ตลาดหลักทรัพย์ฯ ชู 3 จุดแข็งตลาดหุ้นไทย จูงใจต่างชาติลงทุน

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในงาน Thailand Focus 2020: Resiliency to Move Forward
นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในงาน Thailand Focus 2020: Resiliency to Move Forward

ตลาดหลักทรัพย์ฯ จัดงาน ‘Thailand Focus 2020’ สร้างความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติ โชว์จุดแข็งตลาดทุนไทย ดัชนีหุ้นฟื้นตัวเร็ว-ไอพีโอเข้าคิวระดมทุนอีกกว่า 30 บริษัท ชี้ธุรกิจเริ่มปรับตัวได้ท่ามกลางวิกฤต

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวในงานสัมมนา “Thailand Focus 2020: Resiliency to Move Forward” ว่า ผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ไม่ได้จำกัดเพียงแค่ปัญหาร้ายแรงต่อสุขภาพ หากแต่ก่อให้เกิดความปั่นป่วนและชะงักงันต่อเศรษฐกิจโลกด้วย การแพร่ไปอย่างรวดเร็วทำให้เกิดความตระหนกในทุกระดับชั้นไม่ว่าจะเป็นประเทศ สังคม หรือครัวเรือน

อย่างไรก็ดี ตลาดหลักทรัพย์ฯ อยากใช้โอกาสนี้เพื่อแสดงว่าตลาดทุนของไทยนั้นมีความแข็งแกร่งและทนทานต่อวิกฤตนี้อย่างไร และบริษัทต่าง ๆ ของไทยได้เปลี่ยนแปลงพัฒนาตนเองเข้าสู่โลกนิวนอร์มอลไปอย่างไรบ้าง

ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ความกังวลเรื่องการระบาดของโควิด-19 และภาวะของเศรษฐกิจโลกทำให้ตลาดทุนปั่นป่วน โดยดัชนีตลาดหลักทรัพย์ SET (SET Index) ร่วงลงอย่างรุนแรงในเดือนมีนาคมและเมษายน อย่างไรก็ตาม ด้วยปัจจัยแห่งความแข็งแกร่งทนทานสามประการของตลาดทุนไทย ทำให้เราสามารถผ่านพ้นช่วงยากลำบากนั้นมาได้ด้วยดี

ปัจจัยแห่งความแข็งแกร่งทนทาน # 1 ดัชนี SET และการฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว จากผู้ป่วยโควิดรายแรกที่ยืนยันในประเทศเมื่อวันที่ 31 มกราคม ดัชนี SET ร่วงลงถึง 37% และดีดกลับมาในปลายเดือนมิถุนายน และแตะระดับใกล้กับก่อนวิกฤต ซึ่งจะเห็นได้ว่าดัชนีฟื้นตัวมาสู่ระดับก่อนเกิดปัญหาในเวลาเพียงไม่กี่เดือน

ในขณะที่ประเทศไทยกำลังผ่อนคลายในธุรกิจต่างๆ ให้กลับมาประกอบการได้เช่นเดิม รวมทั้งอนุมัติให้มีการเดินทางจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศได้อย่างจำกัด ดัชนีของตลาดและอุตสาหกรรมต่างๆ ก็ฟื้นตัวโดยค่อยเป็นค่อยไป การฟื้นตัวที่แข็งแกร่งที่สุดจะอยู่ในภาคผลิตภัณฑ์สำหรับผู้บริโภค และอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร ซึ่งตอนนี้อยู่ในระดับที่สูงกว่าก่อนโควิดเสียอีก ภาคอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีดิจิทัล โลจิสติกส์ และบริการสุขภาพ ต่างก็มีศักยภาพสูงในโลกแห่งนิวนอร์มอลนี้

ปัจจัยแห่งความแข็งแกร่งทนทาน #2: โอกาสอันมากมาย ขณะนี้มีโอกาสมากมายในตลาดทุน IPO ใหม่ๆ ที่เคยถูกเลื่อนออกไปในช่วงการระบาดรุนแรงโควิด-19 เริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้งหนึ่งหลังจากที่ธุรกิจกำลังกลับเข้าสู่ภาวะปกติ สำหรับปีนี้แม้ว่าจะมีความชะงักงันอันเนื่องมาจากโรคระบาด แต่ก็มีการระดมทุนในตลาดสูงถึง 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งสามารถเทียบเคียงได้กับระดับของหลายปีที่ผ่านมา และตอนนี้ก็ยังมีหลักทรัพย์ถึง 30 ตัวที่กำลังรอเปิดตัวอยู่

ปัจจัยความแข็งแกร่งทนทาน #3 ความกระตือรือร้นในการลงทุนในตลาดตราสารทุน ในขณะที่รัฐบาลออกมาตรการสนับสนุนทางเศรษฐกิจ และประเทศไทยสามารถควบคุมการระบาดได้ บรรดานักลงทุนท้องถิ่นก็กลับมาคึกคัก การเข้ามาซื้อขายในตลาดของนักลงทุนรายย่อยพุ่งขึ้น และฉุดให้มูลค่าการซื้อขายเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 พันล้านดอลลาร์ต่อวันในปี 2020  และในช่วงครึ่งแรกของปี  มีบัญชีซื้อขายรายย่อยเปิดใหม่เพิ่มขึ้นถึง 190,000 บัญชี โดยเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วทั้งปีถึง 34%

นายภากร กล่าวอีกว่า โรคระบาดทำให้ธุรกิจทั่วโลกปั่นป่วน บริษัทต่างๆ ต้องคิดหายุทธศาสตร์ใหม่ สร้างฐานรายได้ใหม่ รวมทั้งหาหนทางก้าวต่อไปอย่างมั่นคง ตลาดหลักทรัพย์ฯ ใคร่จะขอชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของบริษัทต่างๆ ในประเทศไทยในยุคนิวนอร์มอลในสองมุมมองด้วยกัน มุมมองแรกก็คือ การปรับตัว ส่วนมุมมองที่สองก็คือ ความยั่งยืน

ข้อแรก “การปรับตัว” สำหรับบริษัทต่างๆ ซึ่งต้องการจะอยู่รอดจากปัญหาที่ท้าทายในอนาคต พวกเขาต้องสามารถที่จะปรับตัวอย่างรวดเร็วเพื่อสนองตอบต่อสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จากการสำรวจความคิดเห็นของเราที่ทำเมื่อเกิดวิกฤตขึ้น เราเห็นว่าบริษัทของไทยนั้นมีความสามารถในการปรับตัวในสี่ด้านด้วยกัน

  • ด้านแรก การออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ตอนนี้ผลิตภัณฑ์และบริการได้รับการออกแบบใหม่เพื่อให้เหมาะกับยุคนิวนอร์มอล อีคอมเมิร์ซ การวิเคราะห์ข้อมูล การปรับปรุงมาตรฐานสุขอนามัยถูกนำเข้ามาเพื่อให้สินค้าและบริการนั้นถูกส่งไปยังกลุ่มลูกค้าโดยไม่มีข้อกังวลเกี่ยวกับสุขภาพใดๆ
  • ด้านที่ 2 มีกระบวนการปรับตัวเพื่อประกันความต่อเนื่อง, ความเชื่อมโยง และการเข้าถึง บริการทั้งหลายที่มีอยู่
  • ด้านที่ 3 คือ สภาพคล่องของกระแสเงินสด และการกระจายตัวของห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) เพื่อให้มีการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะใน เอสเอ็มอี และ สตาร์ทอัพ ทั้งหลาย การระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ดิจิตอลกำลังจะเป็นไปได้ในอนาคตอันใกล้นี้
  • ด้านที่ 4 การบริหารคน เป็นกลยุทธที่สำคัญสำหรับบริษัทที่จะเคลื่อนไปข้างหน้า เพราะว่าพนักงานเป็นทรัพยากรที่มีค่าที่สุดของบริษัทในโลกนิวนอร์มอล มาตรการช่วยเหลือต่างๆ เพื่อให้เกิดการทำงานที่มีความสุข และปลอดภัยอย่างเช่น แพลตฟอร์มที่ทำให้สามารถทำงานได้ทุกที่ การประชุมออนไลน์ หรือ อื่นๆ เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง

ขณะที่ “ความยั่งยืน” พบว่า บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทยได้ยอมรับเอาแนวทาง ESG และความยั่งยืนเข้ามาในการดำเนินงานแล้ว เสมือนหนึ่งว่าพวกเขาได้ออกไปต่อยข้ามรุ่นโดยการลงทุนในตลาดต่างๆ ทั่วโลกที่สามารถให้ความยั่งยืนในการลงทุนได้ เป็นเวลาหกปีติดต่อกันแล้ว ที่ประเทศไทยมีบริษัทจดทะเบียนที่อยู่ในดัชนี Dow Jones Sustainability Indices มากที่สุดในบรรดาประเทศอาเซียนด้วยกัน นอกจากนี้บริษัทจดทะเบียนของไทยก็มีคะแนนสูงสุดใน 7 เซ็คเตอร์ของ DJSI

ทั้งนี้ เพื่อที่จะส่งเสริมบริษัทจดทะเบียนของไทยให้รับเอา ESG และความยั่งยืน เข้ามาเป็นกลยุทธการดำเนินงานหลัก ทาง SET ได้ออก Thailand Sustainability Investment Index เพื่อเป็นดัชนีวัดคุณค่าของบริษัทดังกล่าวนั้นว่าผ่านมาตรฐานแห่งความยั่งยืนหรือไม่ และรายชื่อในดัชนีดังกล่าวได้ขยายจาก 51 บริษัทในปี 2016 มาเป็น 98 บริษัทในปี 2019 โดยมีมูลค่าการตลาดถึง 356 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็น 65% ของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด

นอกจากนี้ เพื่อจะก้าวไปข้างหน้า เราจะกระตุ้นให้บริษัททุกขนาดให้หันมาสนใจ ESG และความยั่งยืนให้มากขึ้น เนื่องจากแนวคิดนี้จะกลายเป็นมาตรฐาน หรือ เกณพ์การวัดสมรรถนะ เพื่อหาสิ่งที่ควรต้องมีเมื่อบริษัททำการระดมทุน เราเชื่อมั่นว่าบริษัทที่มี ESG เป็นแนวทางปฏิบัตินั้นจะทนทานต่อการเปลี่ยนแปลง และหวังว่าจะมีเงินทุนไหลเข้ามายังบริษัทที่มีความยั่งยืนเพิ่มมากขึ้น

นายภากร กล่าวทิ้งท้ายว่า ความท้าทายใหม่ๆ นั้นเกิดขึ้นทั่วโลกโดยไม่มีคำเตือนเลย เราจะต้องรักษาสมดุลแห่งความกังวลเรื่องสุขภาพ และอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ รวมทั้งการปรับตัวสู่นิวนอร์มอล รวมทั้งเตรียมพร้อมสำหรับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยตนเชื่อว่าบริษัทจดทะเบียนของไทยต่างก็พร้อมที่จะสถาปนาตัวเองเพื่อให้เข้มแข็งขึ้นจากเหตุผลที่ตนกล่าวไปแล้ว

“ผมหวังว่าประชาคมโลกจะเห็นถึงโอกาสมากมายในประเทศไทย ท่ามกลางความท้าทายอันหลากหลาย รวมทั้งความแปลกใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งที่สามารถคาดการณ์ได้และคาดการณ์ไม่ได้” นายภากร กล่าว