กสิกรไทย ชี้ภาวะวิกฤต ธปท.ปรับเกณฑ์ ลงทุนต่างชาติ ไม่ลดแรงกดดันบาทแข็ง

เงินบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สัปดาห์ที่ผ่านมาในงาน Analyst Meeting ครั้งที่ 3/2563 ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งนักวิเคราะห์ได้สอบถามผู้บริหาร ธปท. ถึงนโยบายการดูแลการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด รวมถึงแรงกดดันค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่า

โดยนายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน กล่าวว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดที่ยังเป็นบวก ในอีกด้านหนึ่งมองได้ว่าเป็นช่องว่างที่การออมสูงกว่าการลงทุน (saving-investment gap) ซึ่งสามารถแยกได้เป็น 2 องค์ประกอบ คือ (1) ปัจจัยวัฏจักรเศรษฐกิจ (cycle) ที่ถูกกระทบอย่างรุนแรงจากโควิด-19 ทำให้การลงทุนลดลงมาก และ (2) ปัจจัยปัญหาเชิงโครงสร้าง (structure) ของเศรษฐกิจไทย

ซึ่งการลงทุนต่อ GDP ค่อนข้างต่ำมานาน จึงต้องดูที่ต้นเหตุเพื่อแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง เช่น เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ลดกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ (regulatory guillotine) สิ่งเหล่านี้จะเป็นหัวใจสำคัญที่ต้องทำควบคู่ไปกับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวและปรับตัวเข้าสู่ดุลยภาพใหม่ได้ นอกจากนี้ ประเด็นการ recycle การเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ให้เงินลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศของคนไทยไหลออกมากขึ้น ยังเป็นโจทย์ที่ ธปท. ต้องทำต่อเนื่อง

ขณะที่นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท. กล่าวเสริมว่า เรื่องการ recycle เงินทุนเคลื่อนย้ายให้คนไทยสามารถนำเงินออกไปลงทุนในต่างประเทศได้เพิ่มขึ้น เรื่องนี้เป็นนโยบายสำคัญที่ ธปท. จะเร่งดำเนินการให้เร็วขึ้น โดยจะเน้นทั้งที่เป็นนักลงทุนสถาบัน ไม่ว่าจะเป็นกองทุนต่าง ๆ ของภาครัฐและเอกชน รวมทั้งนักลงทุนบุคคล จะอนุญาตให้เปิดบัญชีที่เป็นเงินตราต่างประเทศที่คล่องตัวมากขึ้น

นอกจากนี้ มีแนวคิดที่จะอนุญาตให้หลักทรัพย์ต่างประเทศเข้ามาซื้อขายในประเทศไทยได้ เรื่องนี้ได้เริ่มประสานกับทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แล้ว

“เรื่องนี้เป็นเรื่องจำเป็น เนื่องจากหากเราไปดูต่างประเทศ เช่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน และสิงคโปร์ ที่เกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูงมาก แต่ประเทศเหล่านี้สามารถ recycle การเกินดุลของเงินทุนไหลเข้าส่วนนี้ออกไปลงทุนในต่างประเทศได้มาก ช่วยลดแรงกดดันต่อค่าเงินได้ ในส่วนของไทย กฎเกณฑ์กติกาค่อนข้างให้ความสะดวกกับเงินทุนไหลเข้า แต่เงินทุนไหลออกยังมีข้อจำกัดอยู่ ทั้งด้านกฎเกณฑ์และความไม่สะดวกในการนำเงินออก ตรงนี้เป็นนโยบายของ ธปท. ที่ต้องเร่งดำเนินการต่อไป” นายเมธีกล่าว

ด้านห้องค้าเงิน ธนาคารกสิกรไทย ประเมินว่า มาตรการการผ่อนคลายเกณฑ์ดังกล่าว จะช่วยลดแรงกดดันเงินบาทแข็งค่าได้ในสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยที่อยู่ในสภาวะปกติ แต่คาดว่าจะส่งผลต่อค่าเงินจำกัดในภาวะวิกฤตอย่างเช่นในปัจจุบัน เนื่องจาก (1) ผู้ประกอบการมีความจำเป็ นต้องใช้สภาพคล่องมากกว่าปกติ การผ่อนคลายมาตรการ FCD และการลงทุนในต่างประเทศ อาจไม่สามารถจูงใจให้คงรายได้ไว้ในสกุลเงินในต่างประเทศได้

นอกจากนี้ (2) ที่ผ่านมา ความเสี่ยงในตลาดการเงินโลกและความไม่แน่นอนของวิกฤตโควิด-19 ส่งผลให้นักลงทุนไทยมีการดึงเงินกลับไทยจากกองทุน FIFs เป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ยอดการลงทุนในต่างประเทศปรับลดลงมาอยู่ที่ 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการลงทุนทั้งในตราสารทุน ตราสารหนี้ และเงินฝากในต่างประเทศที่ลดลง ทำให้ยอดรวมยังต่ำกว่าวงเงินภายใต้เกณฑ์การลงทุนต่างประเทศของนักลงทุนสถาบันที่ 150,000 ล้านดอลลาร์อย่างมีนัยสำคัญ

ขณะที่แนวโน้มค่าเงินบาทยังผันผวนสูงในช่วงก่อนการเลือกตั้งสหรัฐฯ จากแนวโน้มเงินทุนเคลื่อนย้ายผันผวน ทั้งจากการคาดการณ์ของตลาดต่อแนวโน้มที่ “นายไบเดน” จะชนะการเลือกตั้ง และแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ส่งผลให้ความเชื่อมั่นต่อเงินหยวนและค่าเงินในเอเชียสูงขึ้น แต่ความเสี่ยงต่อเสถียรภาพการเมืองไทยจากการชุมนุมและการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินใน กทม. ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดมีบทบาทต่อค่าเงินบาทลดลงจากผลของวิกฤตเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อปริมาณการค้าสินค้าและบริการ