ช้อปดีมีคืน : ธีระชัย โพส​ต์เสียดายรัฐบาลเสพติดกระตุ้นบริโภคถอนตัวไม่ขึ้น​

Photo by Romeo GACAD / AFP

“ธีระชัย” โพส​ต์เสียดายรัฐบาลเสพติดนโยบายกระตุ้นอุปโภคบริโภคแบบถอนตัวไม่ขึ้น​ หลังไฟเขียว​ “ช้อปดีมีคืน”

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต​ รมว.คลัง​ โพสต์​เฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala ระบุว่า​ “รัฐบาลใช้เงินไม่เป็น” โดยกล่าว​ถึงการที่รัฐบาลนำมาตรการ​ช้อปดีมีคืนมาใช้กระตุ้น​เศรษฐกิจ​ว่า​ “วันที่ 7 ตุลาคม 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาล ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจากการระบาดของโรคติดเชื้อโคโรนา 2019 (ศบศ.) เห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ มาตรการ ’ช้อปดีมีคืน’ ที่เสนอโดยกระทรวงการคลัง ภายใต้มาตรการรักษาระดับการบริโภคภายในประเทศ”

ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล

ผมตั้งข้อสังเกตว่า น่าเสียดายที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เสพติดนโยบายกระตุ้นอุปโภคบริโภคแบบถอนตัวไม่ขึ้น ที่ผ่านมามี ช้อปช่วยชาติ และชิมช้อปใช้ หวังส่งผลต่อตัวเลข จีดีพี แบบฉับพลัน แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่สนใจว่า นโยบายทำนองนี้ ไม่ได้ช่วยพัฒนาคน หรือเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของประชาชนหรือของประเทศชาติ

ในภาวะเศรษฐกิจปกติ นโยบายทำนองนี้ไม่ได้สร้างผลดีที่ยั่งยืน และเน้นประโยชน์แก่นายทุนเจ้าของผลิตภัณฑ์ยี่ห้อดังและเจ้าของเครือข่ายร้านค้าปลีกเป็นหลัก แต่ในวิกฤตโควิดเป็นการใช้เงินที่ผิดทาง

วิกฤตครั้งนี้ยังจะส่งผลร้ายต่อเศรษฐกิจอย่างน้อยถึงปีหน้า และยังคาดไม่ได้ว่าจุดต่ำสุดจะอยู่ตรงไหน ขณะนี้ ธุรกิจที่รายได้ลดลงก็กระทบการจัดเก็บรายได้และภาษีของรัฐบาลอยู่แล้ว ดังนั้น การใช้จ่ายเงินของรัฐบาลจำเป็นต้องระมัดระวังมากกว่าปกติ

ทุกบาทต้องใช้อย่างมีค่า!

มาตรการให้เอาช้อปปิ้งมาหักภาษี เป็นการหว่านเงินไปทั่ว เรียกได้ว่าโปรยเงินจากเฮลิคอปเตอร์ คนที่ได้ประโยชน์มีทั้งคนรวยและคนจน ไม่ต่างจากมาตรการ ’เราเที่ยวด้วยกัน’ ซึ่งในช่วงภาวะปกติอาจจะพอรับได้ แต่ในช่วงวิกฤตที่รัฐขาดงบประมาณและต้องกู้เงินมาใช้ นับว่าไม่ถูกต้อง

ในช่วงวิกฤตที่รายได้รัฐร่อยหรอเช่นนี้ และกลุ่มที่โดนกระทบหนักปรับตัวได้ยากที่สุดก็คือกลุ่มคนมีรายได้น้อยนั้น การใช้เงินควรจะโฟกัสลงไปที่ชนชั้นล่าง เน้นการช่วยให้ประทังสถานการณ์ เน้นช่วยการปรับตัวแก้ปัญหาชีวิตชั่วคราว ถึงแม้จะทำให้ตัวเลข จีดีพี สูงขึ้นน้อยกว่าการโปรยเงินจากเฮลิคอปเตอร์ซึ่งแจกทั้งคนรวยและคนจน แต่แก้ปัญหาตรงจุดมากกว่า

พล.อ.ประยุทธ์ควรจะเข้าใจว่าหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นนั้น จะเป็นภาระของคนรุ่นหลังไปอีกยาวนาน ดังนั้น การใข้เงินจึงจะต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง เน้นให้ลงไปกลุ่มคนที่สังคมต้องช่วยเหลือจริงๆ หรือเน้นการเพิ่มความสามารถในการปรับตัวและการแข่งขันของชุมชนจริงๆ และควรจะโล๊ะทิ้งทีมงานที่คิดวนเวียนอยู่ในกระด้งประชานิยมได้แล้ว

นอกจากนี้ ผมยังเห็นข่าวว่ารัฐบาลนี้เล็งจะใช้เงินกู้ไปทำโครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย ซึ่งฟังดูแปร่งและไม่แน่ใจว่าจะเป็นการใช้เงินที่คุ้มค่าหรือไม่ ในยุควิกฤตหนักอย่างนี้ ควรควบคุมงบประมาณอย่างเข้มงวดกว่าปกติ