เงินทุนไหลเข้า หนุนบาทแข็งสุดในรอบ 10 เดือน

เงินบาท

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราระหว่างวันที่ 9-13 พฤศจิกายน 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (9/11) ที่ระดับ 30.48/50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (6/11) ที่ระดับ 30.60/61 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวอ่อนค่าลง หลังจากผลการนับคะแนนคณะผู้เลือกตั้ง หรือ “Electoral  Vote” ได้เปิดเผยว่า โดยนายโจ ไบเดน จากพรรคเดโมแครต สามารถกวาดคะแนนจากรัฐเพนเซิลวาเนียและรัฐจอร์เจียได้สำเร็จ ส่งผลให้ นายโจ ไบเดน มีคะแนนพุ่งนำนายโดนัลด์ ทรัมป์ เกินกว่า 270 คะแนน อยู่ที่  290 ต่อ 214  จึงขึ้นแท่นเป็นประธานาธิบดีคนที่ 46 สหรัฐ อย่างไม่เป็นทางการ

ทั้งนี้นักวิเคราะห์ได้มีคาดการณ์ว่า แนวนโยบายของนายไบเดน อาจส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวอ่อนค่าลงในอนาคต เนื่องจากนายไบเดนมีนโยบายปรับขึ้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของชาวอเมริกันเพิ่มสูงขึ้นจากระดับ 37% เป็น 39.6% และมีแผนที่จะปรับขึ้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจากระดับ 21% เป็น 28%

รวมถึงการมีการผลักดันการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐรอบใหม่เพื่อช่วยเหลือประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 หลังจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ในสมัยของประธานาธิบดีทรัมป์ ต้องหยุดชะงักไปเนื่องจากทั้งพรรคเดโมแครตและรีพับลิกันไม่สามารถบรรลุข้อตกลงในวงเงินช่วยเหลือดังกล่าวไว้

นายไบเดนจะมีกำหนดการเข้าพิธีสาบานตนเพื่อเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ ในวันที่ 20 มกราคม 2564

ในวันอังคาร ไฟเซอร์ อิงค์ ซึ่งเป็นบริษัทยาของสหรัฐ และ BioNTech ซึ่งเป็นบริษัทยาของเยอรมนี แถลงถึงผลการทดลองที่บ่งชี้ว่า วัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ซึ่งไฟเซอร์และ BioNTech ที่ได้พัฒนาร่วมกัน มีประสิทธิภาพมากกว่า 90% ในการป้องกันไวรัสโควิด-19 สำหรับผู้ที่ไม่เคยติดเชื้อมาก่อน

ทั้งนี้ไฟเซอร์จะยื่นจดทะเบียนวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ต่อสำนักงานอาหารและยาสหรัฐ (FDA) ในช่วงสัปดาห์หน้า และคาดว่าจะมีการผลิตวัคซีน 50 ล้านโดสภายในปีนี้ และ 1.3 พันล้านโดสในปี 2564

แต่ในช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมาดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่าขึ้น หลังนักลงทุนยังคงกังวลต่อประสิทธิภาพและความสามารถในการผลิตวัคซีนว่าจะเพียงพอต่อประชากรได้ทันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกสองที่ยังคงรุนแรงในสหรัฐ โดยล่าสุดสหรัฐมีจำนวนยอดผู้ติดเชื้อสูงถึง 10,568,714 ราย และมีผู้เสียชีวิตแล้วถึง 245,973 ราย รวมถึงข้อจำกัดในการเก็บรักษาและขนส่งวัคซีนที่จะเป็นอุปสรรคต่อการส่งมอบวัคซีนไปยังประเทศต่าง ๆ

ขณะที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวว่า ความคืบหน้าในการพัฒนาวัคซีต้านไวรัสโควิด-19 ถือเป็นข่าวดีในระยะกลาง แต่ก็ยังคงมีความท้าทายและความไม่แน่นอนเกี่ยวกับช่วงเวลาในการผลิต แจกจ่าย และประสิทธิภาพของวัคซีนในกลุ่มที่แตกต่างกัน

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐมีการประกาศตัวเลขตำแหน่งงานเปิดใหม่จาก JOLTs ประจำเดือนกันยายน อยู่ที่ 6,436 ล้านตำแหน่ง ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 6.5 ล้านตำแหน่ง ขณะที่กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) ออกมาทรงตัวในเดือนตุลาคมจากการปรับตัวลงของราคาน้ำมัน แม้ว่าราคาอาหารจะปรับตัวขึ้นก็ตาม

ขณะที่ตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (ไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน) ในเดือนตุลาคม ก็ออกมาทรงตัวเช่นกัน ขณะที่ตัวเลขผู้ยื่นของสวัสดิการว่างงานครั้งแรกปรับตัวลดลงเป็นสัปดห์ที่ 4 ติดต่อกัน โดยลดลงสู่ระดับ 709,000 ราย

สำหรับปัจจัยในประเทศค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นโดยได้รับแรงสนับสนุนจากกระแสเงินทุนไหลเข้าจากนักลงทุนต่างชาติเป็นจำนวนมาก โดยวันอังคาร (10/11) ในตลาดทุนนักลงทุนต่างประเทศมีสถานะซื้อสุทธิ 18,958.37 ล้านบาท ส่วนตลาดพันธบัตรก็มีเงินทุนจากนักลงทุนต่างชาติไหลเข้ามาราว 5,500 ล้านบาทแล้วตั้งแต่ต้นสัปดาห์ และข่าวความคืบหน้าของวัคซีนป้องกันโควิด-19 ยังเป็นปัจจัยบวกต่อมุมมองเศรษฐกิจไทย เนื่องจากคาดว่าหากวัคซีนสามารถใช้ได้แล้วจะช่วยให้ภาคการท่องเที่ยวของไทยสามารถฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 30.16-30.71 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (13/11) ที่ระดับ 30.22/24 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดวันจันทร์ (09/11) ที่ระดับ 1.1880/81 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (06/11) ที่ระดับ 1.1849/50 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรได้ปรับตัวแข็งค่าขึ้นขานรับผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ซึ่งจะส่งผลดีต่อความสัมพันธ์ด้านการค้าระหว่างสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังคงมีความกังวลในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในหลายประเทศของยุโรปและความไม่แน่นอนในการเจรจาระหว่างสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรป (Brexit) ทั้งนี้ในวันพุธ (11/11) นางคริสติน ลาการ์ด ประธานาธิบดีธนาคารกลางยุรป (ECB) ออกมากล่าวว่า ECB จะใช้มาตรการเข้าซื้อพันธบัตรและส่งสัญญาณว่าจะใช้มาตรการทางการเงินที่ผ่อนคลายเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

นอกจากนี้นายโอลาฟ โชลซ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของเยอรมนี กล่าวว่า การที่รัฐบาลเยอรมนีใช้มาตรการล็อกดาวน์ในเดือนพฤศจิกายนเพื่อสกัดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในไตรมาส 4 ทั้งนี้ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 1.1744-1.1919 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (13/11) ที่ระดับ 1.1816/18 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ที่ระดับ (09/11) ที่ระดับ 103.30/32 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (06/11) ที่ระดับ 103.37/39 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนได้ปรับตัวอ่อนค่า หลังชัยชนะของนายโจ ไบเดน ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ

อย่างไรก็ตามค่าเงินเยนได้ปรับตัวอ่อนค่าลงหลังจากการเทขายสินทรัพย์ปลอดภัยและเข้าซื้อสินทรัพย์เสี่ยงของนักลงทุน หลังจากไฟเซอร์ อิงค์ และ BioNTech ได้มีการแถลงถึงความก้าวหน้าของวัคซีนต้นไวรัสโควิด-19

นอกจากนี้ช่วงเช้าอังคารที่ผ่านมา (10/11) กระทรวงการคลังญี่ปุ่นได้มีการเปิดเผยยอดบัญชีเดินสะพัดของญี่ปุ่นในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2563 ได้ลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปี อยู่ที่ระดับ 6.69 ล้านล้านเยน (6.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปีงบประมาณ 2557 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 5.89 ล้านล้านเยน

โดยยอดส่งออกปรับตัวลดลง 19.2% แตะที่ 30.30 ล้านล้านเยนในช่วงเดือนเมษายน ถึงกันยายน โดยได้รับผลกระทบจากยอดส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ไปยังอเมริกาเหนือที่ร่วงลง อันเนื่องมาจากการล็อกดาวน์เพื่อคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่วนยอดนำเข้าปรับตัวลง  19.5% แตะที่ 30.29 ล้านล้านเยน โดยได้รับผลกระทบจากการปรับตัวลงของราคาน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์พลังงานอื่น ๆ

แต่ในช่วงกลางสัปดาห์ค่าเงินเยนลดช่วงบวกในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย เนื่องจากนักลงทุนยังคงกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในสหรัฐ และยุโรปที่ยังคงทวีความรุนแรงมากขึ้น แม้ว่าจะมีความคืบหน้าของการคิดค้นวัคซีนป้องกันโควิด-19 แต่นักลงทุนยังกังวลถึงข้อจำกัดด้านต่าง ๆ ของวัคซีน ทั้งด้านคุณภาพการรักษา และการขนส่ง

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของญี่ปุ่น ผลสำรวจรอยเตอร์ทังกันพบว่าความเชื่อมั่นทางธุรกิจของผู้ผลิตในเดือนพฤศจิกายนเพิ่มขึ้นสู่ระดับ -13 จาก -26 อย่างไรก็ดียอดสั่งซื้อเครื่องจักรพื้นฐานปรับตัวลดลง 4.4% ในเดือนกันยายน หลังจากที่เพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือนสิงหาคม ซึ่งลดความหวังที่ว่า การฟื้นตัวอย่างรวดเร็วของการใช้จ่ายในภาคธุรกิจอาจจะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวแข็งแกร่งจากวิกฤตเชื้อโควิด-19 และการลดลงดังกล่าวยังตอกย้ำถึงความไม่มั่นใจในการลงทุนของภาคเอกชน

ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 103.16-105.36 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (13/11) ที่ระดับ 104.91/92 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ