ธปท. ขยายเวลามาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยถึง 30 มิ.ย.64

แบงก์ชาติ

ธนาคารแห่งประเทศไทย อัพเดตขยายเวลามาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยจากสถานการณ์ณ์การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ จากสิ้นปี 2563 ไปจนถึง 30 มิ.ย.64

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นไปอย่างรวดเร็วกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ อย่างไรก็ดี ภาครัฐสามารถรับมือได้ทันการณ์ โดยมีการจำกัดพื้นที่เสี่ยง และมาตรการควมคุมดูแลอื่นๆ รวมถึงมีการประกาศล็อกดาวน์บางพื้นที่ ส่งผลให้ผลกระทบต่อลูกหนี้และธุรกิจไม่รุนแรงเท่ากับช่วงต้นปี 2563

แต่ทั้งนี้ สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ส่งผลกระทบต่อลูกหนี้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังนั้น ธปท. จึงขอให้สถาบันการเงิน สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่สถาบันการเงิน (ผู้ให้บริการทางการเงิน) เร่งช่วยเหลือลูกหนี้ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1. ขยายเวลาให้ลูกหนี้รายย่อยสมัครรับความช่วยเหลือได้จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 (จากเดิมที่ครบกำหนดในวันที่ 31 ธันวาคม 2563) โดยลูกหนี้สามารถสมัครขอรับความช่วยเหลือด้วยตนเอง หรือนายจ้างหรือเจ้าของกิจการสมัครขอรับความช่วยเหลือแทนลูกหนี้ได้ เช่น ในกรณีสินเชื่อสวัสดิการ โดยต้องได้รับความยินยอมจากลูกหนี้ที่เป็นพนักงานหรือลูกจ้าง เพื่อให้การขอรับความช่วยเหลือของลูกหนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและทันเหตุการณ์

2. ให้ผู้ให้บริการทางการเงินเร่งให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ทุกประเภท (ลูกหนี้รายย่อย ลูกหนี้ SMEs และลูกหนี้ธุรกิจขนาดใหญ่) ตามความเหมาะสมกับประเภทสินเชื่อและคำนึงถึงความเสี่ยงของลูกหนี้ จำแนกตามลักษณะธุรกิจและพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งมีแนวทางต่าง ๆ ดังนี้

2.1 ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เช่น ลดค่างวด ขยายระยะเวลาชำระหนี้ ต่ออายุวงเงินหรือคงวงเงิน เปลี่ยนประเภทหนี้จากสินเชื่อระยะสั้นเป็นสินเชื่อระยะยาว ปลอดชำระเงินต้นและ/หรือดอกเบี้ยชั่วคราว ลดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำกว่าอัตราตลาด เป็นต้น

2.2 ให้เงินทุนหมุนเวียนและเสริมสภาพคล่องเพิ่มเติม

2.3 พิจารณาชะลอการชำระหนี้สำหรับลูกหนี้ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท ภายใต้ พ.ร.ก. soft loan

2.4 ผ่อนปรนเงื่อนไขอื่นตามความเหมาะสม

ทั้งนี้ ลูกหนี้ที่ต้องการความช่วยเหลือควรรีบติดต่อศูนย์บริการข้อมูลลูกค้า (call center)
ของผู้ให้บริการทางการเงินแต่ละแห่งได้โดยตรง หรือ โทร 1213 ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธปท. หรือผ่าน “ทางด่วนแก้หนี้” เว็บไซต์ https://www.1213.or.th/App/DebtCase

โดย ธปท. จะติดตามความคืบหน้าการช่วยเหลือลูกหนี้ของผู้ให้บริการทางการเงินอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ ธปท. สามารถทบทวนมาตรการช่วยเหลือได้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์ต่อไป

“มาตรการที่เราและสถาบันการเงินได้ยื่นมือช่วยเหลือลูกหนี้ทุกประเภท ไม่ว่าจะธุรกิจ SME และรายย่อย ธปท. จะมีการประเมินและติดตามว่าสถาบันการเงินได้ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ได้ตรงจุด และเข้าถึงลูกหนี้ได้มากน้อยแค่ไหน จะมีการประเมินสถานการณ์อย่างเชิงรุก” นายรณดล กล่าว

นายรณดล กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมามีการหารือกับสถาบันการเงิน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการเตรียมมาตรการอื่นๆ เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้หากมีความจำเป็นเพิ่มเติมในระยะถัดไป

ด้าน นางวิเรขา สันตะพันธุ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ธปท. กล่าวว่า การเลื่อนขอยื่นรับความช่วยเหลือดังกล่าว หมายถึง ลูกหนี้สามารถยื่นขอให้สถาบันการเงินพิจารณามาตรการช่วยเหลือได้ถึงวันที่ 30 มิ.ย.64 โดยธนาคารพาณิชย์สามารถพิจารณาตามความเหมาะสมที่ลูกหนี้ประสบปัญหา เช่น ในกรณีที่ลูกหนี้ตกงาน ธนาคารพาณิชย์สามารถเลื่อนการชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้ ซึ่งอาจต่อเนื่องไปภายหลังวันที่ 30 มิ.ย.ก็ทำได้

ส่วนลูกหนี้ SME ที่ไม่เคยรับความช่วยเหลือ และมีวงเงินไม่เกิน 100 ล้านบาท สามารถเข้ารับความช่วยเหลือได้ตามมาตรการซอฟต์โลนนั้น ผู้ประกอบการสามารถแจ้งมาที่ธนาคารพาณิชย์เพื่อให้ธนาคารพิจารณาเลื่อนการชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยให้ถึงวันที่ 30 มิ.ย.64

อย่างไรก็ดี การพิจารณาเพื่อให้การช่วยเหลือจะเป็นไปตามความเหมาะสมของประเภทสินเชื่อ และคำนึงถึงความเสี่ยงลูกหนี้แต่ละราย เพราะการพักหรือชะลอหนี้เป็นเพียงการประวิงเวลาเท่านั้น แต่ยอดหนี้ยังเท่าเดิม หรือมากกว่านั้น

“สิ่งที่ ธปท.อยากจะเห็นคือการเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แก่ลูกหนี้ เพื่อที่จะตอบโจทย์ระยะยาวให้แก่ลูกหนี้ หากสถาบันการเงินและลูกหนี้สามารถหารือและเจรจากันได้ถึงการประเมินกระแสเงินสดและรายได้ในอนาคต จะเป็นการตอบโจทย์ระยะยาวให้แก่ลูกหนี้” นางวิเรขา กล่าว

ทั้งนี้ สำหรับลูกหนี้ที่ยังไม่สามารถประเมินกระแสเงินสดและรายได้ในระยะเวลาอันสั้นหนี้ ยังสามารถเข้าร่วมมาตรการเพื่อพิจารณาการชะลอการจ่ายหนี้คืนได้

โดยปัจจุบันจำนวนผู้เข้ารับการช่วยเหลือล่าสุด ณ เดือน พ.ย.64 อยู่ที่ 5.6 ล้านล้านบาท หรือ 11 ล้านบัญชี ส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้รายย่อย ซึ่งเป็นยอดรวมทั้งของธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ แบ่งเป็น รายย่อย 3.22 ล้านบาท หรือ 10 ล้านราย