“ทิสโก้” จัดแคมเปญ “Zero Cancer” มอบรายได้ขายประกัน-กองทุนสมทบทุนผู้ป่วยมะเร็ง

ธนาคารทิสโก้จัดแคมเปญ “Zero Cancer” บริจาครายได้จากการขายประกันสุขภาพ-รายได้ค่าธรรมเนียมซื้อขายกองทุนรวมแก่กองทุนโรคมะเร็งในเด็กในพระอุปถัมภ์ฯ โรงพยาบาลรามาธิบดี เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็ง

นายพิชา รัตนธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายธุรกิจธนบดี ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารทิสโก้จัดแคมเปญ “Zero Cancer” โดยจะบริจาครายได้ส่วนหนึ่งจากการขายผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพให้แก่กองทุนโรคมะเร็งในเด็กในพระอุปถัมภ์ฯ โรงพยาบาลรามาธิบดี ผู้นำด้านนวัตกรรมการรักษามะเร็งในเด็ก โดยกองทุนฯ นี้จะช่วยให้เด็กที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งสามารถเข้าถึงนวัตกรรมการรักษา และมีโอกาสหายขาดได้

“ผลิตภัณฑ์กองทุนรวมที่ลูกค้าซื้อผ่านธนาคารทิสโก้ตลอดปี 2563 รายได้ค่าธรรมเนียมส่วนหนึ่งจะมอบให้กับกองทุนวิจัยภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็งของจุฬาฯ ด้วยเช่นเดียวกับปี 2562 ที่ผ่านมา โดยเมื่อปีกลายมียอดบริจาคสมทบทุนจากทั้งผลิตภัณฑ์กองทุนรวมและประกันสุขภาพรวม 3.5 ล้านบาท” นายพิชา กล่าว

ทั้งนี้ ทิสโก้มีความตั้งใจที่จะเป็นที่ปรึกษาด้านประกันสุขภาพที่ดี (Health Protection Advisory) ผ่านการให้ความรู้ และสร้างความเข้าใจแก่สังคมให้เห็นถึงความจำเป็นในการวางแผนรับมือภาระทางการเงินที่อาจเกิดขึ้นจากการเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรงต่างๆ ที่ต้องใช้ระยะเวลาในการรักษา ซึ่งจะช่วยให้มีกำลังที่จะรับการรักษาได้อย่างเต็มที่ รวมทั้งการพัฒนาคัดเลือกผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพที่คุ้มค่าควบคู่ไปกับการสนับสนุนการค้นคว้าวิจัยด้านนวัตกรรมการรักษา

นายพิชา กล่าวอีกว่า ในปัจจุบันโรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของคนไทยและของโลก จากรายงานสถิติของสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า โรคมะเร็งเป็นภัยร้ายที่ครองอันดับ 1 ของสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทยมายาวนานถึง 20 ปีซ้อน หรือเพิ่มขึ้น 123.5% จากปี 2542 ที่อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 36,091 คน เพิ่มเป็น 80,665 คน ในปี 2561 หรือทุกๆ ประมาณ 6 นาที จะมีคนไทยเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง 1 คน ขณะที่ข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานสถานการณ์ผู้ป่วยโรคมะเร็งรายใหม่จากทั่วโลกในปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น 18.1 ล้านคน เสียชีวิตถึง 9.6 ล้านคน

จากสภาวะการณ์ดังกล่าว องค์การอนามัยโลกและสมาคมต่อต้านมะเร็งสากลจึงกำหนดให้วันที่ 4 ก.พ. ของทุกปีเป็นวันมะเร็งโลก (World Cancer Day) เพื่อให้ประเทศต่างๆ ตระหนักถึงความสำคัญของภัยคุกคามของโรคร้ายนี้ โดยการสร้างความรู้ความเข้าใจแก่คนในประเทศ เนื่องจากนับวันประชากรที่เจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็งมีแต่จะเพิ่มมากขึ้นในทุกเพศทุกวัย จากสภาพแวดล้อมและปัจจัยทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงซึ่งเร่งภาวะการก่อมะเร็งมากขึ้น

นอกจากนี้ สิ่งที่น่ากังวลตามมาคือภาระด้านการรักษาพยาบาลที่มีค่าใช้จ่ายสูงอย่างมาก หากพิจารณาข้อมูลการเบิกจ่ายค่าบริการโรคมะเร็งเฉพาะในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในปี 2561 มีผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษา 2.3 แสนคน คิดเป็นเงินชดเชยค่ารักษากว่า 9.6 พันล้านบาท หรือเฉลี่ยกว่า 4 หมื่นบาทต่อคน  ซึ่งหากเป็นโรงพยาบาลเอกชนค่ารักษาจะยิ่งสูงกว่าอีกหลายเท่า (ดูแผนภาพ)

“ในฐานะผู้ให้บริการด้านวางแผนการเงิน ทิสโก้จึงขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการรณรงค์สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความเสี่ยงจากโรคมะเร็ง ร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์และวิชาชีพอื่นๆ โดยเน้นการให้สังคมตระหนักในมิติของการเตรียมตัวรับมือหากโชคร้ายเกิดกับตัวเราหรือครอบครัว ด้วยการแนะนำให้วางแผนคุ้มครองความเสี่ยงเพื่อรองรับภาระค่าใช้จ่ายในการรักษา ซึ่งข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ยืนยันว่าหากมีการตรวจพบแต่เนิ่นๆ มะเร็งมีโอกาสรักษาให้หายได้ จึงเป็นที่มาของแคมเปญ ‘Zero Cancer’ เพื่อเป็นอีกแรงสนับสนุนร่วมกับภาคีหลักจากภาครัฐบาลและเอกชน” นายพิชา กล่าว

นายพิชา กล่าวว่า แม้ปัจจุบันยังไม่สามารถป้องกันหรือลดอัตราการเกิดโรคมะเร็งได้ อย่างไรก็ตาม ยังมีความหวังที่จะสามารถลดอัตราการเสียชีวิตให้น้อยลงหรือกลายเป็นศูนย์ได้ในอนาคตด้วยความก้าวหน้าทางการแพทย์  ทิสโก้จึงสนใจติดตามความคืบหน้าและให้การสนับสนุนงานวิจัยนวัตกรรมการรักษาโรคมะเร็งของสถาบันการแพทย์ระดับประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งศูนย์วิจัยภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็งคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และการวิจัยและพัฒนาด้านการรักษาโรคมะเร็งในเด็กซึ่งมีโอกาสหายขาดได้สูงกว่ามะเร็งในผู้ใหญ่ของโรงพยาบาลรามาธิบดี