ตะลุมบอนเงินกู้ 4 แสนล้าน 3.1 หมื่นโครงการชิง-มหาดไทยสูงสุด

แผนงาน โครงการ ที่รัฐบาลกำลังเร่งขับเคลื่อนผลักดันตามกรอบวงเงินฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 400,000 ล้านบาท ภายใต้บัญชีท้ายพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 พ.ศ. 2563 วงเงินไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท กำลังถูกจับตามองจากสาธารณชน เพราะแม้กรอบนโยบายจะกำหนดหลักการเน้นการฟื้นฟูและสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศหลังโควิด-19 แต่ทันทีที่สำนักงานคณะกรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดให้ยื่นเสนอโครงการก่อนพิจารณาจัดสรรวงเงินให้ ปรากฏว่าหน่วยงานรัฐแข่งกันนำเสนอแผนงาน โครงการฝุ่นตลบ

คาดยื่นของบฯทะลุ 8 แสนล้าน

ล่าสุดวันที่ 9 มิ.ย. มีการยื่นคำขอแล้วกว่า 31,801 โครงการ รวมวงเงิน 783,348 ล้านบาท มากกว่ากรอบวงเงินที่กำหนดไว้เกือบ 2 เท่าตัว ในจำนวนนี้เป็นโครงการภายใต้แผนงานการลงทุนและกิจกรรมการพัฒนาที่สามารถพลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อาทิ ยกระดับการค้า การผลิต ภาคเกษตร อุตสาหกรรม การค้า ลงทุน ท่องเที่ยวและบริการ 164 โครงการ วงเงิน 284,302 ล้านบาท

แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน สร้างงาน สร้างรายได้ 31,345 โครงการ 416,149 ล้านบาท แผนงาน สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานสนับสนุนกระบวนการผลิต 292 โครงการ 82,869 ล้านบาท ส่วนแผนงานส่งเสริมและกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือนและเอกชน ไม่มีการยื่นขอ

สารพัดหน่วยงานรุมแจม

จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า แผนงาน โครงการที่เสนอขอใช้งบฯเงินกู้มีหลากหลายประเภท ทั้งกระทรวง ทบวง กรม ตั้งแต่หลักสิบล้านบาท จนถึงหลักร้อยล้านพันล้านบาท โดยหน่วยงานที่ยื่นเสนอโครงการสูงสุดคือ กระทรวงมหาดไทย ทั้งในส่วนของกรมที่ดิน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จังหวัด นอกนั้นมีกระทรวงวัฒนธรรม อุตสาหกรรม ทรัพยากรธรรมชาติฯ คมนาคม เกษตรฯ การท่องเที่ยวและกีฬา พลังงาน เป็นต้น

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สศช. ในฐานะประธานคณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้ กล่าวว่า จะเสนอโครงการที่ผ่านการกลั่นกรองแล้วลอตแรกให้ ครม.เห็นชอบได้ 7 ก.ค. โดยช่วงวันที่ 5-15 มิ.ย.นี้ คณะทำงานจะตรวจสอบรายละเอียดโครงการเบื้องต้น พร้อมเปิดให้ประชาชนเข้าไปตรวจสอบรายละเอียดโครงการผ่านเว็บไซต์ ThaiMe

คมนาคมดัน “แบริเออร์ยางพารา” 4 หมื่นล้าน

ด้านกระทรวงคมนาคมซึ่งจัดเต็มโปรเจ็กต์ส่งเข้าประกวด ล่าสุดเสนอ 669 โครงการ นอกจากโครงการ “ซ่อมสร้างถนน” ล่าสุดยังเสนอโครงการ “แบริเออร์ยางพาราและเสาหลักนำทางยางพารา” เข้าไปด้วย

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า กระทรวงนำโครงการจัดทำกำแพงคอนกรีตหุ้มยางพาราที่สร้างบนเกาะกลางถนนและเสาหลักนำทาง เสนอของบฯเงินกู้ ดำเนินการในปี 2563-2564 วงเงิน 40,000 ล้านบาท แยกเป็นกรมทางหลวง 36,000 ล้านบาท กรมทางหลวงชนบท 4,000-5,000 ล้านบาท

“โครงการที่เสนอตรงวัตถุประสงค์กระตุ้นเศรษฐกิจ ช่วยเหลือเกษตรกร ประโยชน์ 2 ด้าน คือ ความปลอดภัยผู้ใช้ทาง และช่วยชาวสวนยาง จะซื้อตรงจากสหกรณ์ทำให้ราคายางสูงขึ้น”

สภาตั้ง กมธ.ตรวจสอบใช้เงินกู้

ขณะที่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อ 11 มิ.ย.ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบการที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญติดตาม และตรวจสอบการใช้งบประมาณตาม พ.ร.ก.กู้เงินฯ 1 ล้านล้านบาท โดยเสียงส่วนใหญ่อภิปรายสนับสนุนท่วมท้น โดยตั้ง กมธ.วิสามัญติดตามฯ 49 คน กรอบเวลาพิจารณา 120 วัน

ผุดโครงการดูบอล-เที่ยวสวนน้ำ

ก่อนมีการตั้ง กมธ. มีการพิจารณาการใช้งบฯเงินกู้ดังกล่าว ได้เปิดให้ ส.ส.ได้อภิปรายกันอย่างกว้างขวาง อาทิ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า เพียงแค่วันที่ 9 มิ.ย. งบฯเงินกู้ 4 แสนล้านบาท มีการเสนอโครงการมากว่า 38,000 โครงการ 7.83 แสนล้านบาท เกินวงเงินกู้เกือบเท่าตัว มีทุกรูปแบบ แม้แต่ขอซื้อโทรทัศน์ 3 หมื่นกว่าบาทก็มี บางโครงการขอเงินทำป้ายปรับภูมิทัศน์ที่จังหวัดกับผู้รับเหมาอาจตกลงกันไว้แล้ว ไม่ใช่จ้างงานตามวัตถุประสงค์

ขณะที่ นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคก้าวไกล กล่าวว่า หลายโครงการที่เสนอใช้เงินกู้ไม่ได้ตั้งฐานคิดฟื้นฟูเศรษฐกิจ แต่เป็นโครงการที่พิมพ์คำว่าโควิด-19 เข้าไปจะตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ คณะกรรมการจะกลั่นกรองกว่า 30,000 โครงการอย่างไร กล้าตัดสินใจหรือไม่ เช่น โครงการกระทรวงกลาโหมกับท้องถิ่นทั่วไป หรือโครงการของคณะกรรมการอีอีซี โครงการไทยเที่ยวไทยไปอีอีซี ฯลฯ

ต้องจ้างคน ไม่ใช่จ้างผู้รับเหมา

ด้าน นายเกียรติ สิทธีอมร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ มองว่า เป้าหมายถ้าเป็นการแก้วิกฤต 1 ต้องเลิกจ้างคนน้อยที่สุด เสียหายน้อยที่สุด และฟื้นฟูเร็วที่สุด แล้วแต่กลุ่มธุรกิจ ดังนั้นถ้าดูจาก 3 หมื่นโครงการ ในงบฯเงิน 4 แสนล้านบาท ไม่ตอบโจทย์ที่ตั้งไว้ ทั้งที่เป้าหมายต้องจ้างงาน พัฒนาท้องถิ่น โดยจ้างคนไม่ใช่จ้างผู้รับเหมา ต้องจ้างคนที่ไม่มีงานทำ ต้องคิดให้ดี เงินก้อนนี้เป็นภาระของทุกคน ผมไม่สบายใจมาก 50% ตอบโจทย์ แต่ต้อง 100%

ชงเปิดเว็บคู่ขนานสภาพัฒน์

ขณะที่ “พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์” ส.ส.พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ใน กมธ.จะต้องมีการแบ่งอนุ กมธ. 3 ชุด คอยติดตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้าน พ.ร.ก.ซอฟต์โลน และ พ.ร.ก.ตั้งกองทุนอุ้มหุ้นกู้ และจะเสนอให้ทำดิจิทัลแพลตฟอร์ม ให้หน่วยงานต่าง ๆ ส่งข้อมูลเข้ามา คู่ขนานกับเว็บไซต์ Thaime ของสภาพัฒน์ ทั้งนี้ เท่าที่ตรวจสอบโครงการที่เสนอเข้ามายังสภาพัฒน์ ส่วนหนึ่งเป็นโครงการที่ถูกโอนงบประมาณ 2563 และงบฯปี’64 และเป็นแนวคิดโครงการจากปี’62 และปี’63 เป็นความคิดแบบเดิม ซึ่งใช้ไม่ได้แล้ว จะให้ ส.ส.พื้นที่ในต่างจังหวัดไปดูรายละเอียดในต่างจังหวัดว่า โครงการเป็นอย่างไร ประชาชนต้องการหรือไม่ เพราะโครงการที่เสนอมาส่วนมากเป็นของกระทรวงมหาดไทย จำนวน 1.6 หมื่นโครงการ ที่ผ่านจังหวัด

จับตากลไกจังหวัดขอใช้เงินกู้

ขณะที่แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่า การขอใช้วงเงินกู้ภายใต้กรอบ 4 แสนล้านบาท ที่มีการใช้กลไกการบูรณาการระดับจังหวัด ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับของกระทรวงมหาดไทย ที่มีการเสนอขอใช้เงินกู้เข้ามาหลายแสนล้านบาท ดูแล้วค่อนข้างน่าจะจับตาว่า การใช้จ่ายเงินจะดำเนินการอย่างตรงไปตรงมาหรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมามีกระแสข่าวการจัดสรรเงินกู้ให้ ส.ส.นำไปใช้ลงพื้นที่ คนละ 80 ล้านบาท แม้มีการปฏิเสธ แต่สาธารณชนต้องช่วยตรวจสอบ ติดตาม ป้องกันการใช้จ่ายอย่างไม่คุ้มค่า หรือทุจริตรั่วไหล