ขุนคลังแจงนักลงทุนต่างชาติ วาง 3 แนวทางฟื้นเศรษฐกิจ ลุ้นปีหน้าโต 4-5%

ขุนคลังแจงนักลงทุนต่างชาติ เตรียม 3 แนวทางดูแลเศรษฐกิจระยะข้างหน้า มั่นใจเศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดแล้ว เชื่อปีหน้าจีดีพีโต 4-5% ย้ำฐานะการคลังแข็งแกร่ง

นายปรีดี ดาวฉาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวเปิดงาน “Thailand Focus 2020: Resiliency to Move” Forward ว่า ในงาน Thailand Focus ปีนี้ที่จัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เป็นการกล่าวปาฐกถาครั้งแรกในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยวันนี้อยากจะนำเสนอว่าในสถานการณ์ไม่ปกติ กระทรวงการคลังมีแนวทางการให้ความช่วยเหลือเศรษฐกิจและธุรกิจอย่างไร

จากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ และในภาวะที่ยังไม่มีความแน่นอนว่าวัคซีนป้องกันโรคไวรัสจะมีความชัดเจนเมื่อไหร่นั้น นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ให้แนวทางการช่วยเหลือธุรกิจในภาวะเช่นนี้ ได้แก่

  1. การช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางและผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อย (SME)
  2. การเตรียมพร้อมรับมือในกรณีที่เศรษฐกิจโลกกลับมาฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่
  3. การกระตุ้นการจ้างงานในภาคเอกชน
  4. การสนับสนุนกลยุทธ์เพื่อสร้างงานให้แก่กลุ่มนักศึกษาจบใหม่
  5. ภาครัฐต้องเปิดรับฟังความเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในสังคม

“ปีนี้เป็นปีที่เศรษฐกิจทั่วโลกกลับมาแย่ที่สุดในรอบ 10 ปี เพราะมีปัจจัยไม่ปกติที่เข้ามากระทบต่อเศรษฐกิจอย่างโควิด-19 ซึ่งเศรษฐกิจของไทยก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน” นายปรีดี กล่าว

อย่างไรก็ตาม ภาครัฐของไทยมีการรับมือโควิด-19 ค่อนข้างดี ผ่านการประกาศล็อกดาวน์ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง เข้มงวดในการเข้าออกประเทศมากขึ้น รวมถึงจัดตั้งศูนย์ควบคุมโรค ฯลฯ ขณะที่ภาคประชาชนมีการป้องการที่ดีผ่านการรักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) และการสวมใส่หน้ากากอนามัยในสถานที่สาธารณะ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้ประเทศไทยค่อนข้างประสบความสำเร็จในการควบคุมเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยเป็นประเทศอันดับต้นๆ ที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคไวรัสได้

ในส่วนของเศรษฐกิจ ในภาวะที่ไม่ปกติเช่นนี้พบว่าพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยยังมีความแข็งแกร่ง ส่งผลให้ประเทศไทยมีความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจมากที่สุดในภูมิภาค โดยเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 ยังอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดี โดยเชื่อว่าจุดต่ำสุดของเศรษฐกิจไทยได้ผ่านพ้นไปแล้ว และจะสามารถกลับมาฟื้นตัวได้ในปี 2564 ที่ประมาณ 4-5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีนี้ (YoY)

ด้านการดำเนินนโยบายเพื่อรับมือการวิกฤตโควิด-19 กระทรวงการคลังได้ออกมาตรการทั้งหมด 3 ระยะเพื่อเยียวยาและช่วยเหลือเศรษฐกิจ มูลค่ารวมประมาณ 2 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 12% ต่อจีดีพี เพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง ครัวเรือน และธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

โดยแพ็กเกจการช่วยเหลือดังกล่าวประกอบด้วย 1. โครงการเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท เพื่อระดมทุนช่วยเหลือธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงสนับสนุนการฟื้นตัวของธุรกิจ 2. โครงการกระตุ้นการจ้างงานและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐในระดับชุมชน ซึ่งแพ็กเกจดังกล่าวยังรวมถึงวงเงิน 9 แสนล้านบาท ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ใช้ดูแลเสถียรภาพทางการเงิน เพื่อให้มั่นใจว่ามีสภาพคล่องเพียงพอในตลาดการเงินของไทย

“ในส่วนของแผนระยะข้างหน้า ผมหวังว่าการเสวนาในวันนี้จะช่วยให้นักลงทุนเข้าใจถึงแผนการระยะข้างหน้าที่เราจะเดินต่อไปได้ รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นใจเศรษฐกิจไทยให้แก่นักลงทุนมากขึ้นเพื่อให้พิจารณาประเทศไทยเป็นหมุดหมายการลงทุนของท่านได้” นายปรีดี กล่าว

โดยทิศทางที่ประเทศไทยจะเดินต่อไปนั้น นายปรีดี กล่าวถึง 3 แนวทาง ได้แก่ 1. การดำเนินมาตรการที่เชื่อมโยงกัน และมีความรวดเร็วระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ ในการนี้นายกรัฐมนตรีฯ ได้จัดตั้ง ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) ที่ประกอบด้วยภาคเอกชนและภาครัฐ ซึ่งศูนย์ดังกล่าวจะมีหน้าที่สนับสนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจของประเทศจากวิกฤตโควิด-19

นอกจากนี้ ศบศ.จะจับตาดูปัญหาเศรษฐกิจ เพื่อนำเสนอแนวทางการแก้ปัญหาให้แก่ภาครัฐ เพื่อให้ภาครัฐสามารถรับมือกับปัญหาเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการระหว่างภาครัฐและเอกชนให้เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้นำเทคโนโลยี อาทิ พร้อมเพย์ และบิ๊กดาต้า เข้ามาใช้เพื่อให้ภาครัฐสามารถให้ความช่วยเหลือประชาชนและธุรกิจได้ตรงจุดมากขึ้น

2. การลงทุนเพื่อรับมือการเติบโตระยะยาว แม้ว่าในปัจจุบันภาครัฐและกระทรวงการคลังจะให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือและประครองเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่ในส่วนของการลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรับมือการเติบโตระยะยาว อาทิ โครงการอีอีซี เป็นต้น ก็ยังดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

และสุดท้าย 3. การดูแลความยั่งยืนทางการคลัง โดยปัจจุบันการเงินของไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยมีระดับหนี้สินต่อจีดีพีต่ำกว่า 60% อย่างไรก็ดี ด้วยทรัพยากรที่มีอย่างจำกัด กระทรวงการคลังต้องมั่นใจว่าเม็ดเงินช่วยเหลือเศรษฐกิจดังกล่าวจะถูกใช้ให้ถูกจุดและตรงกับกลุ่มเป้าหมาย แม้ปัจจุบันยังไม่มีความต้องการกู้เงินเพิ่มเติม แต่กระทรวงการคลังไม่ได้ปิดกั้นและพร้อมที่จะพิจารณากู้เงิน หากจำเป็นต้องใช้ดำเนินการกระตุ้นเศรษฐกิจ