สินเชื่อบ้านแข่งดุปลายปี แบงก์ใหญ่โดดสู้ศึกหั่นดอกเบี้ย

สินเชื่อที่อยู่อาศัย

จับตาโค้งท้ายไตรมาส 4 แบงก์แข่งปล่อยสินเชื่อบ้าน “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ชี้แนวโน้มคึกคักทั้ง “ลดดอกเบี้ย-ผูกบัญชีเงินฝาก” สอดรับเทรนด์ดีเวลอปเปอร์อัดแคมเปญ “ลดราคา” เร่งระบายสต๊อกเพื่อ “เก็บสภาพคล่อง” รับมือความไม่แน่นอน เผยภาพรวม 7 เดือนแรกสินเชื่อบ้านยังโตได้ 4.8% ฝ่ามรสุม “โควิด” ขณะที่ “แบงก์กสิกรฯ” รับเห็นสัญญาณแบงก์ใหญ่ลงแข่ง ชูดอกเบี้ย 3 ปีแรก 3.6% จับมือพันธมิตรเน้นเจาะรายโครงการ คาดปล่อยกู้ใหม่แตะ 1 แสนล้านบาท “ทะลุเป้า”

นางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สินเชื่อที่อยู่อาศัยในปีนี้ ช่วง 7 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ค.) ถือว่ายังมีการเติบโต โดยยอดสินเชื่อคงค้างเติบโตเพิ่มขึ้น 4.8% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน หรือคิดเป็นยอดสินเชื่อคงค้างที่ 2.43 ล้านล้านบาท โดยแนวโน้มในช่วง 3-4 เดือนที่เหลือ เนื่องจากผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (ดีเวลอปเปอร์) รายใหญ่ยังทยอยนำที่อยู่อาศัยที่มีคงค้างในสต๊อกออกมาทำการตลาดต่อเนื่อง โดยนำเสนอแคมเปญลดราคา เร่งระบายสต๊อก เพื่อให้ธุรกิจมีสภาพคล่องและรายได้เข้ามาให้มากที่สุด เนื่องจากอาจจะมองว่าสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจยังคงมีความไม่แน่นอนสูง

ขณะที่แนวโน้มการชำระสินเชื่อคืนยังชะลอ จึงคาดว่าสินเชื่อคงค้างจะยังขยายตัวได้ แต่ในอัตราที่ชะลอลง ทั้งนี้ ภาพรวมทั้งปี 2563 สินเชื่อบ้านคาดว่าจะเติบโตราว 3-4% ยอดสินเชื่อคงค้างที่ 2.46 ล้านล้านบาท จากปีก่อนหน้าที่สินเชื่อที่อยู่อาศัยเติบโตได้ 5.4% มียอดคงค้างอยู่ที่ 2.37 ล้านล้านบาท

“ช่วงที่เหลือของปีน่าจะเห็นการแข่งขันด้านราคาเพิ่มขึ้น ในรูปแบบที่หลากหลาย เช่น การผูกสินเชื่อบ้านกับบัญชีเงินฝาก เพื่อลดภาระด้านดอกเบี้ย หรือการลดดอกเบี้ยในช่วงต้น เป็นต้น โดยตอนนี้เริ่มเห็นธนาคารพาณิชย์ขนาดกลางและขนาดเล็กเข้ามาแข่งขันมากขึ้น อย่างไรก็ดี การอนุมัติสินเชื่อยังคงเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน” นางสาวธัญญลักษณ์กล่าว

อย่างไรก็ดี ตัวเลขโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ-ปริมณฑลในช่วง 7 เดือนแรก อยู่ที่ 1.04 แสนยูนิตหดตัว -6.1% ขณะที่ปี 2562 ทั้งปีหดตัว -1.5% หรือมียอดโอนอยู่ที่ 2.06 แสนยูนิต เนื่องจากมีการเร่งโอนก่อนมีมาตรการกำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัย (LTV) ดังนั้น ปีนี้จึงคาดว่ายอดการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยจะยังหดตัว เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหายไป รวมถึงกำลังซื้อที่ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว

“ผู้ประกอบการเอง ก็พยายามปรับตัว เมื่อเห็นกระแสรายได้ในอนาคตที่ไม่เหมือนเดิม จากเป็นภาวะที่ไม่ปกติ ก็เน้นทำตลาด ระบายสต๊อก เก็บสภาพคล่อง และชะลอเปิดโครงการใหม่ หรือไม่ก็ทำโครงการที่ไม่ใหญ่มาก เพราะตอนนี้ยังมีซัพพลายส่วนเกินเหลือค่อนข้างมาก ส่วนการขอปรับเกณฑ์ LTV อาจจะช่วยให้ลูกค้าบางกลุ่มเข้าถึงได้ แต่เชื่อว่าจากภาพรวมเศรษฐกิจอาจจะช่วยไม่ได้มาก เพราะอำนาจซื้อหายไปตามรายได้ที่ลดลง” นางสาวธัญญลักษณ์กล่าว

นายพจนารถ แสงพฤกษ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า สินเชื่อบ้านปีนี้ยังขยายตัวได้ เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่กลับมาลงเล่นในตลาดมากขึ้น เพราะเห็นความต้องการที่อยู่อาศัยยังมีอยู่ ประกอบกับดีเวลอปเปอร์มีจัดโปรฯเพื่อเร่งระบายสต๊อก โดยคาดว่าปีนี้สินเชื่อบ้านทั้งระบบจะขยายตัวได้ราว 4-5% จากครึ่งปีแรกเติบโตแล้ว 2-3%

“ตอนนี้เห็นแบงก์ใหญ่ ๆ ลงมาแข่งขันกันมากขึ้น เพราะบ้านยังมีดีมานด์อยู่ ส่วนความเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ เรายังเหมือนเดิม คือ มีการคัดกรองก่อนปล่อยกู้ (prescreen) ทำให้ยอดอนุมัติคงอยู่ที่ 70% และยอดปฏิเสธสินเชื่อ (รีเจ็กต์เรต) ยังอยู่ที่ 30% เท่าเดิม”

สำหรับกสิกรไทยจะเน้นเจาะเป็นรายโครงการ ไม่เน้นทำการตลาดแบบปูพรม แต่จะร่วมมือกับพันธมิตรที่ธนาคารปล่อยสินเชื่อโครงการ (พรีไฟแนนซ์) ให้ โดยเสนออัตราดอกเบี้ยพิเศษให้กับผู้กู้รายย่อย (โพสต์ไฟแนนซ์) ที่ดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปีแรก เหลือ 3.6% จากปกติที่ดอกเบี้ยจะอยู่ระดับ 4%

“ปีนี้เราน่าจะปล่อยสินเชื่อใหม่ได้สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 8 หมื่นล้านบาท โดยคาดว่าจะสามารถทำได้ใกล้เคียง 1 แสนล้านบาท หรือเติบโต 15% จากยอดสินเชื่อคงค้างที่ราว 4 แสนล้านบาท โดยสินเชื่อที่โต ส่วนหนึ่งมาจากมาตรการพักชำระหนี้ด้วย ปัจจุบันมีลูกค้าเข้าโครงการประมาณ 40% ของสินเชื่อบ้าน ซึ่งในจำนวนดังกล่าวประมาณ 70% เริ่มกลับมาชำระปกติ และอีก 30% อาจจะยังสะดุดไปบ้าง” นายพจนารถกล่าว