ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า จับตาตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตรสหรัฐฯ

ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเล็กน้อย เทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ จับตาการประกาศตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรสหรัฐศุกร์นี้

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 8 สิงหาคม 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (4/8) ที่ระดับ 31.21/22 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดในวันจันทร์ (3/8) ที่ระดับ 31.23/24 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ โดยไอเอชเอส มาร์กิต ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการข้อมูลทางการเงิน เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของสหรัฐ หลังจากหดตัวติดต่อกัน 4 เดือน โดยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ดัชนี PMI ปรับตัวขึ้นเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน ก.พ. โดยได้แรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของคำสั่งซื้อใหม่ ขณะที่ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 5 เดือน แม้ว่าการจ้างงานยังคงชะลอตัว

นอกจากนี้ ยังมีการเปิดเผยผลสำรวจของสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) ระบุว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐดีดตัวขึ้นสู่ระดับ 54.2 ในเดือน ก.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน มี.ค.ปีที่แล้ว จากระดับ 52.6 ในเดือน มิ.ย. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 53.6 ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐยังคงอยู่สูงกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ถึงภาวะขยายตัว โดยได้แรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของคำสั่งซื้อใหม่ และการจ้างงาน ทั้งนี้ระหว่างวันเริ่มมีการเทขายเงินดอลลาร์จากผู้ส่งออก ส่งผลให้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 31.09-31.20 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 31.08/31.10 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในวันนี้ (8/4) ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.1762/64 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (3/8) ที่ระดับ 1.1742/44 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร สกุลเงินยูโรยังคงอยู่ในสภาวะแข็งค่า ภายหลังมีการเปิดเผยยอดค้าปลีกของเยอรมัน ปรับลงน้อยกว่าคาดใน มิ.ย. เทียบรายเดือน โดยยอดค้าปลีกร่วงลง 1.6% ต่อเดือน เทียบกับที่คาดการณ์ว่าจะปรับตัวลงถึง 3.2% ต่อเดือน หลังจากปรับขึ้น 12.7% ในเดือน พ.ค. สำหรับระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1753-1.1803 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1788/90 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนในวันนี้ (4/8) เปิดตลาดที่ระดับ 105.99/106.00 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (3/8) ที่ระดับ 105.74/76 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนอ่อนค่า ภายหลังการเปิดเผยตัวเลขภาคการผลิตของสหรัฐที่ออกมาดีกว่าที่คาด อย่างไรก็ตาม ความกังวลในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังคงส่งผลให้นักลงทุนมีโอกาสเพิ่มการถือครองสกุลเงินเยนในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น

ทั้งนี้ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 105.84-106.20 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 105.93/95 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือน ก.ค. จาก ADP (4/8), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายเดือน ก.ค. จากมาร์กิต (4/8), ยอดนำเข้า ยอดส่งออก และดุลการค้าเดือน มิ.ย. (4/8), ดัชนีภาคบริการเดือน ก.ค. จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) (4/8), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (5/8), ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน ก.ค. (6/8)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ +0.55/+0.60 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +1.9/+3.1 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ