กรมบัญชีกลาง เร่งหน่วยงานรัฐทำแผนจัดซื้อจัดจ้าง เตรียมใช้งบปี’64

นายภูมิศักดิ์ อรัญญาเกษมสุข อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ได้เคยมีการกำหนดแนวทางปฏิบัติในการเตรียมการจัดซื้อจัดจ้างตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 โดยเมื่อคณะอนุกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ… ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายฯ รายหน่วยงานของรัฐและมีมติเป็นที่สิ้นสุดแล้วก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาในวาระที่ 2

ให้ถือว่าหน่วยงานของรัฐนั้น ได้รับทราบวงเงินงบประมาณที่จะใช้ในการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบฯ ตามหนังสือคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ด่วนที่สุด ที่ กค (กวจ) 0405.2/ว 371 ลงวันที่ 5 สิงหาคม 2562 และหนังสือคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ด่วนที่สุด ที่ กค (กวจ) 0405.4/ว 577 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2562 นั้น

เนื่องจากขณะนี้คณะกรรมการวินิจฉัยฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 อยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐสภา ดังนั้น เพื่อให้หน่วยงานของรัฐสามารถก่อหนี้ผูกพันและ เบิกจ่ายเงินได้แล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และเป็นไปตามนโยบายเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินของรัฐบาล จึงขอให้หน่วยงานของรัฐถือปฏิบัติตามหนังสือข้างต้นต่อไป

ทั้งนี้ การเตรียมการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ข้อ 11 ให้หมายความถึงเมื่อคณะอนุกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 รายหน่วยงานของรัฐและมีมติเป็นที่สิ้นสุดแล้วก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาในวาระที่ 2 ให้ถือว่าหน่วยงานของรัฐนั้น ได้รับทราบวงเงินงบประมาณที่จะใช้ในการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบฯ


“เมื่อหน่วยงานของรัฐได้รับความเห็นชอบวงเงินงบประมาณแล้ว ให้หน่วยงานของรัฐจัดทำแผนการจัดซื้อจัดจ้างประจำปีทั้งปี และให้หน่วยงานของรัฐรีบดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อให้พร้อมที่จะทำสัญญาหรือข้อตกลงได้ทันทีเมื่อได้รับอนุมัติทางการเงินแล้ว เพื่อให้ทุกหน่วยงานสามารถเบิกจ่ายเงินงบประมาณได้โดยเร็ว มีประสิทธิภาพและเป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งจะช่วยทำให้มีเม็ดเงินกระจายเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ส่งผลดีในการพัฒนาประเทศในภาพรวมต่อไป”