คลังเร่งกู้อีก 5 หมื่นล้าน จ่ายเยียวยาเกษตรกรล็อตแรก 15 พ.ค.

ภาวะการณ์เกษตรกรไทย
เกษตรกรไทย

คลังเตรียมกู้ล็อตสองอีก 5 หมื่นล้านบาท จ่ายเยียวยาเกษตรกรก้อนแรก 15 พ.ค. ส่วนเงินกู้ล็อตแรก 7 หมื่นล้านบาท ประมูลเรียบร้อยแล้ว เตรียมจ่ายเยียวยาผู้รับสิทธิ์ลงทะเบียน “เราไม่ทิ้งกัน” 8 พ.ค.นี้

นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบ มาตรการเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยให้ช่วยเหลือเกณฑ์เดียวกันกับโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” คือ จ่ายเงินช่วยเหลือรายละ 5,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 3 เดือน

กลุ่มเป้าหมายของโครงการดังกล่าว มีจำนวนไม่เกิน 10 ล้านคน ซึ่งจะใช้แหล่งเงินจากพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 พ.ศ. 2563 (พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท) ในส่วนของวงเงินไม่เกิน 6 แสนล้านบาท ที่ใช้สำหรับแผนงานด้านสาธารณสุขและแผนงานเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ

ทั้งนี้ สบน. จะดำเนินการกู้เงินล็อตแรก ในกรอบวงเงิน 5 หมื่นล้านบาท เพื่อนำไปจ่ายเยียวยาเกษตรกร ในวันที่ 15 พ.ค. นี้

“ตอนนี้ สบน.ได้ส่งหนังสือชี้ชวนไปยังสถาบันการเงิน เพื่อให้เข้ามาประมูลแล้ว ซึ่งการกู้เงินครั้งนี้ ก็จะยังคงเป็นตั๋วสัญญาใช้เงิน (P/N) อายุเงินกู้ 1 ปี โดยจะเปิดประมูลในวันที่ 5 พ.ค. และจะเลือกกู้เงินจากสถาบันการเงินที่ให้อัตราดอกเบี้ยต่ำที่สุด” นางแพตริเซียกล่าว

“เช่นเดียวกันกับการกู้เงินก้อนแรก วงเงิน 7 หมื่นล้านบาท ที่ล่าสุดได้เปิดซองประมูลเรียบร้อยแล้ว พบว่า มีสถาบันการเงินเข้ามาร่วมประมูล 3 ราย ซึ่งสถาบันการเงินที่ชนะการประมูลเป็นธนาคารที่มีขนาดใหญ่ และให้อัตราดอกเบี้ยต่ำที่สุด โดย สบน. จะเบิกเงินจากธนาคารที่ชนะประมูลเงินกู้ดังกล่าว แล้วส่งเข้าเงินคงคลัง ในวันที่ 5 พ.ค. เพื่อจ่ายเงินเยียวยาให้ผู้ที่ผ่านเกณฑ์ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ เราไม่ทิ้งกัน.com ในวันที่ 8 พ.ค.ต่อไป”

ขณะที่แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การจ่ายเงินเยียวยาให้เกษตรกรโดยตรงนั้น ครม.ได้เห็นชอบกรอบช่วยเหลือไว้ที่ไม่เกิน 10 ล้านราย รายละ 1.5 หมื่นบาท วงเงินรวมไม่เกิน 1.5 แสนล้านบาท โดยจะแบ่งเป็น กลุ่มเป้าหมายระยะแรก จำนวน 8.43 ล้านราย ที่เป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตร กรมปศุสัตว์ และ กรมประมง ซึ่งจะเริ่มได้รับการช่วยเหลือตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค.เป็นต้นไป ขณะที่กลุ่มเป้าหมายระยะที่ 2 จะมีอีกราว 1.57 ล้านราย เป็นเกษตรกรที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลการขึ้นทะเบียน โดยจะแล้วเสร็จในวันที่ 15 พ.ค. ทั้งนี้ ทั้งหมดนี้จะต้องไม่ซ้ำซ้อนกับการได้รับความช่วยเหลือภายใต้โครงการเราไม่ทิ้งกัน

“ทั้ง 3 กรม จะต้องดำเนินการปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรให้เป็นปัจจุบัน และส่งข้อมูลเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จากนั้น ธ.ก.ส. จะตรวจสอบกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อไม่ให้เกิดการซ้ำซ้อนกัน เสร็จแล้ว ธ.ก.ส. ก็เริ่มจ่ายเงินช่วยเหลือได้ ซึ่งการจ่ายเงินจะจ่ายเดือนละ 5 หมื่นล้านบาท สำหรับกลุ่มเป้าหมายทั้ง 2 ระยะควบคู่กันไป เป็นเวลา 3 เดือน” แหล่งข่าวกล่าว

นางแพตริเซีย มงคลวนิช
นางแพตริเซีย มงคลวนิช

อย่างไรก็ดี สำหรับแหล่งเงินที่จะนำมาจ่ายนั้น จะใช้จากงบฯกลาง แต่เนื่องจากยังต้องรอร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย วงเงิน 1 แสนล้านบาท มีผลบังคับใช้ก่อน ซึ่งประเมินว่าภายในเดือน มิ.ย. ดังนั้น เบื้องต้นจึงจะใช้เงินกู้ตาม พ.ร.ก.จ่ายไปก่อน

นอกจากนี้ คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ยังได้เสนอ ครม พิจารณาการจ่ายเงินชดเชย “เราไม่ทิ้งกัน” ที่มีกลุ่มเป้าหมายไม่เกิน 16 ล้านราย วงเงินไม่เกิน 2.4 แสนล้านบาท จะแบ่งเป็น 1.ใช้เงินงบประมาณปี 2563 จากงบฯกลาง รายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ไม่เกิน 4.5 หมื่นล้านบาท และ เพิ่มเติมอีก 2.5 หมื่นล้านบาท รวม 7 หมื่นล้านบาท ในเดือน เม.ย.2563 และ 3.เงินกู้ตาม พ.ร.ก.อีก 1.7 แสนล้านบาท โดยจะเบิกจ่ายในเดือน พ.ค. 9 หมื่นล้านบาท และ เดือน มิ.ย.อีก 8 หมื่นล้านบาท

ขณะที่เมื่อวันที่ 30 เม.ย ที่ผ่านมา นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้ประชุมร่วมกับคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ โดยมอบนโยบายให้ว่า การออกหลักเกณฑ์เกี่ยวกับโครงการที่จะใช้เงินกู้ก้อน 4 แสนล้านบาท ควรเปิดกว้างให้หน่วยงานต่าง ๆ อาทิ กองทุนหมู่บ้าน มูลนิธิ เป็นต้น สามารถขอใช้เงินกู้ได้ โดยเน้นโครงการที่สร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศระดับท้องถิ่นเป็นสำคัญ ทั้งนี้ คาดว่าจะเสนอหลักเกณฑ์ให้ ครม.เห็นชอบได้ในเดือน พ.ค.นี้