เฟทโก้ชี้เป้าหุ้นไทยสิ้นปียืน 1,400 จุด หลังดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุนปรับขึ้น 42%

FETCO เผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (ก.ค.63) อยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว” โดยเพิ่มขึ้น 42% มาอยู่ที่ระดับ 80.40 มองเป้า SET ปีนี้ 1,400 จุด ระยะสั้นยังแกว่งตัวในกรอบแคบ หลังนักลงทุนยังกังวลโควิดระบาดรอบ 2 หวั่นการใช้ชีวิตแบบ New Normal จะมีผลกระทบต่อภาคธุรกิจมากน้อยขนาดไหน

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยในสิ้นปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 1,400 จุด หรือปรับตัวเพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับสถานการณ์ในปัจจุบัน มองว่าในระยะสั้นตลาดหุ้นไทยจะแกว่งตัวในกรอบแคบ เนื่องจากนักลงทุนยังมีความกังวลในเรื่องของการระบาดจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ครั้งใหญ่เป็นรอบที่ 2 จึงยังกังวลว่าจะมีมาตรการ Lockdown ทั้งประเทศในรอบที่ 2 ประกอบกับยังมีความไม่แน่นอนว่าการใช้ชีวิตแบบ New Normal จะมีผลกระทบต่อภาคธุรกิจมากน้อยขนาดไหน รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลว่าจะออกมาอย่างไร เนื่องจากในปัจจุบันเป็นเพียงมาตรการเยียวยาผลกระทบจากไวรัส

สำหรับความเสี่ยงที่ตลาดหุ้นไทยจะปรับตัวไปสู่ระดับ 969 จุดเหมือนในช่วงเดือนมี.ค.นั้นมีความเป็นไปได้น้อยมาก เนื่องจากตลาดหุ้นไทยได้ตอบรับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสไปแล้ว โดยช่วงต้นปีที่ผ่านมามาร์เก็ตแคปของตลาดหุ้นไทยลดลงไปแล้วกว่า 3.2 ล้านล้านบาท และกิจกรรมทางเศรษฐกิจ(จีดีพี) ปรับตัวลดลงกว่า 1 ล้านล้านบาท ซึ่งนักวิเคราะห์หลายแห่งได้ปรับลดคาดการณ์กำไรของบริษัทจดทะเบียนลงไป 30% ต่อจากนี้ภาพรวมของผู้ที่ติดเชื้อจะเริ่มเห็นสัญญาณที่ดีขึ้น รวมถึงมีปัจจัยหนุนจากการที่หลายๆ ประเทศใช้เม็ดเงินในอัตราส่วน 10-20% ของจีดีพี ช่วยเหลือเยียวยาเหตุการณ์จากการแพร่ระบาดในครั้งนี้

ส่วนกรณีที่บัญชีซื้อขายของนักลงทุนต่างประเทศตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันมีการขายสุทธิไปแล้ว 171,000 ล้านบาทนั้น มองว่าไม่มีความน่ากังวล เนื่องจากการขายดังกล่าวเป็นสัดส่วนของการใช้โปรแกรมซื้อขายของกองทุนต่างชาติ โดยเป็นการขายตามเทคนิคเพื่อให้การบริหารจัดการของกองทุน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 80% ส่วนที่เหลืออีก 20% นั้นเป็นนักลงทุนที่มองปัจจัยพื้นฐาน ถือเป็นกองทุนที่ลงทุนในระยะยาว

ทั้งนี้ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ในอีก 3 เดือนข้างหน้า (ก.ค.2563) พบว่าอยู่ในเกณฑ์ “ทรงตัว” (Neutral) (ช่วงค่าดัชนี 80 – 119) โดยเพิ่มขึ้น 42% มาอยู่ที่ระดับ 80.40
โดยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนกลุ่มนักลงทุนรายบุคคล บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ และกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ในโซนทรงตัว (Neutral) ซึ่งดัชนีความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศเพิ่มขึ้นเล็กน้อยแต่ยังอยู่ในโซนซบเซา

โดยผลสำรวจพบว่านักลงทุนคาดหวังนโยบายภาครัฐเป็นปัจจัยหนุนมากที่สุด รองลงมาคือการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศและการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว รวมถึงการค้นพบวัคซีนป้องกัน COVID-19 อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนเป็นปัจจัยฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด รองลงมาคือการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ และการไหลเข้า-ออกของเงินทุน รวมถึงความกังวลหาก COVID-19 เกิดการแพร่ระบาดรอบ 2

สำหรับทิศทางการลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า นักลงทุนคาดหวังนโยบายภาครัฐเป็นปัจจัยหนุนมากที่สุด และการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศและการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว รวมถึงการค้นพบวัคซีนป้องกัน COVID-19 สำหรับปัจจัยทางเศรษฐกิจโลกที่ต้องติดตามได้แก่ความคืบหน้าในการผลิตวัคซีนเชื้อไวรัสโควิด19 การระบาดรอบสองหลังหลายประเทศเริ่มทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown ภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลก รวมถึงความกังวลเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีนที่ต้องจับตามอง

สำหรับปัจจัยในประเทศที่ต้องติดตามคือ การประกาศผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 1 การออกมาตรการฟื้นฟูธุรกิจที่ได้รับผลกระทบของ COVID-19 โดยเฉพาะในกลุ่มการท่องเที่ยว และภาคการเกษตร รวมถึงการแก้ปัญหาตลาดแรงงานทั้งลูกจ้างชั่วคราว ผู้ประกอบอาชีพอิสระ และลูกจ้าง SMEs