ดอลลาร์สหรัฐ และสินทรัพย์ปลอดภัยเริ่มปรับตัวอ่อนค่า หลังผู้ติดเชื้อ COVID ทั่วโลกมีอัตราลดลง

ภาพประกอบข่าวดอลลาร์สหรัฐ
แฟ้มภาพ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราระหว่างวันที่ 7 เมษายน-10 เมษายน 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันอังคาร (7/4) ที่ระดับ 32.82/84 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (3/4) ที่ระดับ 33.01/03 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินบาทยังคงอ่อนค่าต่อเนื่องในช่วงคืนวันศุกร์ (3/4) แม้ว่าจะมีการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรโดยกระทรวงแรงงานสหรัฐ ซึ่งปรับตัวลดลงถึง 701,000 ตำแหน่งในเดือนมีนาคม ร่วงลงจากเดือนกุมภาพันธ์ที่เพิ่มขึ้น 275,000 ตำแหน่ง ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะลดลงเพียง 100,000 ตำแหน่ง ขณะที่อัตราการว่างงานพุ่งขึ้นแตะระดับ 4.4% จากระดับ 3.5% ในเดือนก่อนหน้า สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 3.8% อันเป็นผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ทำให้นักลงทุนยังคงเข้าถือครองสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งนับเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยขณะที่เกิดวิกฤตการณ์ดังกล่าว

อย่างไรก็ดี ดัชนีดอลลาร์สหรัฐเริ่มปรับตัวอ่อนค่าลงในวันจันทร์ (6/4) จากความคาดหวังต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่ดีขึ้น หลังจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตในสหรัฐ และหลายประเทศในทวีปยุโรปเริ่มชะลอตัวลง ประกอบกับการเปิดเผยรายงานการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สำหรับรอบการประชุมครั้งล่าสุดในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยระบุว่ากรรมการเฟดได้ตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นลง 1.00% จากเดิมที่ระดับ 1.00-1.25% เป็น 0.00-0.25% ในการประชุมดังกล่าว และคาดการณ์ว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐ จะชะลอตัวลงในไตรมาส 2 ของปีนี้ ซึ่งการที่เศรษฐกิจจะกลับมาขยายตัวได้ดีอีกครั้งน้้น ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพในการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 และความสำเร็จในการใช้มาตรการและนโยบายต่าง ๆ ในการตอบสนองต่อสถานการณ์ดังกล่าว พร้อมทั้งยืนยันว่าเฟดพร้อมที่จะตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำสุดนี้จนกว่าจะมีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจจะสามารถผ่านพ้นวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ เพื่อบรรลุเป้าหมายในการทำให้การจ้างงานเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพของราคา

ขณะที่ตลาดแรงงานของสหรัฐยังคงได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง โดยในวันพฤหัสบดี (9/4) มีการเปิดเผยตัวเลขจำนวนผู้ขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกประจำสัปดาห์ก่อนอยู่ที่ 6.606 ล้านราย สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 5.250 ล้านราย รวมทั้งมีการปรับเพิ่มข้อมูลตัวเลขครั้งก่อนจาก 6.648 ล้านรายเป็น 6.867 ล้านราย

สำหรับปัจจัยในประเทศสัปดาห์นี้ ดัชนีหุ้นไทยเริ่มปรับตัวเป็นขาขึ้นตามทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศ จากความคาดหวังต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่เริ่มขึ้น ประกอบกับการที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ระยะ 3 วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท เพื่อเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสดังกล่าวทุกกลุ่มประชาชน

ทั้งนี้มีการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจโดยสำนักงานนโยบายยุทธศาสตร์และการค้า กระทรวงพาณิชย์ซึ่งระบุว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป หรืออัตราเงินเฟ้อในเดือนมีนาคมอยู่ที่ 101.82 หดตัว 0.54% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง 0.86% จากเดือนกุมภาพันธ์ โดยในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2563 เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 0.4% อย่างไรก็ดีอัตราเงินเฟ้อของไทยในปัจจุบันนี้อยู่ในระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 51 เดือน โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 และการลดลงของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงานที่ลดลงต่ำสุดในรอบ 48 เดือนตามภาวะสงครามราคาน้ำมันโลกระหว่างซาอุดิอาระเบียและรัสเซีย ส่งผลให้ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศลดลงถึง 11 ครั้งในเดือนมีนาคม

Advertisment

รวมทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลง การปิดให้บริการของร้านค้า และการปิดภาคเรียนเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ราคาอาหารสดขยายตัวเพียง 2.46% ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดในรอบปี ดังนั้น กระทรวงพาณิชย์จึงปรับลดคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อของปี 2563 ลงเหลือ -1.0-0.2% จากเดิม 0.4-1.2% โดยจะมีการทบทวนการคาดการณ์เพื่อความเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ในระยะต่อไป ระหว่างสัปดาห์ ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 32.63-32.91 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (10/4) ที่ระดับ 32.66/67 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ในส่วนของปัจจัยในภูมิภาค มีการเปิดเผยตัวเลขดัชนีราคาผู้ผลิตของจีนซึ่งเป็นมาตรวัดต้นทุนสินค้าหน้าโรงงานในวันศุกร์ (10/4) หดตัวลง 1.5% ในเดือนมีนาคม เมื่อเทียบแบบรายปี ต่ำกว่าที่คาดการณ์ว่าจะหดตัว 1.1% หดตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ที่ 0.4% ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคหรืออัตราเงินเฟ้อของจีนหดตัวลง 1.2% เมื่อเทียบแบบรายเดือน จากเดือนกุมภาพันธ์ที่ขยายตัว 0.8% ต่ำกว่าที่คาดการณ์ว่าจะหดตัว 0.7% และเมื่อเทียบแบบรายปีจะขยายตัว 4.3% ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำกว่าเดือนก่อนหน้าที่ 5.2%

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันอังคาร (7/4) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.0792/94 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (3/4) ที่ระดับ 1.0808/10 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ก่อนจะปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อดัชนีดอลลาร์สหรัฐ ร่วงลงจากความคาดหวังต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่ดีขึ้น หลังจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตในสหรัฐ และหลายประเทศในทวีปยุโรปเริ่มชะลอตัวลง สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจในยูโรโซนยังคงอยู่ในภาวะชะลอตัว โดยยอดสั่งซื้อภาคโรงงานของเยอรมนีหดตัวลง 1.4% ในเดือนกุมภาพันธ์ จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัว 4.8% ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0782-1.0946 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (10/4) ที่ระดับ 1.0944/46 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดในวันอังคาร (7/4) ที่ระดับ 109.23/25 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (3/4) ที่ระดับ 108.45/47 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยความต้องการถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยที่ลดลงหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 เริ่มปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น ทั้งนี้ ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 108.19-109.27 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (10/4) ที่ระดับ 108.37/39 เยน/ดอลาร์สหรัฐ

Advertisment

ในส่วนของราคาน้ำมัน สื่อต่างประเทศหลายสำนักรวมถึงวอลล์สตรีท เจอร์นัล และซีเอ็นบีซี รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวว่ากลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตรหรือโอเปกพลัส บรรลุข้อตกลงปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน 10 ล้านบาร์เรล/วัน หรือประมาณ 10% จากกำลังการผลิตปัจจุบัน เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันชะลอตัวลง

สื่อระบุว่ากลุ่มโอเปกพลัสจะปรับลดกำลังการผลิตลง 10 ล้านบาร์เรล/วันในเดือนพฤษภาคม ถึงมิถุนายน จากนั้นจะปรับลดการผลิต 8 ล้านบาร์เรล/วันตั้งแต่เดือนกรกฎาคมไปจนสิ้นปี 2563 และปรับลด 6 ล้านบาร์เรล/วันตั้งแต่เดือนมกราคม 2564 จนถึงเดือนเมษายน 2565 อย่างไรก็ดี กลุ่มโอเปกพลัสยังไม่ได้ออกแถลงการณ์อย่างเป็นทางการเกี่ยวกับการตัดสินใจทำข้อตกลงดังกล่าว