ค่าเงินบาททรงตัว ตลาดเฝ้าจับตาดูการลงนามข้อตกลงการค้าจีน-สหรัฐ

แฟ้มภาพ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 15 มกราคม 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (15/1) ที่ระดับ 30.26/27 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (14/1) ที่ระดับ 30.27/28 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวเนื่องจากตลาดยังจับตาดูการลงนามในข้อตกลงทางการค้าเฟสแรกระหว่างรัฐกับจีนในคืนนี้ โดยเมื่อคืนที่ผ่านมา(14/1) นายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีคลังสหรัฐเปิดเผยว่า ณ ขณะนี้ยังไม่มีข้อตกลง ไม่ว่าจะเป็นลายลักษณ์อักษรหรือด้วยวาจาเกี่ยวกับการพิจารณาปรับลดภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนมากกว่าที่ได้เคยประกาศไปก่อนหน้านี้ ที่ได้ยกเลิกแผนการขึ้นภาษีในสินค้าหมวดอุปโภคบริโภค และลดภาษีนำเข้ากับสินค้ารวม 120 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีแนวโน้มว่าจะไม่มีการปรับลดภาษีนำเข้าให้แก่จีนเพิ่มเติม ภายใน 10 เดือนหลังการลงนามในข้อตกลงการค้าเฟสแรกในวันนี้ ขณะที่การเจรจาในระยะต่อไปจะขึ้นอยู่กับการปฏิบัติตามข้อตกลงของจีนเป็นหลัก

สำหรับข้อมูลปัจจัยภายในประเทศ ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกมาชี้แจงว่าปัจจัยหลักที่ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าตั้งแต่ปี 2562 เกิดจากดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุล ซึ่งเกิดจากการที่ไทยมีรายได้จากการส่งออกสูงกว่ารายจ่ายจากการนำเข้า ทั้งนี้ ธปท.ยังมีความกังวลต่อการแข็งค่าของเงินบาท และจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยพร้อมใช้มาตรการเพิ่มเติมหากจำเป็น ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 30.25-30.28 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 30.25/27 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันนี้ (15/1) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.1126/28 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (14/1) ที่ระดับ 1.1132/33 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรยังคงปรับตัวในกรอบแคบ เนื่องจากยังคงรอความคืบหน้าในการลงนามข้อตกลงการค้าเฟสแรกระหว่างจีนและสหรัฐคืนนี้ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1120-1.1136 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1126/27 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนในวันนี้ (15/1) เปิดตลาดที่ระดับ 109.91/94 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (14/1) ที่ระดับ 110.06/07 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนยังคงปรับตัวแข็งค่าขึ้น หลังจากทางสหรัฐออกมาแถลงว่าจะยังคงไม่มีการปรับลดภาษีนำเข้าจากจีนเพิ่มเติมหลังจากที่ลงนามข้อตกลงการค้ากันแล้วอย่างน้อย 10 เดือน นักลงทุนจึงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ระหว่างจีนและสหรัฐมากขึ้น ทำให้ค่าเงินเยนซึ่งเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น โดยค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 109.82-110.00 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 109.88/89 เยน/
ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของสหรัฐ เดือนธันวาคม (14/1), ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของสหรัฐ เดือนธันวาคม (14/1), ดัชนีราคาผู้บริโภคของสหรัฐ เดือนธันวาคม (14/1), ดุลการค้าของจีนเดือนธันวาคม (14/), ดัชนีราคาผู้บริโภคของอังกฤษ เดือนธันวาคม (15/1), ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมของยูโรโซนเดือนพฤศจิกายน (15/1), ดุลการค้าของยูโรโซน เดือนพฤศจิกายน (15/1), ดัชนีราคาผู้ผลิตของสหรัฐ เดือนธันวาคม (15/1), รายงานดัชนีการผลิตรัฐนิวยอร์กเดือนมกราคม (15/1), ดัชนีราคาผู้บริโภคขอเยอรมนี เดือนธันวาคม (16/1), ยอดค้าปลีกพื้นฐานของสหรัฐ เดือนธันวาคม (16/1), จำนวนผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานของสหรัฐ (16/1), รายงานดัชนีการผลิตรัฐฟิลาเดเฟีย เดือนมกราคม (16/1), ใบอนุญาตก่อสร้างของสหรัฐ เดือนธันวาคม (17/1), ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของจีน ไตรมาส 4 (17/1), ดัชนีราคาผู้บริโภคของยูโรโซน เดือนธันวาคม (17/1), ตำแหน่งงานว่างเปิดใหม่ของสหรัฐ จาก JOLTs เดือนพฤศจิกายน (17/1)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -2.2/-2.0 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -1.4/-0.4 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ