ภาคเอกชนเสนอแบงก์ขยายเวลาพักชำระหนี้ SMEs เป็น 2 ปี หวังต่อลมหายใจ

เอกชนเสนอแบงก์ขยายเวลาพักชำระหนี้เอสเอ็มอีออกไปเป็น 2 ปี จากเดิม 6 เดือน หวังต่อลมหายใจผู้ประกอบการ สมาคมแบงก์รอดูมาตรการพักเงินต้น-ดอกเบี้ย ก่อนเตรียมช่วยเหลือลูกหนี้เฟส 2 ต่อเนื่อง ฟากหอการค้าห่วงว่างงานสูง-หนี้เสียเพิ่ม เปิดคลายล็อกเฟส 5 เสี่ยงสูงต้องระวัง เผยอยากได้ทีมเศรษฐกิจที่มีความรู้ความสามารถ เคลื่่อนเศรษฐกิจไม่ติดขัด

นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) ซึ่งประกอบด้วยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ว่า การช่วยเหลือลูกหนี้เฟส 2 คงต้องรอดูสถานการณ์ในการช่วยเหลือผ่านมาตรการพักเงินต้นและดอกเบี้ยก่อน ซึ่งดูว่าความพร้อมของความสามารถในการชำระหนี้ของแต่ละคนมีมากน้อยอย่างไร ซึ่งถ้ายังไม่ชำระก็อาจจะต้องมีการขยายมาตรการออกไปทั้งระยะสั้นและระยะยาว แม้ว่าจะยิ่งมีความเสี่ยงให้เกิดหนี้เสีย(NPL) แต่ด้วยสภาพความเป็นจริงแล้ว คนไม่มีเงินชำระก็ไม่มีจริงๆ ซึ่งภาวะตอนนี้ไม่ใช่ภาวะปกติ แต่เกิดผลกระทบขึ้นทั่วโลก ไม่เหมือนช่วงปี 2540 ที่ภาคส่งออกฟื้นตัว เราผลิตและมีคนซื้อ แต่ตอนนี้ทั่วโลกประสบปัญหาเหมือนกันหมด บางประเทศรุนแรงกว่าเราด้วยซ้ำ

โดยปัจจุบันจำนวนลูกหนี้กว่า 16 ล้านรายที่เข้าโครงการพักชำระหนี้ เม็ดเงินก้อนใหญ่กว่า 6.84 ล้านล้านบาทนั้น ก็ยังตอบยากว่าจะช่วยเหลือเฟส 2 ได้กี่ราย เพราะวันนี้แบงก์พยายามติดต่อลูกค้าทุกวัน และเหตุการณ์นี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน มาตรการพักเงินต้นและดอกเบี้ยก็เพิ่งทำกันครั้งแรก ฉะนั้นคงต้องใช้เวลาที่ลูกค้าจะมาชำระหนี้ได้ ซึ่งจะให้เข้ามาชำระสักครึ่งหนึ่งได้ตอนนี้ยังคาดเดาลำบากมาก


นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า สำหรับมาตรการให้ความช่วยเหลือด้านการเงิน SME โดยจัดตั้งกองทุน 50,000 ล้านบาท โดย สสว. เป็นผู้จัดตั้งกองทุนนั้นถือเป็นกองทุนที่ดีที่จะช่วยเหลือเอสเอ็มอีได้ แต่มาตรการซอฟต์โลนของแบงก์ชาติวงเงิน 5 แสนล้านบาท ซึ่งปัจจุบันปล่อยออกไปไม่ถึง 1 แสนล้านบาท เป็นประเด็นที่เราพยายามหารือว่าจะแก้ไขอย่างไร เนื่องจากออกเป็น พ.ร.ก.มาแล้ว การนำไปใช้ทำได้ลำบาก จึงได้นำเสนอว่าควรจะใช้ บสย.มาค้ำประกันหลังจากครบ 2 ปี เพื่อเป็นการเสริมสภาพคล่องกับเอสเอ็มอี เพราะว่าหลังจากนี้ผู้ประกอบการคงจะชำระครบ 2 ปีได้ลำบาก เนื่องจากแนวโน้มโควิดยังมีการขยายไม่หยุด แพร่ระบาดในต่างประเทศค่อนข้างมาก อาจจะไม่สามารถควบคุมได้ ฉะนั้นโอกาสที่แบงก์ควรจะต้องเลื่อนชำระดอกเบี้ยหรือมีมาตรการออกมาช่วยเหลือต้องทำอย่างต่อเนื่องด้วย เพื่อให้ผู้ประกอบการมีสภาพคล่อง ซึ่งจะช่วยถึงการจ้างงาน เพราะการจ้างงานอยู่ในผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมากกว่า 10 ล้านคน

ฉะนั้นภาคเอกชนต้องการให้สถาบันการเงินขยายระยะเวลาพักชำระหนี้ออกไปเป็นเวลา 2 ปี จากปัจจุบันผ่อนปรนให้เป็นเวลา 6 เดือน ที่จะสิ้นสุดลงในเดือน ก.ย.นี้ เพื่อช่วยต่อลมหายใจให้ผู้ประกอบการ เพราะในระยะต่อไปน่าเป็นห่วงว่าหากมาตรการช่วยเหลือด้านการเงินในกลุ่มต่างๆ สิ้นสุดลง แต่ผู้ประกอบการยังไม่ฟื้นกลับมาสู่ภาวะปกติได้ จะทำให้เกิดปัญหาการว่างงานสูงขึ้นอีก และภาครัฐจะทำอย่างไรให้เม็ดเงินจากแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมวงเงิน 4 แสนล้านบาท เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้หลายๆ รอบ

“แม้ภาครัฐจะคลายล็อคระยะที่ 5 แต่ต่างประเทศยังไม่สามารถกลับมาได้เป็นปกติเหมือนก่อนโควิด-19 จึงไม่อยากให้ทุกฝ่ายตื่นตระหนกเรื่องการติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศรายวัน จนไม่สามารถปลดล็อคประเทศได้ เพราะภาคเอกชนไม่อยากให้มีการล็อคดาวน์เกิดขึ้นรอบ 2″ นายสุพันธุ์ กล่าว

นายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หลังจากนี้การว่างงานอาจจะสูงขึ้นๆ ซึ่งทาง กกร.กำลังพิจารณาว่าจะมีการสร้างงานเพิ่มเติมอย่างไรได้บ้าง ขณะเดียวกันหนี้เสียที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) ก็เพิ่มสูงขึ้นด้วย ภาครัฐก็หาแนวทางช่วยเหลือกิจการต่างๆ ที่คลายล็อกไปแล้วแต่ยังไม่มีลูกค้าเข้ามาใช้บริการ ซึ่งปัจจุบันคลายล็อกสู่ระยะที่ 5 แล้ว ถือเป็นความเสี่ยงสูงสุด จึงต้องระวัง และหวังว่าจะไม่กลับมาสู่ระลอก 2 ซึ่งถ้ากลับมาก็ขอให้ควบคุมได้ จึงต้องช่วยกัน

“ตอนนี้เรื่องการเมืองก็เป็นประเด็น โดยเฉพาะทีมเศรษฐกิจ ทาง กกร.เป็นห่วงเรื่องเศรษฐกิจมากๆ ฉะนั้นคนที่จะมาดูแลเศรษฐกิจต้องเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถ ที่จะเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไปได้ไม่ติดขัด ขณะเดียวกันก็สามารถดูแลฝั่งประชาชนได้ดีด้วย” นายกลินท์กล่าว