แบนถุงพลาสติก SMEs ต้องปรับตัวอย่างไร

คอลัมน์ Smart SMEs
โดย วีรวัฒน์ ปัณฑวังกูร ธนาคารกสิกรไทย

ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา ห้างร้านส่วนใหญ่หยุดการให้ถุงพลาสติกหูหิ้วแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (single-use plastics) เราจึงได้เห็นไอเดียการนำของใช้อื่น ๆ มาใส่ของแทนถุงพลาสติกในโซเชียลมีเดียอย่างสนุกสนาน อย่างเช่น ตะกร้า ชะลอม ถุงปุ๋ย หรือกระทั่งรถเข็นปูน เป็นต้น สาเหตุที่เราต้องตื่นตัวในเรื่องนี้ก็เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาที่ทุกคนในโลกต้องร่วมมือกันแก้ไข ซึ่งประเทศไทยเป็นอันดับต้น ๆ ของโลกที่เป็นแหล่งกำเนิดขยะพลาสติก โดยเฉพาะพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง (single-use plastics) เช่น ถุงหูหิ้ว หลอด แก้วน้ำ และบรรจุภัณฑ์อาหาร ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาไทยมีปริมาณขยะพลาสติกราวปีละ 2 ล้านตัน เป็นขยะถุงพลาสติกเกือบ 80% มีปริมาณการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วทั้งประเทศอยู่ที่ประมาณ 45,000 ล้านใบ/ปี จึงนำไปสู่การประกาศงดใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกนั่นเอง

แต่ในอีกแง่มุมหนึ่งก็เป็นความท้าทายของ SMEs ที่อยู่ในห่วงโซ่อุตสาหกรรมพลาสติก คาดว่าจะทำให้ภาพรวมเติบโตลดลงจากปัจจุบันที่เติบโตเฉลี่ยปีละ 5-6% เป็นขยายตัวได้เพียง 1-2% ต่อปี จากความต้องการของอุตสาหกรรมพลาสติกต่อเนื่องอื่น ๆ ที่ยังต้องการใช้อยู่ เช่น อุตสาหกรรมไฟฟ้า อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมการก่อสร้าง และอุตสาหกรรมการแพทย์

ทั้งนี้ สำหรับผู้ประกอบการที่อาจได้รับผลกระทบจากการเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ได้แก่ 1.กลุ่มผู้ผลิตเม็ดพลาสติก เนื่องจากปริมาณความต้องการเม็ดพลาสติกลดลง ทำให้ผู้ประกอบการกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบโดยตรง จึงปรับตัวเพื่อความอยู่รอดด้วยการหันมาผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพ แต่ก็มีข้อจำกัดในการลงทุน เช่น เครื่องจักรที่ทันสมัย องค์ความรู้ในการพัฒนา หรือการจัดซื้อจัดหาวัตถุดิบใหม่ รวมถึงข้อจำกัดด้านตลาดที่ยังมีความนิยมน้อยจากประเด็นเรื่องของราคาเม็ดพลาสติกชีวภาพที่สูงกว่าเม็ดพลาสติกธรรมดากว่า 3-4 เท่า อีกแนวทางหนึ่งที่สามารถทำได้คือ การปรับการผลิตเป็นเม็ดพลาสติกประเภทที่สามารถหลอมนำกลับมาใช้ใหม่ (recyclable) ซึ่งกำลังจะได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐมากขึ้น นอกจากนี้ การปรับตัวโดยหันมาผลิตเม็ดพลาสติกในกลุ่มพลาสติกคอมโพสิตที่มีคุณสมบัติดีขึ้น ทำให้ผลิตภัณฑ์มีความคงทนและอายุการใช้งานนานขึ้น เพื่อป้อนอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่มีความต้องการสูงอย่างอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ (ประเภทใช้ซ้ำ) เช่น ถุงหรือกล่องบรรจุภัณฑ์อาหารชนิดหนา

2.กลุ่มผู้ขึ้นรูปผลิตภัณฑ์ เช่น ถุงพลาสติกหูหิ้ว หลอดดูด และแก้วน้ำ ซึ่งผู้ประกอบการกลุ่มนี้ต้องเผชิญกับปัญหาวัตถุดิบที่ค้างอยู่ในสต๊อกอย่างเม็ดพลาสติก เม็ดสี หมึกพิมพ์ รวมไปถึงภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นหากต้องการปรับมาใช้เม็ดพลาสติกชีวภาพ หรือเม็ดพลาสติกรีไซเคิล ซึ่งหากได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐในการเพิ่มองค์ความรู้และช่วยเหลือด้านเงินทุนก็น่าจะทำให้ผู้ประกอบการปรับตัวได้ นอกจากนี้การพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์จากวัสดุธรรมชาติซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของตลาด เช่น ถุงผ้า หลอดกระดาษ บรรจุภัณฑ์อาหารกระดาษเคลือบพลาสติกชีวภาพ ก็อาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการปรับตัว แต่สำหรับผู้ผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งบางประเภทยังมีความจำเป็นอยู่ เช่น ถุงร้อน ถุงขยะ ถุงใส่ของ (ใช้ซ้ำได้) เนื่องจากสะดวกและราคาถูก ทำให้ผู้ประกอบการที่ขึ้นรูปพลาสติกได้หลากหลายจะยังไม่ได้รับผลกระทบที่รุนแรงนัก

3.กลุ่มผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์พลาสติก ในระยะแรกผลิตภัณฑ์พลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้งจะถูกงดใช้กับกลุ่มห้างสรรพสินค้ารายใหญ่เท่านั้น เนื่องจากผลิตภัณฑ์พลาสติกอย่างถุงหูหิ้วยังมีความจำเป็นในกลุ่มตลาดสด แผงลอย และร้านขายของชำ ซึ่งต้องอาศัยเวลาเตรียมความพร้อมและดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป ผู้ประกอบการจึงควรปรับตัวด้วยการเพิ่มประเภทสินค้าให้มีความหลากหลายเพื่อกระจายความเสี่ยง เช่น ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่สามารถนำกลับมาใช้งานได้อีก หรือผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติ แต่ก็ควรเร่งระบายสต๊อกผลิตภัณฑ์พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งไปยังตลาดที่ยังมีความจำเป็นก็เป็นช่องทางหนึ่งด้วย

Advertisment

การดำเนินธุรกิจท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทั้งจากพฤติกรรมผู้บริโภคและมาตรการต่าง ๆ ที่กดดันมากขึ้น ผู้ประกอบการต้องติดตามแนวโน้มการเปลี่ยนแปลง เพื่อปรับกลยุทธ์และทิศทางการทำธุรกิจให้ทัน เพราะการดำเนินธุรกิจในรูปแบบเดิมอาจไม่เพียงพอต่อการอยู่รอดของธุรกิจ และทำให้ต้องเผชิญกับข้อจำกัดและความท้าทายที่ยากมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่การเปลี่ยนแปลงก็สร้างโอกาสสำหรับคนที่พร้อมอยู่เสมอนะครับ