ดอลลาร์อ่อนค่าหลังไบเดนมีลุ้นคว้าตำแหน่งประธานาธิบดี

Photo by JIM WATSON / AFP

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราระหว่างวันที่ 2-6 พฤศจิกายน 2563

ค่าเงินบาทปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (2/11) ที่ระดับ 31.17/19 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (30/10) ที่ระดับ 31.15/17 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยในคืนวันอังคาร (3/11) ค่าเงินดอลลาร์ปรับตัวอ่อนค่าลงจากความคาดการของนักลงทุนว่านายโจ ไบเดนจากพรรคเดโมแครต อาจจะชนะการเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐในครั้งนี้

อย่างไรก็ดีช่วงระหว่างการนับคะแนนของแต่ละรัฐ ค่าเงินดอลลาร์ได้เคลื่อนไหวในทิศทางผันผวน โดยนายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ออกมาทวีตว่าเขาจะออกมาแถลงชัยชนะหลังที่คว้าชัยในรัฐฟลอริดา, เท็กซัส และโอไฮโอ ซึ่งเป็นรัฐที่มีที่นั่งในคณะเลือกตั้งสูง และมีโอกาสทำให้เค้าคว้าชัยในการเลือกตั้ง

อย่างไรก็ดีผลการนับคะแนนเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ จะยังไม่สิ้นสุดในวันพุธ (4/11) เนื่องจากการเลือกตั้งครั้งนี้ ยังมีคะแนนจากผู้ที่ลงคะแนนผ่านทางไปรษณีย์เป็นจำนวนมาก ซึ่งถูกกำหนดให้ขยายระยะเวลานับคะแนนไปอีก 3 วัน ทำให้นายโจ ไบเดน ยังมีความหวังว่าเค้าจะพลิกกลับมาชนะได้

โดยล่าสุดนายโจ ไบเดน มีคะแนนอยู่ที่ 264 คะแนนขณะที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ มีคะแนนตามหลังอยู่ที่ 214 คะแนน ในส่วนของการประชุมนโยบายการเงินของสหรัฐ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 0.00-0.25% ตามที่ตลาดคาดการณ์ โดยแถลงการหลังการประชุมของเฟดระบุว่า “กิจกรรมทางเศรษฐกิจและการจ้างงานยังคงฟื้นตัวขึ้น แต่ยังอยู่ต่ำกว่าระดับในช่วงต้นปี”

นอกจากนี้ยังระบุว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจทั่วโลก ซึ่งเฟดจะใช้เครื่องมือทุกอย่างเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันเฟดให้คำมั่นว่าจะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จนกว่าการจ้างงานจะเต็มศักยภาพ และอัตราเงินเฟ้อปรับตัวขึ้นเหนือระดับเป้าหมายที่ 2%

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญ ไอเอชเอสมาร์กิตเปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของสหรัฐ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 53.4 ในเดือนตุลาคม จากระดับ 53.2 ในเดือนกันยายน ตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการขั้นสุดท้ายของสหรัฐปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 56.9 ในเดือนตุลาคม จากระดับ 54.6 ในเดือนกันยายน กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่ายอดสั่งซื้อภาคโรงงานสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.1% ในเดือนกันยายน มากกว่าระดับคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 1% โดยได้แรงหนุนจากคำสั่งซื้อสินค้าจำพวกคอมพิวเตอร์ และอิเล็กทรอนิกส์

อย่างไรก็ดีตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนโดยสถาบัน ADP ปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียง 365,000 ตำแหน่ง ในเดือนตุาคม ต่ำกว่าระดับคาดการณ์ที่ระดับ 600,000 ตำแหน่ง โดยได้รับผลกระทบจากการระบาดรอบสองของไวรัสโควิด-19 ส่วนตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกปรับตัวลงสู่ระดับ 751,000 ราย โดยตลาดจับตาดูผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการของสหรัฐ รวมถึงตัวเลขตลาดแรงงานที่จะมีการเปิดเผยในช่วงสุดสัปดาห์

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ในวันอังคาร (3/11) สภาผู้ส่งออกได้ปรับคาดการณ์การตัวเลขการส่งออกของไทยปี 2563 ขึ้นมาเป็นหดตัว 7% จากก่อนหน้านี้ที่ประเมินไว้ที่หดตัว 8% (กรอบ-10% ถึง -8%) เนื่องจากเห็นว่าสถานการณ์การส่งออกเริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจและการค้าโลกที่เริ่มฟื้นตัว

ขณะที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาได้เชิญอดีตนายกฯ “อานันท์-ชวลิต-อภิสิทธิ์-สมชาย” ร่วมตั้งกรรมการสมานฉันท์ พร้อมสั่งบรรจุร่างแก้รัฐธรรมนูญ 7 ฉบับ เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในวันที่ 17 พฤศจิกายนนี้ อย่างไรก็ดีคณะราษฎร์มีแถลงการณ์ไม่ยอมรับ และไม่ร่วมคณะกรรมการสมานฉันท์

นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์ได้แถลงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) ในเดือนตุลาคม อยู่ที่ 102.23 หดตัว 0.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ในเดือนตุลาคม อยู่ที่ 102.94 ขยายตัว 0.19% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้รับแรงหนุนจากราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสดปรับตัวสูงขึ้น อีกทั้งราคาสินค้าในกลุ่มพลังงานก็ปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยกระทรวงพาณิชย์มองว่าแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปีมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น

โดยคาดว่าจะเริ่มหดตัวน้อยลงตามความต้องการอุปโภค บริโภคภายในประเทศจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ทั้งการเพิ่มวันหยุดยาว โครงการเราเที่ยวด้วยกัน โครงการช้อปดีมีคืน และโครงการคนละครึ่ง สำหรับปัจจัยในประเทศที่ต้องติดตาม ได้แก่ การชุมนุมใหญ่ของคณะราษฎร ในวันที่ 8 พฤศจิกายนนี้ ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 30.63-31.20 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (6/11) ที่ระดับ 30.66/68 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดวันจันทร์ (2/11) ที่ระดับ 1.1643/45 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (30/10) ที่ระดับ 1.1674/76 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยค่าเงินยูโรปรับตัวอ่อนค่าต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อนหน้า หลังจากที่ประชุมธนาคารยุโรป (อีซีบี) ได้ส่งสัญญาณกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมเพื่อรับมือกับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และภาวะถดถอยของเศรษฐกิจในภูมิภาค

ขณะที่ไอเอชเอสมาร์กิตได้เปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของยูโรโซนในเดือนตุลาคม ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 54.8 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 27 เดือน จากระดับ 53.7 ในเดือนกันยายน ส่วนตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการบริการในเดือนตุลาคมปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 46.9 จากระดับ 46.2 ในเดือนกันยายน ขณะที่ตัวเลขคำสั่งซื้อภาคโรงงานของเยอรมนีขยายตัวเพียง 0.5% ต่ำกว่าระดับคาดการณ์ที่ 2.1% ทั้งนี้ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบ 1.1602-1.1859 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (6/11) ที่ระดับ 1.1816/18 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (2/11) ที่ระดับ 104.68/69 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (30/10) ที่ระดับ 104.42/44 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยค่าเงินเยนเริ่มปรับตัวแข็งค่าขึ้นในช่วงต้นสัปดาห์ได้รับแรงหนุนจากความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยของนักลงทุนท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ขณะที่ผู้ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้แสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ในยุโรปและสหรัฐ โดยระบุว่า BOJ จะเฝ้าระวังความเสี่ยงขาลงของเศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 103.34-105.34 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดลาดในวันศุกร์ (6/11) ที่ระดับ 103.58/60 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ