“โควิด” ตัวเร่งดิจิทัลเพย์เม้นต์ ธปท. ลุยยกระดับสังคมไร้เงินสด

บริการ “พร้อมเพย์” ถือเป็นตัวเบิกทางสำคัญ “ระบบการชำระเงินไทย” ในการก้าวเข้าสู่สังคมไร้เงินสด (cashless society) แม้ว่าช่วงแรกกระแสความนิยมยังไม่มากนัก แต่เริ่มเห็นพัฒนามากขึ้นเมื่อเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อยู่ระหว่างต่อยอดตามโรดแมป “ดิจิทัลเพย์เมนต์” ส่วนความคืบหน้า และทิศทางข้างหน้าจะเดินต่อไปอย่างไร “สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา” ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธปท. ที่เป็นหัวหอกคนสำคัญ จะมาเล่าให้ฟัง


“โควิด” ดันพร้อมเพย์พุ่ง

โดย “สิริธิดา” เริ่มจากฉายภาพให้ฟังว่า ในช่วงโควิด-19 ระบาด ทำให้พร้อมเพย์เติบโตสูงขึ้น สะท้อนว่าพร้อมเพย์เป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวกในการโอนเงินให้กับประชาชน ซึ่งได้ผลตอบรับค่อนข้างมาก ผ่านตัวเลขลงทะเบียน 55 ล้านเลขหมายปริมาณธุรกรรม 13.5 ล้านรายการ มูลค่ากว่า 5 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้ 34 ล้านเลขหมาย เป็นการลงทะเบียนผ่านบัตรประชาชน และหากดูตัวเลขตั้งแต่สิ้นปี 2562 ถึง พ.ค. มียอดลงทะเบียนเพิ่มขึ้นถึง 4 ล้านเลขหมาย ผลักดันยอดธุรกรรม digital payment เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็น 157 ครั้งต่อคนต่อปี จากปี 2562 อยู่ที่ 101 ครั้งต่อคนต่อปี

“พร้อมเพย์สะท้อนความสำเร็จได้จากตัวเลขการใช้ที่เพิ่มขึ้น และใช้กันอย่างกว้างไกล เห็นได้จากจำนวนจุดวางคิวอาร์โค้ด ที่ปัจจุบันมีอยู่ถึง 6 ล้านจุด จากตอนแรกที่ริเริ่มโครงการมีเพียงแค่ 1 ล้านจุด ดังนั้น นับจากเราเปิดบริการพร้อมเพย์ ไล่มาตั้งแต่บริการโอนเงินระหว่างประชาชน จากนั้นก็มีเรื่องคิวอาร์โค้ดมาตรฐาน ซึ่งทำให้เราต่อยอดบริการหลายอย่าง โดยในระยะต่อไปสิ่งที่เรากำลังพัฒนา คือ ISO20022 เป็นมาตรฐานด้านชำระเงินสากล จะช่วยเชื่อมต่อกับประเทศต่าง ๆทำได้ง่ายขึ้นและส่งเสริมการชำระเงินภาคธุรกิจ”

ดึงดาต้าต่อยอดทำนโยบาย

ตอนนี้ ธปท.อยู่ระหว่างหารือกับภาคธนาคาร เพื่อรวบรวมข้อมูลทางด้านการชำระเงิน ในลักษณะรายการ รายโปรดักต์ แบบบูรณาการ จากเดิมจะเก็บข้อมูลแบบกระจัดกระจายอยู่กับบริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ๊กซ์ (ITMX) และแบงก์ ซึ่งจะช่วยทำให้ ธปท.สามารถทำนโยบายการเงิน และระบบการชำระเงินได้ดีขึ้น โดยสามารถนำข้อมูลมาประเมินผลด้านเศรษฐกิจได้ด้วย ขณะที่ผู้ให้บริการก็สามารถตอบโจทย์การให้บริการที่ลูกค้าต้องการได้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ จะเริ่มทำโครงการนำร่องภายในสิ้นปี 2563 นี้

“เราจะนำข้อมูลมาวิเคราะห์ในมิติต่าง ๆ ดูว่าสามารถนำไปใช้อะไรได้บ้าง เช่น การวิเคราะห์เรื่องพื้นที่ เราสามารถรู้ได้ว่าพื้นที่ใดเข้าถึงบริการทางการเงิน หรือจุดใดที่เข้าไม่ถึง ซึ่งจะช่วยการทำนโยบายระบบการชำระเงินมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ช่วยลดเวลาการทำนโยบายของ ธปท.ได้ เพราะเดิมเวลาทำนโยบาย จะต้องออกสำรวจพื้นที่ ออกแบบชุดคำถาม เก็บข้อมูล และรวบรวมข้อมูลเพื่อนำมาวิเคราะห์ ซึ่งใช้เวลาค่อนข้างนานเป็นปี แต่หาก ธปท.สามารถนำข้อมูลจากการชำระเงินมาใช้ ก็จะลดขั้นตอนและดำเนินนโยบายได้ตรงจุดและมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกัน ภาคธนาคารก็สามารถนำข้อมูลการชำระเงินเหล่านี้ต่อยอดไปสู่การปล่อยสินเชื่อโดยใช้ข้อมูลทางการเงิน (information based lending) ได้”

เชื่อมเพย์เมนต์ข้ามแดน

สำหรับแผนงานที่สำคัญในปีนี้ “สิริธิดา” บอกว่า คือการพัฒนาคิวอาร์เพย์เมนต์ โดยขยายการเชื่อมต่อบริการไปยังประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียน (QR cross border) โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้เชื่อม “ไทย-สปป.ลาว” แล้ว ก่อนหน้านี้ก็มีเชื่อมกับกัมพูชา และตามแผนที่วางไว้จะเชื่อมต่อกับสิงคโปร์ ผ่านระบบ “switch to switch” เป็นการเชื่อมระหว่างระบบกลางชำระเงินเข้าด้วยกัน ซึ่งตั้งเป้าจะเปิดให้บริการภายในต้นไตรมาส4 ปี 2563 นี้ ขยับไปจากแผนการเดิมที่จะเปิดบริการได้ภายในไตรมาส 2 เนื่องจากเกิดโควิด-19

“ระหว่างนี้ เราก็มีการพูดคุยกับทางมาเลเซีย ญี่ปุ่น แล้วก็เวียดนาม โดยมาเลเซียและญี่ปุ่น จะเชื่อมต่อแบบ switch to switch เช่นเดียวกัน ส่วนเวียดนามจะเป็นการเชื่อมแบบ sponsoring เนื่องจากเวียดนามยังไม่มีระบบกลางการชำระเงิน”

ป้องกันภัยไซเบอร์

“สิริธิดา” กล่าวถึงการสร้างความแข็งแกร่ง และการป้องกันภัยไซเบอร์ว่า ธปท.มีการติดตามอย่างใกล้ชิด โดยดำเนินการ 4 ด้าน ได้แก่ 1.การป้องกัน 2.การตรวจจับ 3.ตอบสนองหลังจากการตรวจจับเจอความผิดปกติ และ 4.กู้ความเสียหายกลับมาโดยเร็ว รวมถึงออกหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ในการบริหารความเสี่ยงด้านไอที ทั้งในเรื่องโมบายแบงกิ้ง และไซเบอร์ไอที เพื่อเป็นแนวปฏิบัติขั้นต้นที่จะให้ผู้ให้บริการทั้งธนาคารพาณิชย์ และผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (น็อนแบงก์) ที่ให้บริการทางด้านระบบการชำระเงิน

แก้ปมโมบายแบงกิ้งล่ม

“ที่ผ่านมา แบงก์ก็เตรียมการเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน จะเห็นว่าระบบโมบายแบงกิ้งล่มน้อยลง แม้ว่าจะมีสะดุดบ้าง แต่ถือว่าทุกแบงก์เตรียมความพร้อมรองรับได้ดีขึ้น และเราก็มีการประชุมระหว่างหัวหน้าไอทีของแบงก์ทุกเดือน ซึ่งจะมีการชี้แจงถึงสาเหตุที่ระบบล่ม และแนวทางการป้องกัน รวมถึงมองไปข้างหน้าเพื่อรองรับการใช้บริการของลูกค้าที่จะมีมากขึ้น โดยระยะหลังจะเน้นการตอบสนองและกู้ภัย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการซักซ้อมในด้านนี้เป็นประจำทุกปี ทั้ง ธปท. แบงก์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) และประกัน รวมถึงร่วมมือกับศูนย์ประสานงานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเทคโนโลยีสารสนเทศภาคธนาคาร (TB-CERT) เรื่องภัยไซเบอร์ต่าง ๆ”

ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธปท.กล่าว