสั้น ด้วยเหตุนี้กลยุทธ์การลงทุนในไตรมาส 1/63 จึงมุ่งเน้นไปที่ 1) หุ้น global play ที่มีประเด็นกำไรฟื้นตัวควบคู่ไปกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเป็นปัจจัยสนับสนุน 2) valuation น่าสนใจ และความเป็นไปได้สูงที่จะมีการ re-rate หลังจากถูกลงโทษมากเกินไปในปี 2562 และ 3) เซอร์ไพรส์เชิงบวกและการปรับประมาณการกำไรเพิ่มขึ้น พร้อมกับประเด็นการเติบโตเฉพาะตัวในปี 2563

สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในไตรมาส 1/63 แนะนำให้ลงทุนเพิ่มในหุ้นวัฏจักรที่กำไรมีแนวโน้มเติบโตได้ดี และ valuation น่าสนใจ โดยหุ้นเด่น (top picks) แนะนำ ได้แก่ กลุ่มปิโตรเคมี บมจ.อินโดรามา เวนเจอร์ส (IVL) กลุ่มโรงกลั่น บมจ.ไทยออยล์ (TOP) กลุ่มธนาคารบมจ.ทุนธนชาต (TCAP) กับธนาคารกรุงเทพ (BBL) และกลุ่มการแพทย์ บมจ.บางกอก เชน ฮอสปิทอล (BCH)