ค่าเงินบาทอ่อนค่าหลังจีดีพีไทยทรุดต่อในไตรมาส 2/2563

เงินบาท

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 17 สิงหาคม 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (17/8) ที่ระดับ 31.10/11 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (14/8) ที่ระดับ 31.13/14 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวอ่อนค่าเทียบค่าเงินสกุลหลัก ท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยยอดค้าปลีกประจำเดือนกรกฎาคม ออกมาเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1.2 ซึ่งต่ำกว่าของเดือนมิถุนายนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.4

นอกจากนั้น ธนาคารกลางสหรัฐ เปิดเผยดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวมของสหรัฐ ออกมาที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.0 ในเดือนกรกฎาคม ต่ำกว่าของเดือนมิถุนายน ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7 ทั้งนี้การปรับตัวขึ้นของการผลิตภาคอุตสาหกรรมนั้นได้แรงหนุนจากการผลิตรถยนต์ หลังจากที่รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้โรงงานกลับมาเปิดทำการอีกครั้ง หลังจากที่ปิดชั่วคราวไปก่อนหน้านี้เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างไรก็ตาม ดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเทียบกับตะกร้าเงินสกุลหลักยังคงทรงตัวเหนือระดับ 93.00 จุด

โดยนักลงทุนยังคงรอปัจจัยใหม่สนับสนุนการซื้อขายหลังจากที่การเจรจาประเด็นสัญญาการค้าระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐ และจีน ซึ่งเดิมทีมีกำหนดการเจรจาทางออนไลน์เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2563 นั้นถูกประกาศเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด

ในส่วนของค่าเงินบาท ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบจำกัดในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ก่อนจะวิ่งอ่อนค่าในช่วงสายวันนี้ (17/8) หลังจากที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ศสช.) เปิดเผยดัชนีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของไทยประจำไตรมาสที่ 2/2563 ออกมาที่หดตัวร้อยละ 12.3 เทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งหดตัวมากกว่าไตรมาสที่ 1/2563 ที่หดตัวร้อยละ 1.8 เทียบกับปีก่อนหน้า โดยระบุว่าเศรษฐกิจไทยนั้น ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี 2563 จึงส่งผลให้เศรษฐกิจไทยหดตัวต่อเนื่อง ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 31.09-31.22 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 31.19/21 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (17/8) ที่ระดับ 1.1845/48 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (14/8) ที่ระดับ 1.1806/08 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรปรับตัวแข็งค่าในกรอบจำกัดเทียบดอลลาร์สหรัฐ หลังจากที่สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปยังคงทวีความรุนแรงในสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยประเทศอิตาลีและสเปนได้มีประกาศสั่งปิดสถานบันเทิงช่วงกลางคืนต่าง ๆ นอกจากนั้น ด้านประเทศฝรั่งเศสก็มีการประกาศย้ำเตือนถึงจำนวนผู้ติดเชื้อที่ยังคงเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1830-1.1850 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1834/37 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (17/8) ที่ระดับ 106.52/55 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (14/8) ที่ระดับ 106.70/73 เยน/ดอลลาร์สหรับ ค่าเงินเยนแข็งค่าเทียบค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ แม้ญี่ปุ่นเปิดเผยดัชนีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศประจำไตรมาสที่ 2/2563 ออกมาที่หดตัวร้อยละ 27.8 เทียบกับปีก่อนหน้า ทั้งนี้ นักลงทุนยังทำการซื้อขายอย่างระมัดระวังท่ามกลางความไม่แน่นอนของการระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 106.42-106.58 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 106.45/47 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีการผลิตรัฐนิวยอร์ก-สหรัฐ เดือนสิงหาคม (17/8), รายงานจำนวนที่อยู่อาศัยเริ่มสร้างสหรัฐ เดือนกรกฎาคม (18/8), รายงานใบอนุญาตก่อสร้างบ้านสหรัฐ (18/8), ดุลการค้าญี่ปุ่นเดือนกรกฎาคม (19/8), ดัชนีราคาผู้ริโภคสหราชอาณาจักรเดือนกรกฎาคม (19/8), ดัชนีราคาผู้ผลิตสหราชอาณาจักร (19/8), ดัชนีราคาผู้บริโภคสหภาพยุโรปเดือนกรกฎาคม (19/8), อัตราดอกเบี้ยนโยบายจีน (20/8), ดัชนีภาคการผลิตโดยธนาคารกลางรัฐฟิลาเดลเฟีย-สหรัฐ (20/8), จำนวนคนที่ยื่นขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกสหรัฐ (20/8)

ดัชนีราคาผู้บริโภคญี่ปุ่นเดือนกรกฎาคม (21/8), ยอดค้าปลีกสหราชอาณาจักรเดือนกรกฎาคม (21/8), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อเยอรมันเดือนสิงหาคม (21/8), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อสหภาพยุโรปเดือนสิงหาคม (21/8), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อสหราชอาณาจักรเดือนสิงหาคม (21/8), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อสหรัฐเดือนสิงหาคม (21/8), ยอดขายบ้านมือสองสหรัฐเดือนกรกฎาคม (21/8), ความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหภาพยุโรปเดือนสิงหาคม (21/8)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap poin) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ 0.6/0.8 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ 2.50/5.10 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ