ประกันแข่งดึงลูกค้ายูนิตลิงก์ เพิ่มออปชั่นลงทุนกอง”บอนด์-ทอง-รีท”

ธุรกิจประกันชีวิตแข่งดูดลูกค้าซื้อเบี้ย “ยูนิตลิงก์” ครึ่งปีหลังรุกหนักเพิ่มกองทุนรวมในกรมธรรม์ล่อใจ “ไทยประกันชีวิต” จ่อเพิ่ม “กองบอนด์ใหม่-กองผสม-กอง FIF” ช่วยลูกค้ามีทางเลือกกระจายการลงทุนลดความเสี่ยง ดึงระบบ “fund connext” ของ ตลท.มาใช้รองรับการขยายตัว ฟาก “โตเกียวมารีนประกันชีวิต” นำเสนอกองทุน “ทองคำ-รีท” ส.ค.นี้ ด้าน “เมืองไทยประกันชีวิต” เปิดตัวเพิ่ม 3 กองทุนไปเมื่อเร็ว ๆ นี้

นางวรางค์ ไชยวรรณ กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส บมจ.ไทยประกันชีวิต เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ”ว่า ช่วงครึ่งปีหลังนี้บริษัทมีแผนจะเพิ่มกองทุนรวมคุณภาพจากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ชั้นนำ ในกรมธรรม์ประกันชีวิตควบการลงทุน (ยูนิตลิงก์) โดยเฉพาะกองทุนรวมตราสารหนี้ที่จะมาทดแทนกองทุนเดิมของ บลจ.ทหารไทย (TMBAM Eastspring) ที่ถูกปิดไปก่อนหน้านี้ รวมถึงยังจะเพิ่มกองทุนรวมผสม และกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (FIF) ที่มีศักยภาพสูง เพื่อเพิ่มจำนวนและประเภทของกองทุนให้ลูกค้าพิจารณากระจายการลงทุนได้หลากหลายขึ้น ภายใต้ความเสี่ยงที่ยอมรับได้และรับผลตอบแทนที่มั่นคง

“การขยายตลาดของผลิตภัณฑ์ยูนิตลิงก์ในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ถือเป็นช่วงที่เหมาะสม เนื่องจากเป็นสินค้าคุ้มครองชีวิตและลงทุนในระยะยาว ซึ่งสามารถรองรับต่อความผันผวนของตลาดเงินได้ ขณะเดียวกัน บริษัทได้เตรียมความพร้อมโดยการนำระบบงาน fund connext ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เข้ามาใช้เพื่อรองรับการขยายตัว และพัฒนาเครื่องมือต่าง ๆ ที่จะช่วยสนับสนุนให้ทั้งตัวแทนและลูกค้าได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง และมีความสะดวกในการลงทุนมากยิ่งขึ้น โดยระบบดังกล่าวสามารถต่อยอดให้ทำการซื้อขายยูนิตลิงก์ผ่านแอปพลิเคชั่นของบริษัทได้ในอนาคตอีกด้วย” นางวรางค์กล่าว

ทั้งนี้ ช่วง 6 เดือนแรกสินค้ายูนิตลิงก์ของไทยประกันชีวิตมีอัตราการเติบโตสูงถึง 129.4% จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยจำนวนกรมธรรม์เพิ่มขึ้น 1.5%

ส่วนผลกระทบจากที่ บลจ.ทหารไทยมีการปิดกองทุนรวมตราสารหนี้ไปเมื่อช่วงที่โควิด-19 กระทบตลาดตราสารหนี้แรง ๆ นั้น นางวรางค์กล่าวว่า ก็มีลูกค้าไทยประกันชีวิตที่เลือกลงทุนในกองทุนดังกล่าวได้รับผลกระทบแต่มีจำนวนไม่มาก เนื่องจากลูกค้าที่ลงทุนในกองทุนภายใต้แบบประกันยูนิตลิงก์จะมีการกระจายการลงทุนในกองทุนต่าง ๆ ซึ่งมีมากกว่า 15 กอง จาก 3 บลจ.

“กระทบไม่มาก โดยบริษัทเราก็มีกระบวนการดำเนินการดูแลลูกค้ากลุ่มดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ลูกค้าได้รับผลกระทบน้อยที่สุด” นางวรางค์กล่าว

นางสาวยุวดี เฉลิมศรีภิญโญรัช รองกรรมการผู้จัดการสายงานบริหารการเงิน บมจ.โตเกียวมารีนประกันชีวิตกล่าวว่า ครึ่งปีหลังนี้บริษัทเตรียมพร้อมบุกตลาดยูนิตลิงก์เต็มตัว หลังจากได้เปิดทดสอบภายใน (soft launch) กับทั้งพนักงานและตัวแทนไปแล้วตั้งแต่ปลายปี 2562 ซึ่งปัจจุบันมีตัวแทนที่ได้รับใบอนุญาตลงทุนแล้วทั้งหมด 40-50 คน

โดยปัจจุบันบริษัทมีกองทุนรวมให้ลูกค้าเลือกอยู่ทั้งหมด 10 กอง และประมาณช่วงเดือน ส.ค.นี้จะเพิ่มกองทุนเข้าไปอีก 2 กองคือ กองทุนทองคำ และกองทุนอินฟราสตรักเจอร์ฟันด์ เพื่อเป็นทางเลือกให้ลูกค้าช่วงตลาดผันผวน ทั้งนี้ คาดว่าสิ้นปีจะมีเบี้ยรับจากผลิตภัณฑ์ยูนิตลิงก์ราว 5% ของเบี้ยรวมที่ตั้งเป้าไว้ที่ 8,427 ล้านบาท เติบโต 15% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน

“ช่วงปลายไตรมาส 3 บริษัทมีแผนออกสัญญาเพิ่มเติมสุขภาพและโรคร้ายแรง (เบี้ยประกันคงที่) ที่จะมาเสริมในผลิตภัณฑ์ยูนิตลิงก์ของบริษัท โดยปีนี้เป็นจุดพลิกผันหลายจุด ทำให้เป้าเบี้ยรับของยูนิตลิงก์อาจจะไม่ง่าย แต่ปีหน้าน่าจะเป็นไปได้” นางสาวยุวดีกล่าว

นอกจากนี้ เมื่อเร็ว ๆ นี้ บมจ.เมืองไทยประกันชีวิตก็ได้เพิ่มกองทุนใหม่ 3 กองภายในใต้แบบประกันยูนิตลิงก์ประกอบด้วย 1.กองทุนเปิด แอล เอช โกลบอล อิควิตี้ ชนิดสะสมมูลค่า (LHGEQ-A) มีนโยบายกระจายลงทุนทั่วโลกผ่านการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน และมีการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน 2.กองทุนเปิดทหารไทย SET 50 (TMB 50) เน้นลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนให้ใกล้เคียงกับดัชนี SET 50 ให้มากที่สุด โดยใช้กลยุทธ์การบริหารกองทุนเชิงรับ และ 3.กองทุนเปิดทีเอ็มบี อีสท์สปริง พร็อพเพอร์ตี้ แอนด์ อินฟราสตรัคเจอร์ อินคัม พลัส เฟล็กซิเบิ้ล (TMBPIPF) ลงทุนในหลักทรัพย์หรือตราสารที่อยู่ในหมวดธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่จดทะเบียนทั้งในและต่างประเทศ