สัมภาษณ์พิเศษ
ธนาคารออมสิน แบงก์รัฐที่เป็น “แขนขา” สำคัญของรัฐบาลมาทุกยุค กำลังจะ “ผลัดใบ” เปลี่ยนผู้บริหารคนใหม่ในช่วงกลางเดือน มิ.ย.นี้ เนื่องจาก “ชาติชาย พยุหนาวีชัย” ผู้อำนวยการธนาคารคนปัจจุบัน ที่ทำงานมานานกว่าครึ่งทศวรรษ กำลังจะสิ้นสุดวาระที่ 2 ในวันที่ 14 มิ.ย.นี้ ท่ามกลางกระแสการเข้าไปนั่งเป็นกรรมการในบอร์ดรัฐวิสาหกิจและธุรกิจเอกชนหลายแห่ง ส่วนจะตัดสินใจอย่างไรนั้น “ประชาชาติธุรกิจ” ได้พูดคุยมานำเสนอ ดังต่อไปนี้
“โควิด-19” สร้างโจทย์ยาก
โดย “ชาติชาย” เล่าว่า ตั้งแต่เข้ามาทำงานที่ออมสิน ถึงปัจจุบันใกล้จะครบ 5 ปีครึ่ง การทำงานในช่วงสุดท้ายก่อนครบวาระ นับว่า “หนักที่สุด” และ “ยาก” อันเนื่องมาจากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งภารกิจที่ท้าทายส่วนหนึ่ง ก็คือ ต้องปล่อยสินเชื่อฉุกเฉินแก่ผู้ได้รับผลกระทบ แบ่งเป็น อาชีพอิสระกู้ได้ 1 หมื่นบาทต่อราย และผู้มีรายได้ประจำกู้ได้ 5 หมื่นบาทต่อราย วงเงินรวมกัน 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งต้องปล่อยสินเชื่อช่วยประชาชนกว่า 2.5 ล้านคน ภายในเวลา 2 เดือน
“ปกติแบงก์ปล่อยสินเชื่อรายย่อยเพียงปีละ 1 ล้านราย แต่ขณะนี้แบงก์ต้องทำกว่า 2.5 ล้านราย ภายในเวลา 2 เดือน แปลว่าเราต้องทำงานหนักกว่าปกติถึง 20 เท่า จาก 2 ปี เหลือ 2 เดือน จึงทำให้ธนาคารออมสิน และพนักงานทำงานหนักมากในช่วงนี้”
รวมถึงออมสินยังมีภารกิจปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) 1.5 แสนล้านบาท เพื่อช่วยเอสเอ็มอีให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ รวมถึงการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด ตามที่รัฐบาลได้มีมาตรการจ่ายเงินเยียวยา 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งธนาคารต้องดูแลตั้งแต่การเปิดบัญชี, ตรวจสอบสิทธิ และโอนเงินเข้าบัญชี
เขายังได้เปรียบเทียบวิกฤตโควิดกับสมัยต้มยำกุ้งว่า ผู้ได้รับผลกระทบรอบนี้จะหลากหลายกลุ่มมากกว่าเมื่อปี 2540 ที่ส่วนใหญ่จะเป็นความเดือดร้อนเฉพาะกลุ่ม
“โควิดทำให้วิถีชีวิตต้องปรับเปลี่ยน คนที่ไม่แข็งแรงก่อนหน้านี้จะยืนอยู่ไม่ได้ แต่ออมสินโชคดีที่สร้างฐานทุน วางภูมิคุ้มกันได้ดี เราจึงสามารถออกมาช่วยสังคมได้ด้วย ซึ่งไม่ใช่เพราะเป็นแบงก์รัฐ แต่เรามีการสร้างฐานที่มั่นคงมาตลอด ทุกช่วงเวลา ทำให้เรามีกองทุนแข็งแรง มีผลิตภัณฑ์ที่ดี มีวัฒนธรรมองค์กร มีพนักงานที่มีคุณภาพ สามารถปรับตัวได้เร็ว จึงทำให้เรายืนอยู่ได้”
เปลี่ยนผ่านสู่ New Normal
“ชาติชาย” บอกว่า ตลอดช่วง 100 ปีที่ผ่านมาของออมสิน ในช่วง 5 ปีหลัง ถือได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุด ทำให้ธนาคารแข็งแรง สามารถต่อสู้ทุกสิ่งได้ และสามารถช่วยเหลือประชาชนได้ โดยมาจากการที่ธนาคารได้ปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ เพื่อไม่ให้ถูกดิสรัปต์ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา มีการวางยุทธศาสตร์ 5 ปี สอดคล้องกับสิ่งที่กำลังเป็นไปในอนาคต เช่น การปรับตัวสู่ระบบดิจิทัลแบงกิ้งมากขึ้น เป็นต้น
“ดิจิทัลแบงกิ้งก็จะยิ่งเร็วขึ้น โดยช่วงโควิด-19 เป็นบททดสอบ เนื่องจากในอนาคตวิถีชีวิตจะเปลี่ยน (new normal) รูปแบบการทำธุรกรรมไม่จำเป็นต้องเดินทางมาที่สาขาธนาคาร อย่างช่วงที่เปิดให้ลงทะเบียนเงินกู้ฉุกเฉิน ธนาคารก็เปิดให้ลงทะเบียนผ่านออนไลน์ โดยในอนาคตไม่จำเป็นต้องเดินทางมาที่สาขาธนาคารเลย หากระบบการตรวจสอบสามารถทำได้หมด ทั้งการตรวจสอบตัวตน และตรวจเช็กสถานะเครดิตบูโร”
โชว์ผลงาน 5 ปีพลิกโฉมออมสิน
เมื่อย้อนกลับไปช่วงกว่า 5 ปี บนเก้าอี้ผู้อำนวยการออมสิน “ชาติชาย” บอกว่า เป็นช่วง 5 ปีที่สร้างการเปลี่ยนแปลงให้แก่ธนาคารค่อนข้างมาก ทั้งการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้ทันสมัย มีโมบายแบงกิ้ง และอีกหลาย ๆ อย่างที่เรียกได้ว่า “ล้ำหน้า” ธนาคารพาณิชย์ด้วย เทียบกับในอดีตที่ออมสินจะค่อนข้างล้าสมัย
“ขณะนี้ออมสินเป็นผู้นำในหลาย ๆ อย่าง เช่น โมบายแบงกิ้ง สามารถซื้อกองทุนได้ ทำประกัน โอนเงินได้ โดยเรามีธุรกรรมผ่านแอป MyMo ที่เติบโตขึ้นจากศูนย์ ปัจจุบันมีลูกค้ากว่า 9 ล้านคนแล้ว นอกจากนี้ เรายังมีการปรับภาพลักษณ์องค์กร ที่คนมองว่าเป็นธนาคารเด็ก มีแต่กระปุกออมสิน แต่ปัจจุบันลูกค้าของเรา คือทุกกลุ่ม ตั้งแต่เด็กยันผู้สูงอายุ ตั้งแต่ธุรกิจขนาดเล็ก พ่อค้า แม่ค้า ยันธุรกิจระดับชาติ และด้วยภาพลักษณ์การเป็นธนาคารเพื่อสังคม จึงทำให้ธนาคารเป็นที่รักของทุกคน ซึ่งประชาชนสัมผัสได้”
นอกจากนี้ ยังพัฒนาจุดขายที่หลากหลาย มี direct sales มากขึ้น ไม่ใช่ตั้งรับลูกค้าอย่างเดียว โดยออมสินมีสาขามากที่สุด มีสินเชื่อและเงินฝากเป็นอันดับ 1 ขยับขึ้นมาจากที่ 4-5 ปีก่อนยังอยู่อันดับ 5 โดยปัจจุบันประชาชนเปิดบัญชีกับออมสินกว่า 22 ล้านบัญชี มีเงินฝากกว่า 2.4 ล้านล้านบาท สินเชื่อเกือบ 2.2 ล้านล้านบาท
“เราเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งภาพลักษณ์ ธุรกรรม ขนาด และจำนวนลูกค้าใหม่ที่เกิดขึ้น จึงทำให้ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา เราก้าวกระโดดในทุก ๆ มิติ และพนักงานมีความทันสมัยมากขึ้น พนักงานออมสินอายุเฉลี่ยเพียง 37 ปี และมีคนอายุต่ำกว่า 30 ปี กว่า 55% ดังนั้น ภาพลักษณ์องค์กรของเรา จึงดูเด็กมากขึ้น ทำให้ในช่วง 5 ปีนี้ มีกลุ่มเด็กและวัยรุ่นเข้ามาเป็นลูกค้าธนาคารออมสิน เพิ่มเข้ามาไม่ต่ำกว่า 4 ล้านคน เพราะคนรุ่นใหม่ยอมรับว่า เราเป็นธนาคารที่ทันสมัย”
พร้อมลุยงานช่วยสังคม
ส่วนสิ่งที่จะทำหลังเกษียณนั้น “ชาติชาย” บอกว่า ตนยังไม่หมดไฟในการทำงาน โดยที่ผ่านมาก็ได้รับการชักชวนไปเป็นคณะกรรมการ (บอร์ด) ทั้งในบริษัทเอกชนและรัฐวิสาหกิจหลายแห่ง ซึ่งตนก็พร้อม เพื่อช่วยเหลือสังคม ส่วนกรณีมีกระแสข่าวเรื่องบอร์ด บมจ.การบินไทยนั้น ต้องขึ้นกับทางกระทรวงคมนาคมและกระทรวงการคลัง ว่าจะเสนอชื่อใครเพิ่มเติม แทนตำแหน่งกรรมการที่ว่างอยู่ แต่ตอนนี้ตนยังไม่ได้รับการติดต่อเข้ามา