ศุลกากร ชี้ โคโรน่าพ่นพิษ จัดเก็บรายได้ม.ค.63 ลด

ศุลกากร ชี้โคโรน่าทำพิษ จัดเก็บรายได้ม.ค.63 ลด แต่เชื่อกระทบนำเข้าระยะสั้น ยังคงเป้าจัดเก็บปีงบ63 ที่ตั้งไว้ 1.11 แสนล้านบาท พร้อมเตรียมแผน 5 มาตรการ ยกอันดับ Doing Business 2021

นายชัยยุทธ คำคุณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า (โควิด-19) ส่งผลให้ยอดการจัดเก็บภาษีศุลกากรในเดือนม.ค.63 ลดลง เนื่องจากประเทศจีนลดกำลังการผลิต หยุดกิจการนำเข้า-ส่งออกบางส่วน ทำให้ผลกระทบดังกล่าวส่งมาถึงการนำเข้าสินค้าของไทยด้วย อย่างไรก็ตาม กรมยังคงมองว่าปัจจัยดังกล่าวเป็นผลกระทบระยะสั้น ฉะนั้น กรมจึงไม่ปรับเป้าหมายการจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2563 ที่ตั้งไว้ 111,000 แสนล้านบาท

“สำหรับการการแพร่ระบาดไวรัสโคโรน่านั้น กรมมองว่าไม่มีผลต่อการนำเข้าระยะยาว อย่างไรก็ดี ในระยะสั้นอาจจะมีการชะลอการนำเข้า เนื่องจากโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศจีนอาจจะลดกำลังการผลิตลง จึงส่งผลให้การส่งออกมายังประเทศไทยชะลอตัวในช่วงระยะเวลาหนึ่ง” นายชัยยุทธ กล่าว

พร้อมกันนี้ ในปี 2563 กรมได้เตรียมแผนการดำเนินงาน 5 มาตรการ เพื่อยกอันดับ Doing Business 2021 โดยกรมจะชู 5 มาตรการทางศุลกากร เพื่อยกอันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจในประเทศไทยด้านการค้าระหว่างประเทศ (Doing Business 2021 : Trading Across Border) ในช่วงปี พ.ศ. 2562 – พ.ศ. 2563 ได้แก่ กระบวนการทางศุลกากรล่วงหน้าก่อนสินค้ามาถึงสำหรับของนำเข้า (Pre – Arrival Processing: PAP) การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Payment) การไม่เรียก/ไม่รับสำเนาใบขนสินค้าที่มีในระบบ e-Customs (No Customs Declaration Copy) มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพแฟ้มบริหารความเสี่ยงเพื่อลดอัตราการเปิดตรวจ (Risk Management) และระบบตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์สินค้าด้วยเครื่องเอ็กเรย์แบบขับผ่าน (DRIVE – THROUGH X-RAY SCANNER)

โดยมาตรการแรก คือ 1) กระบวนการทางศุลกากรล่วงหน้าก่อนสินค้ามาถึงสำหรับของนำเข้า (Pre – Arrival Processing: PAP) ซึ่งทำให้ผู้นำเข้าลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการผ่านพิธีการนำเข้า อีกทั้งสามารถยื่นใบขนสินค้าและชำระค่าภาษีอากรล่วงหน้าก่อนสินค้ามาถึง และสามารถติดต่อเพื่อรับสินค้าได้ทันทีเมื่อเรือหรืออากาศยานมาถึง (กรณี Green Line)

2) มาตรการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ กรมศุลกากรได้เปิดให้บริการระบบ e-Bill Payment โดยผู้ประกอบการสามารถชำระเงินการดำเนินพิธีการทางศุลกากรผ่านช่องทาง Internet Banking, Mobile Banking, ATM, Counter Bank และตัวแทนชำระเงิน โดยมีธนาคารที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 6 ธนาคาร และ 2 ตัวแทนรับชำระ ทำให้ลดเวลา 3 ชั่วโมง/ครั้ง หรือ 3.5 ล้านชั่วโมง/ปี และค่าใช้จ่ายในการติดต่อกับกรมศุลกากร 433.74 บาท/ครั้ง หรือ 513 ล้านบาท/ปี อีกทั้งผู้ประกอบการสามารถสั่งพิมพ์ใบเสร็จรับเงินได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องเสียเวลามารับใบเสร็จรับเงินที่กรมศุลกากร

3) มาตรการไม่เรียกไม่รับสำเนาใบขนสินค้าที่มีในระบบ e-Customs (No Customs Declaration Copy) โดยสำนักงานศุลกากร ด่านศุลกากร การท่าเรือแห่งประเทศไทย และท่าเรือแหลมฉบัง ไม่เรียก/ไม่รับสำเนาใบขนสินค้าในขั้นตอนการตรวจปล่อย ทำให้สามารถลดสำเนาใบขนสินค้าที่ผู้มาติดต่อ/ ผู้ประกอบการต้องพิมพ์ ปีละประมาณ 60 ล้านแผ่น และลดค่าใช้จ่ายกระดาษได้ไม่น้อยกว่าปีละประมาณ 30 ล้านบาท

4) มาตรการลดอัตราการเปิดตรวจ (Risk Based Management on Profile) โดยพัฒนาแฟ้มบริหารความเสี่ยงในการคัดกรองให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และลดอัตราการเปิดตรวจ สำหรับสินค้าที่มัดลวดเพื่อไปตรวจที่คลังสินค้าทัณฑ์บน เขตปลอดอากรหรือเขตประกอบการเสรี เป็นผลให้อัตราการเปิดตรวจโดยเฉพาะสินค้าประเภทชิ้นส่วนรถยนต์ตามพิกัด 87.08 ลดลงจากร้อยละ 37 เหลือร้อยละ 26

และมาตรการสุดท้าย คือ 5) ระบบตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์สินค้าด้วยเครื่องเอกซเรย์แบบขับผ่าน (DRIVE – THROUGH X-RAY SCANNER) เป็นเทคโนโลยีในการเอกซเรย์ตู้คอนเทนเนอร์สินค้า ยานพาหนะขนส่งสินค้า รวมทั้งยานพาหนะโดยสาร สามารถเอกซเรย์ตู้คอนเทนเนอร์สินค้าได้ 150 ตู้/ชั่วโมง ซึ่งมากกว่า X-Ray แบบ Fixed ที่เอกซเรย์ตู้คอนเทนเนอร์สินค้าได้ 30 ตู้/ชั่วโมง คิดเป็น 5 เท่า ทำให้สามารถลดระยะเวลาการติดต่อของผู้ประกอบการลดลง ลดระยะเวลาการเอกซเรย์สินค้า ระยะเวลาการรอคอยและระยะเวลาความแออัด ที่มีผลต่อค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการ คาดว่ากรมจะนำมาใช้ในช่วงเดือนมี.ค.63