วินาศภัยแข่งขายประกันสุขภาพ “เพิ่มคุ้มครอง-วงเงิน-ค่าเบี้ย”หนุนหักภาษี

3 ค่ายประกันภัย ลุยขาย “โปรดักต์สุขภาพ” งัดลูกเล่น”เพิ่มคุ้มครอง-วงเงิน-ค่าเบี้ย” เจาะกลุ่มลูกค้ารายได้ปานกลางหนุนใช้สิทธิลดหย่อนภาษี 1.5 หมื่นบาท คปภ.เผยหลายบริษัทประกัน ยื่นขอออกโปรดักต์ใหม่

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ภายหลังรัฐบาลมีมติเห็นชอบนำเบี้ยประกันสุขภาพหักลดหย่อนภาษีในวงเงินสูงสุดไม่เกิน 1.5 หมื่นบาท เพิ่มแรงจูงใจให้คนหันมาทำประกันสุขภาพมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางถึงล่าง และที่สำคัญจะเห็นบริษัทประกันภัยเริ่มออกโปรดักต์สุขภาพออกมาแข่งขันมากขึ้น โดยเฉพาะความหลากหลาย เช่น เพิ่มความคุ้มครอง

ขณะที่หลายบริษัทประกันได้ยื่นขออนุมัติการออกประกันสุขภาพกับ คปภ. เนื่องจากช่วงไตรมาส 4/60 เป็นช่วงที่ประชาชนมองหาประกันชีวิตไปช่วยหักลดหย่อนภาษี ซึ่งปีนี้ได้เพิ่มการหักลดหย่อนสำหรับเบี้ยประกันสุขภาพด้วย

สุทธิพล ทวีชัยการ

“เรามองว่า จะส่งผลให้เบี้ยประกันสุขภาพเติบโตได้มากขึ้น เพราะปัจจุบันเบี้ยประกันสุขภาพฝั่งประกันวินาศภัยมีสัดส่วนเพียง 20% ของเบี้ยรวม ขณะที่ฝั่งประกันชีวิตมีสัดส่วน 80% ประกอบกับอัตราการถือครองกรมธรรม์จากเดิม 37% เพิ่มขึ้นเป็น 50% ในปี 2563” นายสุทธิพลกล่าว

นายอานนท์ โอภาสพิมลธรรม กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ศรีอยุธยา เจนเนอรัล ประกันภัย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทกำลังพิจารณาออกกรมธรรม์ (โปรดักต์) “ประกันสุขภาพ” เพื่อตอบโจทย์กลุ่มผู้เสียภาษี โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่ยังใช้สิทธิ์ซื้อประกันไม่ครบ 1 แสนบาท ซึ่งในเบื้องต้นจะพยายามดีไซน์ให้แตกต่างจากโปรดักต์ประกันสุขภาพแบบเดิม ๆ และขณะนี้อยู่ระหว่างกำหนดระดับความคุ้มครองและราคาเบี้ยหลายระดับ หลังจากนั้นจะต้องยื่นขอ คปภ. ต่อไป

Advertisment

“เทรนด์สังคมในปัจจุบัน ทำให้บริษัทพยายามบริการลูกค้าที่มีความต้องการซื้อประกันสุขภาพมากขึ้น โดยจะเน้นเสนอขายลูกค้าเก่าในทุกช่องทางการขาย ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้พอร์ตเบี้ยประกันเพิ่มขึ้นแน่นอน โดยจะไม่ลงไปแข่งขันในตลาดมากนัก” นายอานนท์กล่าว

นายประสิทธิ์ชัย สุนทราภิรมย์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ประกันสุขภาพแต่ละบริษัทจะมีลูกเล่นแตกต่างกัน ซึ่งที่ผ่านมาจะจำกัดค่าหมอ ค่าห้อง และค่ายา แต่ปัจจุบันอาจจะเห็นประกันสุขภาพตัวใหม่ที่เน้นวงเงินความคุ้มครอง (วอลุ่ม) รวม หมายความว่าใช้ผลิตภัณฑ์ตัวไหนเท่าไรก็ได้ แต่อยู่ในวอลุ่มของทุนประกันตัวนั้น ซึ่งหลังจากที่รัฐบาลประกาศให้สามารถนำเบี้ยประกันสุขภาพมาหักลดหย่อนภาษีในวงเงินสูงสุดไม่เกิน 1.5 หมื่นบาท บริษัทจะใช้จังหวะช่วงนี้ในการออกประกันสุขภาพตัวใหม่ เพื่อเพิ่มยอดขายช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้

ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย. 60) บริษัททิพยประกันภัย มีเบี้ยสุขภาพอยู่ที่ 163 ล้านบาท ส่วนแบ่งตลาดประมาณ 3.57%

ส่วนนายพีระพัฒน์ เมฆสิงห์รวี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ธนชาตประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมา บริษัทไม่เคยเข้าไปเสนอขายโปรดักต์ประกันสุขภาพมาก่อน แต่ด้วยเทรนด์สังคมทำให้บริษัทต้องรุกเข้าไปมีส่วนร่วม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาแบบประกันสุขภาพ และคาดว่าจะเริ่มเปิดตัวได้ในปี 2561 โดยที่ผ่านมาบริษัทเคยมีประกันอุบัติเหตุพ่วงสุขภาพ แต่ยังไม่มีประกันสุขภาพแบบเดี่ยว

Advertisment

“ภาครัฐมีมาตรการออกมาช่วยกระตุ้น ทำให้บริษัทประกันสามารถเข้ามาดูแลความคุ้มครองลูกค้าได้มากขึ้น โดยเฉพาะการขายประกันสุขภาพผ่านกลไกในส่วนธุรกิจประกันวินาศภัยที่สามารถออกกรมธรรม์หลักได้เลย จะทำให้ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้ากลุ่ม mass มากกว่าในส่วนธุรกิจประกันชีวิต” นายพีระพัฒน์กล่าว