“อรัญญา ทองน้ำตะโก” ดันทรัพย์ยึด 1.7 แสนล้าน กลับสู่ระบบ

สัมภาษณ์

“ที่ผ่านมาจะเห็นเลยว่าช่วงไหนที่เศรษฐกิจขาลง งานของกรมบังคับคดีจะมากขึ้น” นี่เป็นคำกล่าวของ “อรัญญา ทองน้ำตะโก” อธิบดีกรมบังคับคดีคนใหม่ ที่น่าจะสะท้อนภาพเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี ซึ่งปี 2562 เศรษฐกิจไทยชะลอตัว เนื่องจากภาคส่งออกได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าสหรัฐกับจีน รวมถึงเงินบาทที่แข็งค่า ทำให้ธุรกิจได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก

ทรัพย์บังคับคดีเพิ่มต่อเนื่อง

“อรัญญา” เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2562 (ต.ค. 2561-ก.ย. 2562) มีสำนวนคดีทั้งคดีแพ่งและคดีล้มละลายเข้าสู่กระบวนการบังคับคดีกว่า 3.14 แสนคดี เพิ่มขึ้น 8.30% มีมูลหนี้ตามคำฟ้องสูงถึง 1.65 ล้านล้านบาท และมีมูลค่าทรัพย์ 1.83 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.02%

ขณะที่ช่วงไตรมาสแรกปีงบประมาณ 2563 (ต.ค.-ธ.ค. 2562) มีคดีเข้ามาแล้ว 86,269 คดี มูลหนี้ 1.1 แสนล้านบาท ซึ่งแนวโน้มปีงบประมาณ 2563 นี้จำนวนคดีน่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 9% หรืออยู่ที่กว่า 3.45 แสนคดี หากภาวะเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่อง

“ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มูลค่าทรัพย์สินที่เข้าสู่การบังคับคดีเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 20%”

อายัดเงินเดือนรายย่อยพุ่ง

นอกจากยึดทรัพย์แล้ว “อรัญญา” บอกว่า ยังมีการอายัดเงินเดือนด้วย ซึ่งสัดส่วน 79% มากกว่าการยึดทรัพย์ โดยปีนี้อาจจะเห็นการอายัดเพิ่มขึ้นอีกหากผลกระทบด้านเศรษฐกิจลากยาว ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นหนี้บัตรเครดิต หนี้ไม่มีหลักประกันต่าง ๆ หนี้เช่าซื้อหรือลีสซิ่ง

“ส่วนใหญ่เป็นหนี้รายย่อย หนี้ครัวเรือน เป็นคนหาเช้ากินค่ำ ที่บางคนก็อยู่รัฐวิสาหกิจ หรืออยู่บริษัทใหญ่ ๆ แต่ไม่มีทรัพย์ให้ยึด ก็ต้องอายัดบัญชีเงินเดือน โดยเราก็จะอายัดตามสัดส่วนประมาณหนึ่งเพื่อนำมาชำระหนี้ จะไม่ได้อายัดหมด เพราะต้องเหลือไว้ให้เขาดำรงชีพได้ส่วนหนึ่ง”

ชูนโยบาย “5 เร่ง” ผลักดันทรัพย์

“อรัญญา” กล่าวว่า กรมมีการเร่งผลักดันระบายทรัพย์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีเงินกลับเข้าไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ โดยตอนปีงบประมาณ 2561 ผลักดันทรัพย์ได้ 1.47 แสนล้านบาท ส่วนปีงบประมาณ 2562 ตั้งเป้า 1.45 แสนล้านบาท ทำได้ 1.6 แสนล้านบาท ซึ่งจำแนกได้เป็นการขายทอดตลาด 68,700 ล้านบาท งดการบังคับคดี 24,302 ล้านบาท และถอนทรัพย์ 67,163 ล้านบาท โดยกรมมีนโยบายเชิงรุกในการเปิดให้เจ้าหนี้และลูกหนี้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในชั้นบังคับคดี ก่อนที่จะนำไปสู่กระบวนการยึดทรัพย์ โดยเฉพาะในกลุ่มหนี้เปราะบาง ได้แก่ หนี้รายย่อย หนี้บัตรเครดิต หนี้เอสเอ็มอี หนี้ กยศ. และหนี้เกษตรกร

“ทั้งหมดมาจากการเร่งขาย ถ้าคู่ความที่ไม่อยากให้ขายก็ต้องมาขอถอนหรือมาเจรจา ซึ่งก็อาจจะนำไปสู่การงดหรือพักการบังคับคดีไว้ชั่วคราว อาจจะเป็น 6 เดือน หรือ 1 ปีก็แล้วแต่ โดยในปีที่แล้วสัดส่วนการขายกับการถอน ตัวเลขใกล้เคียงกัน สะท้อนว่าครึ่งหนึ่งขายได้ อีกครึ่งหนึ่งลูกหนี้ต้องการเจรจา”

โดยการระบายทรัพย์ในปีนี้ กรมยังยึดตามเป้าที่ 1.45 แสนล้านบาท ตามฐานปี 2562 แล้วบวกเพิ่มอีก 20% (ราว 1.74 แสนล้านบาท) ด้วยนโยบาย 5 เร่ง คือ 1.เร่งอนุญาตขาย เพราะกฎหมายใหม่เปิดให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอนุญาตขายได้โดยไม่ต้องขออนุญาตศาลก่อน 2.เร่งประชุมคณะกรรมการกำหนดราคาทรัพย์ โดยเฉพาะทรัพย์ที่มีมูลค่าสูง 3.เร่งประกาศขาย 4.เร่งทำบัญชีรับจ่าย เพื่อคืนเงินให้เจ้าหนี้ และ 5.เร่งรัดคดีเสร็จดำเนินการ ซึ่งในไตรมาสแรกผลักดันทรัพย์ไปแล้วกว่า 43,475 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน ก็ขยายฐานผู้สนใจเข้าร่วมประมูล โดยจัดให้มีการขายทอดตลาดวันเสาร์ และจัดขายทอดตลาดนอกสถานที่ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาระบบการขายทอดตลาดผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Offering auction) และระบบการขายทอดตลาดผ่านมือถือที่จะพัฒนาให้เสร็จภายในปีงบประมาณนี้

“ปีนี้กรมมีนโยบายว่า หากคดีเข้าไม่มีปัญหาคัดค้านต้องผลักดันการขายให้ได้ภายใน 150 วัน นับตั้งแต่วันที่ยึดจนถึงวันที่ขายทอดตลาดนัดแรก”

รื้อทรัพย์คดีใหญ่ค้างออกขาย

รวมถึงปีนี้กรมยังมีนโยบายรื้อทรัพย์ในคดีล้มละลายที่ค้าง ๆ อยู่เพื่อนำออกขาย เพราะหากขายได้ก็จะผลักดันเงินไปสู่เจ้าหนี้ได้ โดยมุ่งเน้นคดีที่ค้างนานเกิน 10 ปี และมีทุนทรัพย์สูง

“บางครั้งมีการประนอมหนี้กันอยู่ก็ขายไม่ได้ แต่พอประนอมหนี้เสร็จแล้วไม่ชำระหนี้ตามข้อตกลงก็ต้องถูกบังคับขาย ซึ่งเราจะไปดูตรงนี้ว่ามีเคสไหนชำระไม่เป็นไปตามข้อตกลงประนอมหนี้ ก็ต้องไปเร่งขาย โดยเมื่อไหร่ที่ประกาศขายก็จะมีการร้องเพิกถอน ร้องคัดค้าน แต่ก็ต้องเร่ง รวมถึงก็ต้องเน้นไกล่เกลี่ย คือถ้าคดีไหนขายยาก ก็ต้องเน้นเจรจา”

ทรัพย์บังคับคดีขายดี

อธิบดีกรมบังคับคดี กล่าวว่า ในช่วงภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอ การขายทอดตลาดยังขายดี เพราะคนที่มีเงินก็ยังมาซื้อ รวมถึงเห็นคนรุ่นใหม่ ๆ ที่เป็นสตาร์ตอัพมาซื้อทรัพย์ไปตกแต่งให้ดูดีแล้วก็ขาย ทำให้เกิดมูลค่าเพิ่ม นอกจากนี้ ก็มีคนที่มองว่าราคาประเมินที่ดินจะปรับขึ้นอีก 30% ก็อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนสนใจมาซื้อทรัพย์กันมากช่วงนี้ โดยเฉพาะห้องชุดมีคนมาซื้อกันมากเพราะกฎหมายใหม่ ภาระค่าส่วนกลางไม่ต้องตกอยู่กับผู้ซื้อทรัพย์เหมือนก่อนแล้ว

ทบทวน “พิทักษ์ทรัพย์เอกชน”

อธิบดีกรมบังคับคดี กล่าวด้วยว่า ส่วนความคืบหน้าร่างพระราชบัญญัติเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เอกชน ที่จะแยกบทบาทให้กรมบังคับคดีเป็นผู้กำกับดูแล และเปิดให้บริษัทเอกชนเข้ามาขึ้นทะเบียนเป็นเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์ได้นั้น ปัจจุบันถูกตีกลับมาให้ทบทวนตามข้อสังเกตของหลายหน่วยงาน

“กรมจะปรับปรุงและเปิดรับฟังความคิดเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จากนั้นจะเสนอใหม่อีกครั้งภายในปีงบประมาณ 2563 นี้”

นี่คือภารกิจที่อธิบดีกรมบังคับคดีคนใหม่จะเร่งผลักดันเพื่อก่อประโยชน์แก่ระบบเศรษฐกิจอย่างเต็มที่