ฟันด์โฟลว์กลับเข้าบอนด์เก็ง กนง. หั่นดอกเบี้ย 0.25%

“กองทุน-ต่างชาติ” เริ่มกลับเข้าซื้อบอนด์ เก็ง กนง.หั่นดอกเบี้ย 20 พ.ค.นี้ “TMB Analytics” ชี้มีโอกาสลดดอกเบี้ยนโยบายสูง เหตุสภาพคล่องระบบแบงก์สูง “เงินฝาก” ไตรมาสแรกพุ่งทะลุ 8 แสนล้านบาท แถมแนวโน้มเงินเฟ้อติดลบส่อเกิด “เงินฝืด” ฟาก “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” เชื่อลดดอกเบี้ยทำสถิติต่ำสุดครั้งใหม่ สศช.แถลงจีดีพี 18 พ.ค.นี้ จับตา Q1 หดตัว -5%

นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี (TMB Analytics) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (บอนด์ยีลด์) ของไทยปรับตัวลดลง โดยบอนด์ยีลด์อายุ 5 ปี อยู่ที่ 0.74% ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ปัจจุบันอยู่ที่ 0.75% ส่วนบอนด์ยีลด์อายุ 10 ปี ก็ลดลงมาอยู่ที่ 1.07% สะท้อนว่าตลาดคาดการณ์ว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) 20 พ.ค.นี้ จะมีการลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีก

ขณะเดียวกันในแง่กระแสเงินลงทุน (ฟันด์โฟลว์) ก็พบว่า นักลงทุนที่เป็นกองทุนและต่างชาติเริ่มกลับเข้ามาซื้อบอนด์ไทยกันมากขึ้น โดยตั้งแต่ต้นเดือน พ.ค. จนถึง ณ 15 พ.ค. 63 ฟันด์โฟลว์ไหลเข้าบอนด์ซื้อสุทธิแล้ว 8,766 ล้านบาท จากต้นปีที่ฟันด์โฟลว์ไหลออกไปสุทธิ 1.1 แสนล้านบาท ส่วนฟันด์โฟลว์ในส่วนของตลาดหุ้นยังคงไหลออกอยู่

“ตอนนี้ทั้งกองทุนไทยและต่างชาติกลับเข้ามาซื้อบอนด์ เพื่อรอดูว่าดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะลดลงหรือไม่ ก็คือเก็งว่า กนง.น่าจะลดดอกเบี้ยลงในวันที่ 20 พ.ค.นี้” นายนริศกล่าว

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีความเป็นไปได้มากที่ กนง.จะลดดอกเบี้ย เนื่องจากสภาพคล่องในระบบธนาคารพาณิชย์มีสูงมาก โดยเฉพาะเงินฝากตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน เพิ่มขึ้น 8-9 แสนล้านบาท นอกจากนี้ เมื่อมองไปข้างหน้า อัตราเงินเฟ้อของไทยน่าจะติดลบ จนมีโอกาสเกิดภาวะเงินฝืด ทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงอยู่ระดับที่สามารถลดลงได้

“ดังนั้น ถ้า กนง.ลดดอกเบี้ยนโยบายลงตอนนี้ จะเป็นแรงจูงใจ ส่งผ่านให้ธนาคารพาณิชย์ลดดอกเบี้ยเงินกู้ลงได้อีก เพื่อช่วยเหลือภาคครัวเรือนและธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19”

นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีแนวโน้มลดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงเพิ่มเติม โดยจะลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีก ทำจุดต่ำสุดครั้งใหม่ ซึ่งในไตรมาสนี้มีโอกาสที่จะลดดอกเบี้ยลงอีก 0.25% เพื่อประคองเศรษฐกิจ

นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวว่า วันที่ 18 พ.ค.นี้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) จะแถลงเศรษฐกิจไตรมาสแรกของปี 2563 ซึ่งจะออกมาติดลบแน่นอน ส่วนไตรมาสอื่น ๆ ที่เหลือ คาดการณ์ลำบากว่าเศรษฐกิจจะพลิกกลับมาดีขึ้น เพราะต้องรอดูสถานการณ์โควิด-19 เป็นหลัก

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลกล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรก อาจจะหดตัวถึง -5% ต่อปี ส่วนแนวโน้มไตรมาส 2 จะหดตัวลึกลงไปอีกถึง -10% ต่อปี