กสิกรไทย กระทุ้งเศรษฐีปรับพอร์ตลงทุน-จ่อลดสัดส่วนเงินฝาก 25%

จิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์
จิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์

เคแบงก์ ไพรเวทแบงกิ้ง เร่งหนุนเศรษฐีปรับพอร์ตเงินฝากหันลงทุน ตั้งเป้าลดสัดส่วนเงินฝากเหลือ 20-25% จาก 35% ของสินทรัพย์ 7.5 แสนล้านบาท หลังตลาดผันผวนแห่โยกพักเงิน พร้อมเดินหน้าแนะนำการลงทุน เน้นรักษายีลด์ล่าสุด ผุดกองทุน K Climate Transition ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม-สร้างความยั่งยืน เปิดขาย วันที่ 1-15 ก.ย.นี้

นายจิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Private Banking Group Head ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า แนวโน้มธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง (Wealth Management) ในกลุ่มลูกค้าที่มีเงินฝากและลงทุน (AUM) อยู่ที่ 50 ล้านบาท หรือ Private Banking ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 พบว่า ในช่วงเดือนมีนาคมที่ตลาดมีความผันผวนส่งผลให้ลูกค้าที่รับความเสี่ยงจากการลงทุนน้อยมีความกังวลได้โยกการลงทุนจากกองทุนมาฝากเงินบ้าง ขณะที่ลูกค้าที่รับความเสี่ยงสูงไม่ได้โยกการลงทุนแต่อย่างใด ทำให้ภาพรวมการไหลออกของเงินลงทุนไม่มากนัก โดยทั้งปียังคงเห็น AUM ทรงตัวอยู่ที่ 7.5 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ดี ธนาคารตั้งเป้าลดสัดส่วนเงินฝากให้ลงมาอยู่ที่ระดับ 20-25% จากปัจจุบันอยู่ที่ 35% ของยอด AUM 7.5 แสนล้านบาท โดยพยามยามแนะนำการลงทุนในตลาดอื่นๆ ให้ลูกค้ามากขึ้น เพื่อสร้างผลตอบแทน (Yield) เนื่องจากหากเทียบอัตราดอกเบี้ยเงินฝากปัจจุบันค่อนข้างต่ำ โดยอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์เฉลี่ยต่ำกว่า 0.25% หรือเงินฝากประจำไม่ถึง 1% ดังนั้น หากลูกค้าที่กลัวความเสี่ยงก็มีกองทุนตราสารหนี้แบบมีระยะเวลา 1 ปี ซึ่งให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 1.2-1.3% ถือว่าให้ผลตอบแทนดีการฝากเงิน

“ยอมรับว่าเงินฝากเพิ่มขึ้นในช่วงที่ตลาดผันผวนเพราะลูกค้าตื่นกลัว โดยเฉพาะลูกค้าที่รับความเสี่ยงได้น้อย จึงโยกเงินมาฝากไว้ ซึ่งเราก็พยายามจะแนะนำลูกค้าเหล่านี้ลงทุนมากขึ้น เพื่อลดสัดส่วนเงินฝากลง แต่ยอมรับว่าเงินฝากคงไม่ลงไปถึง 0% เพราะคนไทยยังมีความรู้การลงทุนไม่มาก และยังฝากเพื่อต้องการสภาพคล่องไว้ใช้จ่าย”

นายจิรวัฒน์ กล่าวอีกว่า ส่วนกลยุทธ์ในช่วงที่เหลือของปีนี้ ธนาคารยังคงเดินหน้ารักษาผลตอบแทนจากการลงทุนให้อยู่ในระดับเฉลี่ย 3-4% ต่อปี โดยจะเห็นว่าในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ ลูกค้าที่รับความเสี่ยงได้ยังสามารถรับผลตอบแทนได้สูงถึง 4% ส่วนกลุ่มที่รับความเสี่ยงน้อยยังได้รับผลตอบแทนเป็นบวกเช่นกัน แม้ว่าจะมีผลกระทบจากโควิด-19

ส่วนการแนะนำและการจีดพอร์ตลงทุน ธนาคารยังเน้นลงทุนในกองทุนรวมผสมเป็นหลัก โดยดูความเสี่ยงเป็นที่ตั้ง หรือ Risk Based Allocation ซึ่งจะมีการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง และรักษาความสมดุลระหว่างรายได้และผลตอบแทน ทำให้นักลงทุนสามารถนับผลตอบแทนได้ดี อย่างไรก็ดี ในส่งนของกองทุนทองคำ เป็นเครื่องมือในการช่วยกระจายความเสี่ยง แต่ไม่แนะนำให้นักลงทุนเข้าลงทุนในทองคำเกินสัดส่วน 5% ของเม็ดเงินลงทุน แม้ที่ผ่านมาจะให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 30% แต่เนื่องจากราคาทองคำมีความผันผวนและอ่อนไหวต่อปัจจัยการผลิตยารักษาไวรัสโควิด-19 เป็นหลัก และจะเห็นว่าราคาทองคำในระดับ 2,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อออลล์ เป็นราคาค่อนข้างตึงแล้ว

ล่าสุด ธนาคารมุ่งเน้นการขับเคลื่อนภาคการลงทุนไทยสู่ความยั่งยืนทั้งในมิติของกระบวนการและเป้าหมาย ซึ่งโลกกำลังเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจใหม่ เพื่อมุ่งสู่ CLIC Economy โดยภาคการลงทุนจะมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนธุรกิจที่สร้างความยั่งยืนต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะธุรกิจที่มีส่วนช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งคาดกันว่าจะมีเม็ดเงินลงทุน 5.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 173 ล้านล้านบาทต่อปี ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องไปจนถึงปี 2573

ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมาธนาคารได้เสนอขายกองทุนภายใต้ธีมความยั่งยืนแก่ลูกค้ามาอย่างต่อเนื่อง เช่น K-HIT และ K-CHANGE ได้ผลตอบรับค่อนข้างมี โดยมีขนาดกองทุนอยู่ที่ 2,700-2,900 ล้านบาท ซึ่งสามารถสร้างผลตอบแทนสูงถึง 49%

ล่าสุด เพื่อต่อยอดความยั่งยืนได้ออกกองทุน K Climate Transition ซึ่งเน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของ LO Funds – Climate Transition , (USD), I Class A (กองทุนหลัก) โดยเป็นกองทุนที่คำนึงถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกองทุนแรกและหนึ่งเดียวของไทย มุ่งเน้นลดปัญหาสิ่งแวดล้อมและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศซึ่งเป็นปัญหาใกล้ตัวและต้องการการแก้ไขอย่างเร่งด่วน พร้อมสร้างโอกาสรับผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวจากธุรกิจหลากหลายทั่วโลก โดยจะเปิดขาย IPO ครั้งแรกในช่วงวันที่ 1 ถึง 15 ก.ย.2563 นี้