เงินดอลลาร์แข็งค่า หลังประธานเฟดแจงเศรษฐกิจสหรัฐ ฟื้นตัวเร็วกว่าคาด

เงินบาท-ดอลลาร์

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวการณ์เคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 15 กันยายน 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ที่ระดับ 31.15/16 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (16/9) ที่ระดับ 31.10/12 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยดัชนีดอลลาร์สหรัฐดีดตัวขึ้นหลังเสร็จสิ้นการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในช่วงคืนวันพุธ (16/9) ที่ผ่านมา ซึ่งทางคณะกรรมการมีมติคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 0.00-0.25% และส่งสัญญาณว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยจนถึงปี 2566

นอกจากนี้ที่ประชุมเฟดยังได้ระบุถึงการกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อเฉลี่ย ซึ่งเป็นนโยบายใหม่ของเฟดในการทำให้อัตราเงินเฟ้อมีความยืดหยุ่น และสามารถดีดตัวขึ้นเหนือระดับ 2.00% ซึ่งเป็นระดับเป้าหมายเดิมของเฟดได้ในบางช่วงเวลา ก่อนที่จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ โดยทางคณะกรรมการจะใช้นโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลายต่อไปจนกว่าจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าว

อย่างไรก็ดี นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟดได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนภายหลังการประชุมว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐเกิดขึ้นรวดเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้เบื้องต้น แต่กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 และทิศทางของเศรษฐกิจยังคงมีความไม่แน่นอนที่สูงมาก แม้ตัวเลขการจ้างงานเริ่มฟื้นตัวเนื่องจากประชาชนเริ่มกลับเข้าทำงาน แต่อัตราว่างงานที่ระดับ 8.4% ในเดือนสิงหาคมยังถือว่าสูงมาก และคาดว่าอัตราว่างงานอาจจะสูงกว่าข้อมูลที่เจ้าหน้าที่รายงานอยู่ประมาณ 3% เมื่อพิจารณาจากอัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานที่ปรับตัวลดลง

เช่นเดียวกับการเปิดเผยข้อมูลยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนพื้นฐาน ซึ่งไม่รวมสินค้าในหมวดยานพาหนะ ขยายตัวเพียง 0.7% ในเดือนสิงหาคม จากที่ขยายตัว 1.3% ในเดือนก่อนหน้า ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ 1.0%

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ติดตามการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปี 2564 วาระ 2-3 เป็นวันที่สองโดยจะพิจารณาในส่วนของมาตราที่เหลือ หลังจากเมื่อวานนี้ (16/9) จบที่มาตรา 9 และปิดการประชุมเมื่อเวลา 01.00 น.

รวมทั้งนักลงทุนยังคงจับตาความไม่แน่นอนทางการเมือง โดยเฉพาะการชุนุมใหญ่ที่จะจัดขึ้นในวันเสาร์นี้ (19/9) เพื่อเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และกดดันให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 31.09-31.26 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 31.19/21 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (17/9) ที่ระดับ 1.17770/71 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดวันพุธ (16/9) ที่ระดับ 1.1876/78 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร จากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ รับผลการประชุมเฟด และนักลงทุนยังคงมีความกังวลต่อประเด็นการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ (Brexit) ซึ่งมีความคืบหน้าค่อนข้างน้อย แม้จะมีการจัดการเจรจาระหว่างตัวแทนของทั้งสองฝ่ายมาแล้วถึง 8 ครั้ง

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1735-1.1819 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1794/96 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (17/9) ที่ระดับ 105.03/05 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (16/9) ที่ระดับ 105.20/22 เยน/ดอลลาร์ โดยธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) มีมติคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษในวันนี้ (17/9) โดยมีเป้าหมายที่จะสนับสนุนเศรษฐกิจในช่วงที่ไวรัส COVID-19 ยังคงแพร่ระบาด ซึ่งคณะกรรมการมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ -0.10% พร้อกับคงเป้าหมายอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีไว้ที่ระดับราว 0%

นอกจากนี้บีโอเจยืนยันว่าจะยังคงดำเนินมาตรการจัดสรรเงินกู้ให้กับบริษัทเอกชนที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งบีโอเจจะยังคงซื้อพันธบัตรรัฐบาลจากสถาบันการเงินต่าง ๆ โดยไม่จำกัดจำนวน และเข้าซื้อกองทุน ETF รายปีในอัตรา 12 ล้านล้านเยนต่อปี

แถลงการณ์ของบีโอเจระบุว่า เศรษฐกิจของญี่ปุ่นได้เริ่มฟื้นตัวขึ้นแล้ว โดยกิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป แม้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจยังคงวิกฤต อันเนื่องมาจากผลกระทบของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่แพร่ระบาดทั้งในและต่างประเทศ

และสื่อมวลชนคาดว่าในการแถลงข่าววันนี้ นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการบีโอเจจะประกาศแสดงความร่วมมือกับรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีโยชิฮิเดะ สึงะ ซึ่งเป็นรัฐบาลชุดใหม่เพื่อรับมือกับผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรค COVId-19 ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 104.66-105.16 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 104.7/76 ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตัวเลขดัชนีภาคการผลิตของเฟดสาขาฟิลาเฟลเดเฟีย และจำนวนผู้ขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกของสหรัฐในวันนี้ (17/9) และตัวเลขความเชื่อมั่นผู้บริโภคของมหาวิทยาลัยมิชิแกนในวันศุกร์ (18/9)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้ 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -0.25/+0.25 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ +0.50/+5.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ