“กฤษณ์” ซีอีโอไทยคนแรก พิสูจน์ฝีมือนำ “AIA” ฝ่ามรสุมโควิด

กฤษณ์ จันทโนทก
กฤษณ์ จันทโนทก
สัมภาษณ์

แม้ว่าจะเป็นธุรกิจข้ามชาติ ทว่า “เอไอเอ ประเทศไทย” (AIA) ก็เป็นบริษัทประกันชีวิตยักษ์ใหญ่ที่คนไทยคุ้นเคยเป็นอย่างดี เพราะทำธุรกิจในไทยมานานถึง 82 ปี โดยเฉพาะช่วง 4 ทศวรรษหลังครองเจ้าตลาดด้วยมาร์เก็ตแชร์อันดับ 1 ของตลาดมาโดยตลอด

อย่างไรก็ดี จากสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงค่อนข้างเร็ว ในยุคปัจจุบันบริษัทแห่งนี้ได้เปลี่ยนมาใช้บริการผู้บริหารคนไทย โดยดึง “กฤษณ์ จันทโนทก” มานั่งเก้าอี้ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอ ประเทศไทย ถือได้ว่าเป็นคนไทยคนแรกบนเก้าอี้นี้ ซึ่งได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงภารกิจที่จะต้องเข้ามาผลักดัน ท่ามกลางบทพิสูจน์สำคัญในการเคลื่อนทัพให้รอดพ้นวิกฤตโควิด-19

เศรษฐกิจปี 2564 ยังท้าทาย

โดย “กฤษณ์” ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปี 2564 จะยังมีความท้าทาย แม้ว่าที่ผ่านมาตลาดหุ้นทั่วโลกจะขานรับผลเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ รวมไปถึงมีความคืบหน้าวัคซีนป้องกันเชื้อโควิด-19 แต่กว่าจะมาถึงมือคนไทยคาดว่าน่าจะใช้เวลาอีกพอสมควร ดังนั้น เศรษฐกิจไทยครึ่งปีแรกจะไม่แตกต่างจากช่วงไตรมาส 4 ปี 2563 มากนัก

“ถ้าวัคซีนมีเคสที่ประสบความสำเร็จมากขึ้น และกระทรวงสาธารณสุขไทยยอมรับมาตรฐานดังกล่าว แล้วคนไทยได้ฉีดวัคซีนในวงกว้าง รวมไปถึงทั่วโลกสามารถเปิดให้มีการเดินทางระหว่างกันได้ หรือ travel bubble เศรษฐกิจครึ่งปีหลังก็น่าจะกลับมากระเตื้องขึ้น”

การลงทุนผันผวนทั่วโลก

ในแง่การลงทุน “กฤษณ์” บอกว่า จะยังมีความผันผวนอยู่พอสมควร แม้ว่าปีที่ผ่านมาตลาดหุ้นในต่างประเทศจะมีอัตราการเติบโตสูงขึ้นมาก แต่ถ้าดูในเนื้อแท้จะเห็นว่ามันเป็นการมองสถานการณ์ ที่เรียกว่า “blue sky” หมายความว่ามองข่าวดีโดยที่ไม่มองข่าวร้ายเลย จึงเกิดเหตุการณ์ที่หุ้นทั่วโลกวิ่งดี ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากเงินทุน (ฟันด์โฟลว์) ที่ไม่รู้จะไหลไปอยู่ที่ไหน จึงทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกรวมถึงตลาดหุ้นไทยได้รับอานิสงส์ไปด้วย แต่การเติบโตนั้นอาจจะไม่ใช่เกิดจากปัจจัยพื้นฐาน (fundamental) ที่จะสามารถทำให้เติบโตได้อย่างมั่นคง

“ตลาดหุ้นทั่วโลกยังมีความเสี่ยงตราบใดที่วัคซีนไม่เคลียร์ ไม่เกิด travel bubble ความมั่นใจในระยะยาวไม่มา ก็เป็นเพียงแค่ข่าวดีในระยะสั้น ซึ่งแน่นอนนักลงทุนที่ฉวยโอกาสลงทุนระยะสั้น ก็อาจจะได้อานิสงส์ แต่คนที่ไม่เข้าใจและเข้าผิดจังหวะก็จะเกิดความเสี่ยง”

ปี’64 เบี้ยประกันชีวิตยัง “ติดลบ”

“กฤษณ์” ประเมินภาพรวมธุรกิจประกันชีวิตปี 2564 ว่า หากมองย้อนกลับไปในปี 2563 ตัวเลขเบี้ยประกันทั้งระบบถือว่าดีไม่ได้ออกมาแย่มาก ซึ่งที่ดีก็ดีได้จากการขายประกันออมทรัพย์ผ่านช่องทางธนาคาร (แบงก์แอสชัวรันซ์) เป็นหลักที่เบี้ยยังโต โดยมีไม่กี่บริษัทที่โต แต่ไม่มีกำไร แถมยังสร้างผลลบต่อความมั่นคงของบริษัทด้วย

“ดังนั้น หากปี 2564 ยังขายสินค้าเหล่านี้ต่อไป ภาพรวมเบี้ยประกันก็อาจจะยังโต แต่ถ้าบริษัทที่ยังขายอยู่เริ่มกังวลต้นทุนเชิงลบและหยุดขาย ก็อาจจะทำให้เบี้ยประกันทรงตัวใกล้เคียงกับปี 2563 ไม่ได้ติดลบหนัก ๆ ซึ่งในปี 2563 เบี้ยประกันก็ไม่ได้ติดลบเยอะ ทั้งของเอไอเอและทั้งอุตสาหกรรมในช่วงไตรมาส 4 ค่อย ๆ ฟื้นตัวดีขึ้นตามลำดับ”

ช่วยลูกค้าบรรเทาภาระ “โควิด”

ซึ่งในปี 2564 หากลูกค้ายังได้รับผลกระทบจากโควิดอยู่ บริษัทก็พร้อมให้ความช่วยเหลือตามมาตรการที่ออกมาร่วมกัน ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้มีการหารือกับทางสมาคมประกันชีวิตไทย และ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) อย่างใกล้ชิด โดยเอไอเอก็ได้ผ่อนผันการชำระเบี้ย ซึ่งมีลูกค้าที่ประสบปัญหาเข้ามาขอใช้สิทธิพอสมควร ช่วยให้ลูกค้ายังมีโอกาสถือกรมธรรม์ต่อไปได้

“ปัจจุบันลูกค้าบางรายก็เริ่มกลับมาชำระได้แล้ว ซึ่งในภาพรวมลูกค้ากลุ่มที่ได้รับผลกระทบก็คงหนีไม่พ้นกลุ่มที่พึ่งพาธุรกิจท่องเที่ยวทั้งทางตรงและทางอ้อม แต่เน้นย้ำว่าอัตราการต่ออายุกรมธรรม์ที่ครบกำหนดของเอไอเอไม่ได้แตกต่างจากปีก่อน ๆ”

มุ่งขายยูนิตลิงก์-ประกันโรคร้าย

สำหรับแผนธุรกิจปี 2564 ของ “เอไอเอ ประเทศไทย” นั้น “กฤษณ์” บอกว่า บริษัทพุ่งเป้านำเสนอสินค้ายูนิตลิงก์แบบสุดตัวในปีที่ผ่านมา ถึงได้กล้าเปิดบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เอไอเอ (ประเทศไทย) ขึ้นมา โดยปัจจุบันมีกรมธรรม์ยูนิตลิงก์มากกว่า 2 แสนฉบับ มีตัวแทนขายที่ได้รับใบอนุญาตขายหน่วยลงทุนกว่า 11,000 คน ในขณะที่บริษัทอันดับ 2 มีไม่ถึง 1,000 คน

ทั้งนี้ คาดว่าภายใน 2-3 ปีข้างหน้าจะผลักดันให้ตัวแทนขายยูนิตลิงก์เพิ่มเป็น 25,000 คนหรือคิดเป็น 50% ของจำนวนตัวแทนทั้งหมด

นอกจากนี้ สินค้าตระกูลสุขภาพและโรคร้ายแรงก็ยังคงเป็นสินค้าเป้าหมายหลัก โดยปัจจุบันลูกค้าเอไอเอที่ซื้อความคุ้มครองโรคร้ายแรงยังมีทุนประกันเฉลี่ยแค่ 7 แสนบาท ซึ่งมีไม่เพียงพอต่อการรักษา ดังนั้น เป้าหมายต่อไปคือบริษัทต้องกระตุ้นให้ลูกค้ามีความคุ้มครองสำหรับโรคร้ายแรง ทุนประกันขั้นต่ำอยู่ที่ 2 ล้านบาท

“เราพร้อมที่จะบุกตลาดยูนิตลิงก์เพราะเชื่อมั่นว่าสินค้าตัวนี้จะตอบโจทย์วินัยในการวางแผนการเงิน ทั้งการออมและความคุ้มครองในระยะยาวให้กับประชาชนคนไทย” ซีอีโอคนไทยคนแรกของเอไอเอกล่าวอย่างมั่นใจ