ค่าเงินบาทอ่อนค่า หลังการแพร่กระจายไวรัสโคโรน่าได้รุนแรงมากยิ่งขึ้น

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราระหว่างวันที่ 9 มีนาคม -12 มีนาคม 2563 ดัชนีดอลลาร์ในวันจันทร์ (9/3) เปิดตลาดที่ระดับ 96.108 แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย เมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดวันศุกร์ (6/3) ที่ 95.95 ดอลลาร์สหรัฐ หลังจากมีการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร ซึ่งเปิดเผยในคืนวันศุกร์ (6/3) ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 273,000 ตำแหน่งในเดือนกุมภาพันธ์ สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 175,000 ตำแหน่ง พร้อมทั้งขณะที่อัตราการว่างงานลดลงสู่ระดับ 3.5% ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 50 ปี นอกากนี้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐได้เปิดเผยตัวเลขขาดดุลการค้าของสหรัฐในเดือนมกราคม ลดลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยได้ปรับตัวลดลง 6.7% สู่ระดับ 4.55 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 4.61 หมื่นล้านดอลลาร์ พร้อมทั้งในช่วงท้ายสัปดาห์กระทรวงสถิติแรงงานสหรัฐ ได้เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) สหรัฐ ประจำเดือนกุมภาพันธ์ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.2% เปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า และดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) ประจำเดือนกุมภาพันธ์ก็ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.1% เปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตาม ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางที่ผันผวนตลอดทั้งสัปดาห์ จากปัจจัยจากความรุนแรงของการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าที่ได้แพร่กระจายไปทั่วโลกรวมถึงสหรัฐอเมริกา หลังจากนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐได้ประกาศนโยบายเพื่อรับมือกับผลกระทบของ COVID-19  โดยห้ามนักท่องเที่ยวที่เดินทางจากประเทศในทวีปยุโรปจำนวน 26 ประเทศ เดินทางเข้าสหรัฐเป็นระยะเวลาจำนวน 1 เดือนต่อจากนี้ พร้อมทั้งนักลงทุนยังคงจับตาดูผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ โดยนักลงทุนได้คาดการณ์ว่าธนาคารสหรัฐ (เฟด) จะมีการลดอตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับ 0.75-1.00% ในการประชุมวันที่ 17-18 มีนาคมที่จะถึงนี้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (COVID-19) ที่ได้ทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนีดอลลาร์เคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 94.65-98.31 และปิดตลาดในวันศุกร์ (13/3) ที่ระดับ 97.411

สำหรับค่าเงินบาทในตลอดทั้งสัปดาห์ยังคงปรับตัวอ่อนค่าขึ้นจากหลายปัจจัย ทั้งจากความกังวลจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศรัสเซียและซาอุดิอาระเบีย หลังซาอุดิอาระเบียได้มีการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันเป็น 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน หลังจากประสบความล้มเหลวในการเจรจาหาข้อสรุปร่วมกันในการประชุมโอเปค ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรเลียในวันศุกร์ที่ผ่านมา (6/3) พร้อมทั้งประกาศปรับลดราคาน้ำมันดิบสำหรับเดือนเมษายน สำหรับตลาดเอเชียปรับลดลง 4-6 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และตลาดสหรัฐปรับลดลง 7 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นราคาน้ำมันที่ต่ำที่สุดในรอบ ค.ศ. 1991 อีกทั้งจากปัจจัยของสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรน่าในประเทศไทยที่ได้มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้นักลงทุนต่างมีความกังวลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจของไทยที่อาจจะได้รับผลกระทบในหลาย ๆ ภาคส่วน โดยสะท้อนจากการปรับตัวลดลงของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทย (SET Index) ในช่วงบ่ายของวันพฤหัสบดี (12/3) และช่วงเช้าของวันศุกร์ที่ (13/3) ที่ได้ปรับตัวลดลงกว่า 10% จากดัชนีปิดของวันซื้อขายก่อนหน้า จนเกิดการ Circuit Breaker โดยต้องปิดการซื้อขายเป็นเวลา 30 นาที ซึ่งเหตุการณ์ Circuit Breaker ดังกล่าวถือเป็นเหตุการณ์ครั้งที่ 4 และ 5 ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นของไทย ทั้งนี้ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ค่าเงินบาทมีการเคลื่อนไหวในกรอบ 31.29-32.09 บาท/ดอลลาร์ และปิดตลาดในวันศุกร์ (13/3) ที่ระดับ 31.83/86 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันจันทร์ (9/3) ที่ระดับ 1.1378/82 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (6/3) ที่ระดับ 1.1300/05 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรแข็งค่าจากการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐประกอบกับตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญที่เผยในช่วงคืนวันศุกร์ (6/3) เผยออกมาดีกว่าที่คาดการณ์ ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทนในเยอรมนีออกมาขยายตัว 5.5% ในเดือนมกราคมมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะขยายตัวที่ 1.5% ทั้งนี้ ค่าเงินยูโรได้ปรับตัวอ่อนค่าลงหลังจากการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่ได้จัดขึ้นในวันพฤหัสบดี (12/3) ที่ผ่านมา ได้มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ดังเดิม ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์ที่ระดับ 0% และคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ฝากไว้กับ ECB ที่ระดับ -0.05% ขณะที่คงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ระดับ 0.25% นอกจากนี้ ECB ระบุว่า จะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับปัจจุบันต่อไปหรือปรับลดลงจนกว่าอัตราเงินเฟ้อจะเข้าใกล้เป้าหมายของ ECB ที่อยู่ที่ไม่เกินระดับ 2% แต่อย่างไรก็ตาม ECB มีการประกาศเพิ่มวงเงินในการซื้อพันธบัตรตามมาตราผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) อีก 1.2 แสนล้านยูโรจนถึงสิ้นปีนี้ พร้อมทั้งสหภาพยุโรป (EU) แสดงความไม่พอใจต่อการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในการประกาศระงับการเดินทางจากประเทศในยุโรป โดย EU ระบุว่า การตัดสินใจใด ๆ ควรเกิดขึ้นภายหลังการปรึกษาหารือกับ EU โดยแถลงการณ์จาก EU ได้แถลงการณ์ว่า โคโรนาไวรัสถือเป็นวิกฤตการณ์ระดับโลก โดยไม่จำกัดอยู่ที่ทวีปใดทวีปหนึ่ง และจำเป็นต้องมีความร่วมมือกันมากกว่าที่จะใช้การดำเนินการแต่เพียงฝ่ายเดียว อีกทั้งเจ้าหน้าที่ทูตยุโรปรายหนึ่งกล่าวว่า รัฐบาลสหรัฐไม่ได้ประสานงานหรือแจ้งกับจ้าหน้าที่ของ EU แต่อย่างใดเกี่ยวกับคำสั่งห้ามการเดินทางจากยุโรปเป็นเวลา 30 วัน เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ก่อนที่ประธานาธิบีดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะประกาศคำสั่งห้ามดังกล่าว ทั้งนี้ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1054-1.1492 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (13/3) ที่ระดับ 1.1206/08 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนในวันจันทร์ (9/3) เปิดตลาดที่ระดับ 103.79/83 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (6/3) ที่ระดับ 105.09/12 เยน/ดอลลาร์ ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นอย่างมาก หลังนักลงทุนเข้าซื้อเงินเยนในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยจากความกังวลด้านสงครามน้ำมันที่อาจจะเกิดขึ้นจากความขัดแย้งในการกำลังการผลิตของประเทศรัสเซียและซาอุดิอาระเบีย แม้ว่าค่าเงินเยนจะถูกกดดันจากการเปิดเผยข้อมูลผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศญี่ปุ่นในวันจันทร์ (9/3) ได้หดตัวลงสู่ระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 5 ปี ที่ระดับ 1.8% ในไตรมาส 4/2562 ซึ่งเป็นแรงกดดันให้ธนาคารกลางญี่ปุ่นต้องหาทางดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ทั้งนี้ตลอดทั้งสัปดาห์ค่าเงินเยนยังคงแข็งค่าในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ยังคงระบาดอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันพุธ (11/3) ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศเพิ่มความรุนแรงของ COVID-19 จากโรคระบาด (Epidemie) เป็นโรคระบาดใหญ่ของโลก (Pardemic) ซึ่งสถานการณ์ล่าสุด (12/3) COVID-19 ระบาดไปแล้วกว่า 118 ประเทศทั่วโลก ทั้งในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 101.17-106.16 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (13/3) ที่ระดับ 105.83/85 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ