เทกระจาด 2 แสนล้านสู้โควิด “สมคิด” สั่งตั้งกองทุนฉุกเฉิน

รัฐบาลระดมมาตรการชุดใหญ่อัดเงินกว่า 2 แสน ล. พยุงเศรษฐกิจสู้โควิด-19 ปูพรม “แจกเงิน” ใส่กระเป๋าประชาชน 20 ล้านคน ทั้งกลุ่ม “ผู้มีรายได้น้อย-เกษตรกร-อาชีพอิสระ” รับคนละ 2 พันรวม 4.1 หมื่นล้านดีเดย์ เม.ย.นี้ อุ้มผู้ประกอบการรายเล็ก-ใหญ่ลดจ่ายสมทบประกันสังคมเหลือ 0.1% พร้อม “ลด-เลื่อน” จ่ายค่าน้ำ-ค่าไฟ ส่งเสริมจ้างงาน “ค่าจ้างแรงงาน” หักลดภาษีได้ 3 เท่า “สมคิด”สั่งคลังหาเงินตั้ง “กองทุนฉุกเฉิน”

ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า ในการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2563 เห็นชอบมาตรการบรรเทาค่าครองชีพแก่ประชาชน จากผลกระทบของการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 และจะนำเข้าพิจารณาอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันอังคารที่ 10 มีนาคม 2563

 

20.8 ล้านคน รับ 2,000 บาท

นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวว่า มาตรการที่จะเสนอ ครม. วันที่ 10 มี.ค.นี้ จะเป็นมาตรการที่มีเป้าหมายชั่วคราวไม่ถาวร ครอบคลุม 2 กลุ่ม ได้แก่ 1) ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ไม่เฉพาะภาคการท่องเที่ยว และ 2) ประชาชน เพื่อต้องการแบ่งเบาภาระ ทั้งรายได้และรายจ่าย สำหรับมาตรการที่ดูแลภาคประชาชน จะดูแลเรื่องรายได้ให้ประชาชนมีเงินในกระเป๋าเพียงพอ โดยจะเป็นการสนับสนุนเงินโดยตรงให้กลุ่มผู้มีรายได้น้อย เกษตรกร และกลุ่มอาชีพอิสระ รายละ 2,000 บาท เดือนละ 1,000 บาท ระยะเวลา 2 เดือน เริ่ม เม.ย.นี้ อย่างไรก็ดี มาตรการดูแลประชาชนไม่ได้สนับสนุนเฉพาะเงินทุนเท่านั้น ยังมีมาตรการเสริมเกี่ยวกับการสร้างความรู้เสริมทักษะให้กับประชาชนด้วย

โดยเป็นการแจกให้กับ “กลุ่มคนที่ขาดแคลนหลักประกันทางสังคม และเป็นกลุ่มเปราะบางที่ควรได้รับการดูแลเมื่อเศรษฐกิจซบเซา” มี 4 กลุ่มเป้าหมายรวม 20.8 ล้านคน แบ่งเป็น ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกร 13.9 ล้านคน กลุ่มอาชีพอิสระ 5.9 ล้านคน และเก็บตกอาชีพอิสระอีก 1 ล้านคน โดยรัฐบาลจะจ่ายเงินผ่านการเติมเงินผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และระบบ Prompt Pay ด้วยงบประมาณทั้งสิ้น 41,050 ล้านบาท

อุ้มกิจการไม่ให้เลิกจ้าง-ลอยแพ

 

รัฐมนตรีคลังกล่าวว่า สำหรับมาตรการดูแลผู้ประกอบการ ครม.เศรษฐกิจเห็นชอบหลักการ แบ่งเป็น มาตรการการเงินและการคลัง ประกอบด้วย 4 มาตรการ ได้แก่ 1) มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ที่ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.), ธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินของรัฐ ดำเนินการโดยให้ธนาคารออมสินปล่อยกู้ให้สถาบันการเงินในอัตราดอกเบี้ย 0.01% และสถาบันการเงินจะนำไปปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการ อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2% ระยะเวลา 2 ปี ไม่เกิน 20 ล้านบาท/ราย วงเงินสินเชื่อรวม 150,000 ล้านบาท

2) มาตรการพักชำระเงินต้น พิจารณาผ่อนภาระดอกเบี้ยของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ 3) มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบ โดยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามที่ ธปท.ออกมาตรการตั้งแต่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา และ 4) มาตรการสินเชื่อพิเศษ จากกองทุนประกันสังคม ดอกเบี้ยต่ำ 3% ต่อปี ระยะเวลา 3 ปี เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถจ้างลูกจ้างต่อได้

อัด 4 มาตรการภาษี

สำหรับมาตรการทางภาษี ประกอบด้วย 4 มาตรการ ได้แก่ 1) มาตรการคืนสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการด้วยการลดอัตราหักภาษี ณ ที่จ่าย 2) ให้สิทธิ์ผู้ประกอบการที่ใช้สินเชื่อซอฟต์โลน และจัดทำบัญชีเดียว สามารถนำรายจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ไปหักลดหย่อนภาษีได้ 3) นายจ้างนำรายจ่ายลูกจ้างมาหักลดหย่อนภาษีได้ 3 เท่า ช่วงระยะเวลาตั้งแต่ 1 เม.ย.-31 ก.ค. 63 และ 4) กระทรวงการคลังจะเร่งคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้ผู้ประกอบการในประเทศที่ยื่นแบบภาษีออนไลน์ ภายใน 15 วัน

ลด-เลื่อนเก็บค่าน้ำ-ค่าไฟ

นอกจากนี้ ยังมีการพิจารณามาตรการอื่น ๆ โดยให้หน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ ลด-เลื่อนค่าธรรมเนียม ค่าเช่าที่เก็บจากภาคเอกชน รวมทั้งมาตรการบรรเทาค่าน้ำและค่าไฟ มาตรการลดเงินสมทบเข้าประกันสังคมของนายจ้างและลูกจ้าง เป็นอัตรา 0.1% ของค่าจ้าง 3 เดือน มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณปี 2563 ซึ่งจะเข้าไปพิจารณาขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ และรวมถึงมาตรการสร้างความเชื่อมั่นในระบบตลาดทุน ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับประชาชนทั่วไปที่ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออม (กองทุน SSF) โดยให้หักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นการชั่วคราวได้เพิ่มขึ้นจากเงื่อนไขเดิม

แค่มาตรการชุดแรกยังมีต่อ

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี แถลงว่า สถานการณ์โควิด-19 เริ่มทวีความรุนแรงทั้งไทยและทั่วโลก ยังไม่ถึงจุดพีก (สูงสุด) ด้วยซ้ำไป

“งานนี้ไม่มีการแจกเงิน การให้เงินช่วยเหลือเป็นเพียงเสี้ยวเดียวเท่านั้น ยามนี้เป็นภาวะที่ประเทศกำลังเผชิญปัญหา เอกภาพของคลัง แบงก์ชาติ และเอกชน 3 สถาบัน ทุกฝ่ายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั้งหมด วาระที่เข้ามาในวันนี้ผ่านการกลั่นกรองจากทุกสถาบัน เป็นเพียงมาตรการชุดที่ 1 ที่ออกมาในช่วงขณะนี้ ต่อไปข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น เราไม่สามารถยืนยันได้ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของโลก ฉะนั้นพวกเราต้องช่วยกัน ประเทศไม่ใช่ของเล่น”

ทั้งนี้คาดว่า มาตรการชุดที่ 1 เพียงพอ โดยกระทรวงการคลังจะตั้งศูนย์ในคลังจังหวัดทั่วประเทศเพื่อรับข้อมูลที่ยังขาดเหลือ และช่วยเหลือต่อไป

ตั้งกองทุน-แผนสำรอง

นายสมคิดกล่าวว่า สถานการณ์โลกขณะนี้ทำนายไม่ได้ว่า จะมีอะไรเกิดขึ้นมากไปกว่านี้อีก แต่เพื่อความรอบคอบ กระทรวงการคลังจะหารือกับสำนักงบประมาณ จัดหากองเงินกองหนึ่งขึ้นมา จะเรียกอะไรก็แล้วแต่ เพื่อไว้ผ่อนคลายภาระต่าง ๆ เช่น มีคนตกงานต้องทำการฝึกฝนอบรมเพื่อให้สามารถอยู่รอดต่อไปได้ กองเงินกองนี้ก็จะสามารถผ่อนคลายได้ ซึ่งกระทรวงการคลังจะกลับไปดูกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อออกเป็นมาตรการให้ครอบคลุม สามารถใช้ได้ในอนาคตข้างหน้า ถ้าไม่จำเป็นเราก็ไม่ใช้ ถ้าจำเป็นต้องใช้ก็ต้องมีสำรองไว้

นายสมคิดกล่าวเสริมว่า ขณะนี้ตลาดหุ้นทั่วโลกตก เมื่อวานนี้ (5 มี.ค.) ดาวน์โจนลงมาเยอะมาก เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งในอดีตมีกองทุนวายุภักษ์ เพื่อพยุงตลาดหุ้นได้บ้าง ซึ่งขณะนี้ตลาดทุนไทยขนาดใหญ่มาก ก.ล.ต.จึงเสนอให้ใช้กองทุน SFF เพื่อไปลงทุนในหุ้นทั้งหลาย มาตรการดังกล่าวจึงเป็นการสร้างแรงจูงใจเพื่อให้นักลงทุนซื้อกองทุนเพื่อสร้างดีมานด์ในตลาดอย่างเพียงพอ

ดัน SSF ปลุกเชื่อมั่นตลาดทุน

ด้านนางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า มาตรการสร้างความเชื่อมั่นในระบบตลาดทุน จะเป็นการเข้าไปดูแลชั่วคราว โดยยังใช้กรอบของกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) แต่จะเป็นการแบ่งวงเงินใหม่ โดย ก.ล.ต.ได้เสนอให้ลงทุนในกองทุนที่ลงทุนในหลักทรัพย์จดทะเบียนขั้นต่ำ 65% ระยะถือครอง 10 ปี สำหรับวงเงินที่ได้ลดหย่อนภาษีจะต้องมีการหาข้อสรุปอีกครั้ง ว่าจะมีการขยายวงเงินเพิ่มจำนวนเท่าไหร่ อย่างไรก็ดี ระยะเวลาการลงทุนสามารถเข้าซื้อได้หลังกฎหมายบังคับใช้จนถึงวันที่ 30 มิ.ย. 63 เชื่อว่าจะเป็นการช่วยตลาดทุนเป็นการเฉพาะกิจ และเป็นการส่งเสริมการออมระยะยาว

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในส่วนกองทุน SSF ที่จะเป็นมาตรการชั่วคราว เพื่ออุ้มตลาดทุนช่วงไตรมาส 2 นี้ ทางกระทรวงการคลังยังต้องกลับไปพิจารณารายละเอียดก่อนเสนอ ครม. วันที่ 10 มี.ค.อีกครั้ง หลังจากที่เสนอ ครม.เศรษฐกิจ ให้เพิ่มวงเงินลดหย่อนภาษีอีก 1 แสนบาท จากเงื่อนไขเดิมไม่เกิน 2 แสนบาท รวมไม่เกิน 3 แสนบาท แต่เพื่อให้มีผลต่อบรรยากาศการลงทุน อาจจะเพิ่มเพดานหักลดหย่อนภาษีเป็นไม่เกิน 5 แสนบาท

แบงก์ชาติผนึกกำลัง

ขณะที่นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เพื่อให้ผู้ประกอบการมีสภาพคล่อง และสามารถที่จะประกอบธุรกิจได้ต่อเนื่องในช่วงเวลาที่ยากลำบาก จึงได้ส่งเสริมให้มีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้โดยเร็ว โดยสถาบันการเงินต่าง ๆ ที่อยู่ภายใต้การกำกับของ ธปท. ได้ส่งเสริมให้มีการปรับโครงสร้างหนี้ รวมถึงลูกหนี้ที่ยังไม่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) รวมทั้งลูกหนี้ที่อาจจะเริ่มเป็น NPL ซึ่งการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ทำได้หลายรูปแบบ ตั้งแต่ยืดเวลาชำระหนี้ ลดดอกเบี้ย เปลี่ยนประเภทวงเงิน ลดค่าธรรมเนียม โดยครอบคลุมทั้งลูกหนี้ที่เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ และ SMEs

นอกจากนี้ ในส่วนลูกหนี้บุคคล หนี้บัตรเครดิตมีการลดวงเงินชำระขั้นต่ำจาก 10% ลง ซึ่งจะผ่อนคลายชั่วคราวเป็นเวลา 2 ปี ตั้งแต่เดือน ม.ค. 63-31 ธ.ค. 64 ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นมาตรการที่ ธปท.ดำเนินการไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา

ศก.ซบยาว 9 เดือน

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในฐานะเลขานุการ ครม.เศรษฐกิจ กล่าวว่า ข้อมูลเศรษฐกิจในเดือน ม.ค. 2563 ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้หลายด้าน เช่น การลงทุนเอกชน การใช้จ่ายภาครัฐ การท่องเที่ยว การส่งออกยังติดลบ ดังนั้น GDP ไตรมาสที่ 1/2563 จึงต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 4/2562 ซึ่งมีนัยต่อตัวเลขจีดีพีทั้งปี”63

“ได้สั่งการให้สภาพัฒน์ประมาณการเศรษฐกิจเป็นซีนาริโอ ว่าถ้าร้ายแรงจะเป็นอย่างไร ซีนาริโอปกติจะเป็นอย่างไร”

นายกอบศักดิ์กล่าวว่า เดิมคิดว่าสถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสจะจบภายใน 3 เดือน และใช้เวลาอีก 3 เดือน เพื่อฟื้นตัวกลับไปสู่ปกติ แต่ขณะนี้สถานการณ์แย่ลงกว่าเดิม จึงต้องขยับออกไปเป็น 6 เดือน และจะค่อย ๆ ฟื้นในอีก 3 เดือน หรือในไตรมาส 3 ต้นไตรมาส 4 ซึ่งต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

“มาตรการชุดที่ 1 ในวันนี้ อยู่บนพื้นฐานของการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดได้ระดับหนึ่ง แต่ถ้าแพร่ระบาดมากกว่านี้ ผลกระทบจะกว้างไกลกว่านี้ ซึ่งจะมีมาตรการชุดต่าง ๆ ตามมา แต่ถ้าสถานการณ์คลี่คลายโดยเร็ว จึงจะดำเนินการกระตุ้นเรื่องการท่องเที่ยวต่อไป”

5 มาตรการเยียวยาสายการบิน

นายกอบศักดิ์กล่าวเพิ่มเติมว่า ครม.เศรษฐกิจเห็นชอบมาตรการบรรเทาผลกระทบจากสายการบิน 5 มาตรการสำคัญ ได้แก่ 1.มาตรการด้านการลดค่าใช้จ่ายของสายการบิน เช่น ปรับลดค่าบริการขึ้น-ลงอากาศยาน และค่าบริการที่เก็บอากาศยาน สำหรับเที่ยวบินภายในประเทศและระหว่างประเทศที่ทำการบินเข้า/ออก ประเทศกลุ่มเสี่ยงลง 50% ตั้งแต่ 1 เม.ย.-31 ธ.ค. 2563, ปรับลดค่าบริการการเดินอากาศ เที่ยวบินในประเทศลด 50% และเที่ยวบินระหว่างประเทศลด 20% ใน 11 เส้นทางประเทศกลุ่มเสี่ยง, ปรับลดค่าธรรมเนียมและการเข้า/ออก นอกประเทศ (regulatory fee) และการขอขยายเวลาปรับลดภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบิน จาก 4.726 บาท/ลิตร เหลือ 0.2 บาท/ลิตร ซึ่งจะครบกำหนด 30 ก.ย.นี้ ขยายไปถึง 31 ธ.ค. 2563

ปฏิเสธผู้โดยสารเสี่ยงได้

2.มาตรการอำนวยความสะดวก จัดสรรเวลาการบิน 3.มาตรการสร้างความเชื่อมั่นในการเดินทางอากาศ เช่น ออกประกาศรองรับสิทธิในการปฏิเสธผู้โดยสารที่มีความเสี่ยงติดไวรัส 4.มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ และ 5.มาตรการทางการเงิน เช่น ขอขยายเวลาชำระหนี้ จัดหาทุนดอกเบี้ยต่ำ เป็นต้น ซึ่งมาตรการทั้งหมดจะมีผลถึงปลายปี

ขณะที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า มาตรการต่าง ๆ ที่อนุมัติครั้งนี้จะมีผลกระทบกับกรมท่าอากาศยาน (ทย.) เพียงหน่วยงานเดียว โดยจะต้องขอรัฐบาลกู้เงินเพื่ออุดหนุนบริการสาธารณะ (PSO) วงเงินประมาณ 500 ล้านบาท ส่วนของ บมจ.การบินไทย และ บจ.ไทยสมายล์แอร์เวย์ เนื่องจากข้อเสนอที่ทำมายังไม่มีรายละเอียด โดยเฉพาะด้านตัวเลขต้นทุนต่าง ๆ จึงจะมีการหารือกันอีกครั้งในวันที่ 13 มี.ค.นี้

คนกลัวไวรัสไม่มีมู้ดจับจ่าย

ด้านแหล่งข่าวจากวงการค้าปลีกค้าส่งรายใหญ่เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มาตรการการใส่เงินมาในกระเป๋าประชาชน ถามว่าจะเป็นผลดีกับค้าปลีกหรือไม่ แน่นอนว่าคงจะช่วยให้เกิดการจับจ่ายบ้าง ช่วยให้ยอดขายกระเตื้องขึ้นมาบ้าง แต่สิ่งที่สัมผัสได้ตอนนี้ คือ คนทั่วประเทศวิตกกังวลและกลัวการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 มาก จนไม่มีใครอยากจะออกไปไหน ไม่อยากจะเดินทาง จับจ่ายน้อยลง ทำให้บรรยากาศโดยรวมซึม

“โดยสรุปมาตรการนี้ดี แต่เป็นเรื่องที่ไม่ถูกที่ถูกเวลา ควรจะเอางบฯไปช่วยเรื่องของสาธารณสุข เพื่อสร้างความมั่นใจมากกว่า เพราะตอนนี้คนตื่นกลัวกันทั้งประเทศ” แหล่งข่าวกล่าว