หวั่น GDP โลกติดลบต่ำ 0.1% หนักกว่าวิกฤตซับไพร์ม-GDP ไทยหดตัว 1.4%

นายฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ ผู้ช่วยผู้จัดการ ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซียพลัส จำกัด เปิดเผยว่า การลงทุนในไตรมาส 2/2563 ให้น้ำหนัก 2 ส่วนหลักคือ 1.การปรับลดประมาณการเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย 2.มาตรการกระตุ้นของรัฐบาลและธนาคารกลางทั่วโลก โดยหลังจากเริ่มเห็นทุกประเทศมีการปิดเมือง(Lockdown) ซึ่งส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวลง โดยเฉพาะการส่งออกและการท่องเที่ยว และเป็นตัวเร่งให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยเร็วขึ้น ขณะนี้สถานการณ์ของการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดนอกประเทศจีนกระจายลุกลามไปทั่วโลก โดยล่าสุดพบจำนวนผู้ติดเชื้อทะลุไปแล้วกว่า 8 แสนราย โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.5-2 หมื่นรายต่อวัน และมีทิศทางที่จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

โดยฝ่ายวิจัยมองว่า ตัวเลขเศรษฐกิจโลกอ้างอิงประมาณการจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ในเดือน ก.พ.ที่คาดการณ์จะมีการขยายตัว 3.2% (ยังไม่รวมผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ที่แพร่ระบาดนอกประเทศจีน) ซึ่งอาจถูกปรับลดต่ำกว่าระดับติดลบ 0.1% ในช่วงวิกฤตซับไพร์ม เพราะถูกผลกระทบไปทั่วโลก

อย่างไรก็ตามเมื่อเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย มองว่าจะทำให้รัฐบาลและธนาคารกลางทั่วโลกมีการอัดฉีดเงิน ทั้งมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative Easing) และลดดอกเบี้ยต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ รวมถึงเห็นการกลับมาใช้นโยบายการคลังเกือบทุกประเทศในช่วงไตรมาส 2

“กรณีนี้จะคล้ายๆ ช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจช่วงปี 2551 สภาพตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ ดูแย่หมด มีการล้มละลายเป็นรายวัน แต่ผ่านมาไม่นานตลาดหุ้นปรับตัวขึ้น จากผลของการใช้นโยบายการเงินการคลังที่ผลักตลาดขึ้นไปก่อน ซึ่งรอบนี้เริ่มเห็นอาการแบบนั้นแทรกเข้ามาอยู่เหมือนกัน”

ส่วนประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจไทยปีนี้จะติดลบ 1.4% หลักๆ มาจากผลกระทบภาคส่งออกติดลบ 5.5% และการบริโภคภาคครัวเรือนติดลบ 1.3% โดยประเมินว่าผกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง และการแพร่ระบาดของไวรัสจะคลี่คลายในช่วงไตรมาส 3 กดดันภาคท่องเที่ยวชะลอ และการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินสั่งปิดสถานที่สำคัญ ที่กระทบกำลังซื้อหายไป

ทั้งนี้สำนักงานเศรษฐกิจส่วนใหญ่ทยอยปรับลดประมาณการจีดีพีไทย โดยธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) มีการหั่นตัวเลขจีดีพีลงค่อนข้างแรงติดลบ 5.3% ถ้าเทียบกับปี 2540 ที่ตัวเลขจีดีพีติดลบ 7.1% ถือว่าแบงก์ชาติหั่นตัวเลขลงมาเกือบใกล้เคียงกัน และหากอ้างอิงตัวเลข ธปท.ซึ่งเป็นกรณีเลวร้ายที่สุดจะพบว่า Real GDP มีมูลค่าลงมาเหลือ 10.35 ล้านล้านบาทจากปี 2562 อยู่ที่ 10.93 ล้านล้านบาท หรือมีขนาดลดลงกว่า 5.79 แสนล้านบาท

“ปีนี้รัฐบาลคงมองเห็นหลุมเหมือนยุบลงไป ฉะนั้นเชื่อว่ารัฐต้องเร่งใช้มาตรการนโยบายการเงินและการคลัง ฝ่ายวิจัยมองว่ามีโอกาสที่ดอกเบี้ยนโยบายในช่วงสิ้นปีนี้จะถูกปรับลงมาอีก 1 ครั้งจากระดับ 0.75% เหลือ 0.5% หลังจากปีนี้ ธปท.ปรับลงมาแล้ว 2 ครั้ง และนโยบายการคลังจะมีความจำเป็นต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งการแจกเงิน 5,000 บาท 3 เดือน เม็ดเงินก้อนแรก 1.3-1.4 แสนล้านบาท ครอบคลุมแรงงานที่ได้รับผลกระทบ 3 ล้านคน และมีการขยายเป็น 9 ล้านคน อาจจะมีการอัดฉัดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ โดยเตรียมจากจัดสรรงบจากหน่วยงานๆ ต่างของภาครัฐ (ไม่รวมงบจ่ายลงทุน) น่าจะได้ประมาณ 2 แสนล้านบาท และไปออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งถ้าถมใส่เข้าไป มุมมองฝ่ายวิจัยจึงยังไม่ได้ปรับจีดีพีลงไปลึกมาก”