LTF ปาดเหงื่อ 6 เดือนยอดวูบ นักลงทุนเทขายเก็บเงินสด

กองทุนแฝดฝืด นักลงทุนชะลอซื้อ เผย 6 เดือนแรก กอง LTF ยอดสินทรัพย์วูบ ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน บัวหลวงชี้เหตุภาวะตลาดหุ้นแกว่งตัวแคบไม่เอื้อเข้าซื้อ แถมนักลงทุนที่ครบอายุทยอยขายเก็บกำไรก่อน บลจ.ลุ้นครึ่งปีหลัง นักลงทุนเข้าซื้อเพื่อหักลดหย่อนภาษี

กองแฝดครึ่งแรกยอดวูบ

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า แนวโน้มการเติบโตของกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) หรือที่เรียกว่ากองทุนแฝด ในปี 2560 เริ่มชะลอตัว โดยข้อมูลจากสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) เปิดเผยว่า ณ เดือน มิ.ย. 2560 กองทุน LTF ทั้งอุตสาหกรรม มีสินทรัพย์สุทธิภายใต้การบริหารจัดการ (AUM) ลดลงเหลือ 330,809.53 ล้านบาท จากสิ้นปี 2559 ที่อยู่ระดับ 337,392.31 ล้านบาท

ขณะที่กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) แม้สินทรัพย์สุทธิจะยังคงเติบโต แต่ก็เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย โดยสิ้น มิ.ย. 2560 อยู่ที่ 217,548.32 ล้านบาท จากสิ้นปี 2559 อยู่ที่ 211,604.10 ล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเมื่อปี 2559 กระทรวงการคลังประกาศเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการถือครอง LTF จาก 5 ปีปฏิทิน ให้เป็น 7 ปีปฏิทิน โดยมีผลตั้งแต่ 1 มกราคม 2559 ทำให้นักลงทุนต้องเพิ่มระยะเวลาการถือครองเพิ่มขึ้นประกอบกับภาวะตลาดหุ้นไทยปี 2559 ที่ผ่านมา ได้ปรับขึ้นอย่างมาก โดยดัชนีเพิ่มขึ้นถึง 19.79% มาอยู่ที่ 1,542.94 จุด (30 ธ.ค. 2559) ทำให้นักลงทุนที่ครบกำหนดอายุการถือครองในปี 2560 มีโอกาสขายเพื่อทำกำไรออกมามาก

ตลาดหุ้นไม่เอื้อ-ลุ้นครึ่งปีหลัง

นายกิตติคุณ ธนรัตนพัฒนกิจ นักวิเคราะห์ข้อมูล บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) กล่าวว่า นับตั้งแต่ ม.ค.-พ.ค. 2560 พบว่ามีเงินไหลออกจากกอง LTF ราว 1.3 หมื่นล้านบาท ขณะที่กองทุน RMF มีเงินไหลออกสุทธิ 450 ล้านบาท เทียบช่วงเดียวกันปีก่อนที่ LTF มีเม็ดเงินไหลออกสุทธิเพียง 5.15 พันล้านบาท ขณะที่ RMF มีเงินไหลเข้าสุทธิ 380 ล้านบาท สะท้อนสัญญาณการลงทุนในกองทุนแฝดปี 2560 เริ่มมีทิศทางชะลอตัวลง

สาเหตุที่ปีนี้นักลงทุนยังไม่ได้เข้ามาซื้อกองทุนแฝดมากนัก เป็นผลจากหลายปัจจัย ทั้งเรื่อง 1.อัตราผลตอบแทนที่อยู่ในระดับที่น่าพึงพอใจ ทำให้นักลงทุนบางกลุ่มขายหน่วยลงทุนเพื่อทำกำไรก่อน โดยช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2556-2560) กองทุน LTF สร้างผลตอบแทนเฉลี่ย 7% ต่อปี 2.นักลงทุนมีความวิตกเรื่องของความผันผวนของตลาดหุ้น เนื่องจากมีปัจจัยต่างประเทศที่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนได้ตลอด ทำให้กองทุน LTF ซึ่งส่วนใหญ่ลงทุนในหุ้นไทย ยังไม่มีแรงซื้อเข้ามาอย่างโดดเด่น

ขณะที่กองทุน RMF ซึ่งมีกองทุนหลากหลายประเภทกว่า เช่น กองทุนที่ลงทุนในหุ้นต่างประเทศ กองทุนตราสารหนี้ จึงคาดว่าจะมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีกว่าในช่วงครึ่งปีหลัง และน่าจะยังมีเงินเข้าซื้อสุทธิ เนื่องจากนักลงทุนบางกลุ่มอาจต้องการปรับพอร์ต หรือเพิ่มทางเลือกการสร้างผลตอบแทนในวัยเกษียณมากขึ้น

“ภาวะตลาดหุ้นไทยที่ค่อนข้างนิ่ง ดัชนีแกว่งในกรอบแคบ แถมเรายังอยู่ในสถานการณ์ที่มีแต่คนที่พูดถึงเรื่องวิกฤต ทำให้การลงทุนกองทุน LTF-RMF ในช่วงครึ่งแรกของปี 2560 ยังอยู่ในภาวะชะลอตัว อย่างไรก็ตามคาดว่าครึ่งปีหลัง น่าจะเริ่มเห็นเม็ดเงินเข้ามา” นายกิตติคุณกล่าว

บัวหลวงคาด LTF ทั้งปีโต 7-8%

นายพีรพงศ์ จิระเสวีจินดา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนบัวหลวง กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวม LTF ปีนี้คงเติบโตในลักษณะชะลอตัว ประเด็นหลักเป็นผลจากภาวะตลาดหุ้นไทยที่แกว่งตัวในกรอบแคบมาก นับตั้งแต่ปลายปี 2559 โดยจากข้อมูลตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยชัดเจนว่า ดัชนีปรับตัวบวกเพียง 1.72% โดยล่าสุด (7 ก.ค. 2560) อยู่ที่ 1,569.44 จุด จากสิ้นปีอยู่ที่ 1,542.94 จุด ทำให้นักลงทุนบางส่วนเห็นว่าควรขาย LTF ที่ครบกำหนดอายุการถือครองเพื่อทำกำไรบางส่วน เพราะหากยังถือต่อไปก็อาจจะหาผลตอบแทนที่ดีไม่ได้ ทำให้มีแรงเทขายสุทธิในช่วงครึ่งปีแรก ในส่วนของ บลจ.บัวหลวง นับตั้งแต่ต้นปีถึงเดือน มิ.ย. ก็มีเงินไหลออกจากกอง LTF สุทธิ 1.5 พันล้านบาท เช่นเดียวกับอุตสาหกรรม แต่เดือน มิ.ย.ก็เริ่มมีสัญญาณการเข้ามาซื้อบ้างแล้ว ในช่วงครึ่งปีหลัง น่าจะเริ่มมีเม็ดเงินทยอยไหลเข้าลงทุนทั้งใน LTF และ RMF มากขึ้น โดยประเมินว่าเงินที่ไหลเข้า LTF ทั้งอุตสาหกรรมน่าจะเติบโตราว 7-8% เท่านั้น หากภาวะตลาดหุ้นไทยยังคงแกว่งตัวในกรอบแคบ ขณะที่ RMF คาดว่าจะสามารถขยายตัวได้ดีกว่า โดยน่าจะเติบโตราว 10% ขึ้นไป เพราะกระแสการตื่นตัวในเรื่องสังคมสูงวัยเริ่มได้รับความสนใจมากขึ้น

นายวศิน วณิชย์วรนันต์ ประธานกรรมการบริหาร บลจ.กสิกรไทย กล่าวว่า แรงซื้อกองทุนแฝดน่าจะเริ่มส่งสัญญาณดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง เนื่องจากนักลงทุนหลายคนยังคงต้องการใช้ช่องทางการลงทุนนี้สำหรับลดหย่อนภาษี ส่วนเงินที่ไหลออกไปจากกองทุน LTF ครึ่งปีแรกน่าจะมาจากหลายสาเหตุ ทั้งในเรื่องความต้องการใช้เงินของนักลงทุน, นักลงทุนบางส่วนไม่ต้องการลงทุนระยะยาวมาก และเกิดจากการปรับพอร์ตของนักลงทุนเพื่อหาจังหวะรอเข้าซื้อใหม่ เป็นต้น

“ตอนนี้ตลาดหุ้นไทยตึง ๆ อยู่ที่ 1,600 จุด ดังนั้นคนก็อาจจะรอให้ตลาดปรับตัวลดลงแล้วค่อยเข้าซื้อ ถ้าดัชนียังไม่ปรับตัวลดลง สุดท้ายเงินก็น่าจะไหลเข้าในช่วงปลายปีตามฤดูกาล เพื่อใช้กองทุนแฝดช่วยในเรื่องประหยัดภาษี” นายวศินกล่าว

3 กองทุนผลตอบแทนสูงสุด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับกองทุน LTF ที่สร้างผลตอบแทนสูงสุด 3 กองทุน ในช่วง 5 ปีย้อนหลัง (2556-2560) ได้แก่ กองทุนเปิด บรรษัทภิบาล หุ้นระยะยาว (CG-LTF) 12.27% กองทุนเปิดภัทร หุ้นระยะยาวปันผล (PHATRA LTFD) 11.40% กองทุนเปิดเอ็มเอฟซีเพิ่มค่าหุ้นระยะยาว (MV-LTF) 10.34% ด้านกองทุน RMF ประเภทตราสารทุนที่สร้างผลตอบแทนสูงสุด 3 กองทุน ช่วง 5 ปีย้อนหลัง ได้แก่ กองทุนเปิดบัวหลวงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการเลี้ยงชีพ (IN-RMF) 12.28% กองทุนเปิดภัทร หุ้นทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (PHATRA EQRMF) 10.61% กองทุนเปิดบัวหลวงตราสารทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (BERMF) 9.95%

ส่วนกองทุน RMF ประเภทตราสารหนี้ที่สร้างผลตอบแทนสูงสุด 3 กองทุน ได้แก่ กองทุนเปิดธนชาตตราสารหนี้เพื่อการเลี้ยงชีพ (T-NFRMF) 3.33% กองทุนเปิดกรุงศรีพันธบัตรเพื่อการเลี้ยงชีพ (KFGOVRMF) 2.90% กองทุนเปิดซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล ไลฟ์ ตราสารหนี้เพื่อการเลี้ยงชีพ (CIMB-PRINCIPAL FIRMF) 2.86% และกองทุน RMF ประเภทกองทุนผสมที่สร้างผลตอบแทนสูงสุด 3 กองทุน ได้แก่ กองทุนเปิดกรุงศรีเฟล็กซิเบิ้ล 2 เพื่อการเลี้ยงชีพ (KFFLEX2RMF) 11.11% กองทุนเปิดเอ็มเอฟซีเงินทุนสร้างค่าเพื่อการเลี้ยงชีพ (M-VALUE) 9.79% กองทุนเปิดธนชาตมิกซ์ ฟันด์ เพื่อการเลี้ยงชีพ (T-NMIXRMF) 9.78%