ผ่าแบบประกันโควิด (ซื้อแล้วจะคุ้มหรือไม่)

คอลัมน์ คุยฟุ้งเรื่องการเงิน
พิเชฐ เจียรมณีทวีสิน (ทอมมี่)
www.actuarialbiz.com

เชื่อว่าหลายคนคงจะคิดแล้วคิดอีกว่า ช่วงนี้ระลอกที่สองของโควิดก็กลับเข้ามากันอีก แล้วทีนี้จะต้องซื้อประกันโควิดกันอีกรอบหรือไม่ คราวนี้ผมเลยอยากเล่ามุมมองของนักคณิตศาสตร์ประกันภัยให้คนทั่วไปได้รู้ก่อนตัดสินใจว่าควรซื้อหรือไม่

นักคณิตศาสตร์ประกันภัยคือคนที่ออกแบบประกันโควิดพร้อมกับตั้งราคาจากสถิติที่มีอยู่ในมือ พร้อมกับทำแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ต่าง ๆ เพื่อพยากรณ์ความเป็นไปได้ของอนาคตเกี่ยวกับโควิด โดยจุดที่จะมองว่าคุ้มหรือไม่ ให้ลองดูจุดพลิกผันดังต่อไปนี้

1.จุดพลิกผันที่ 1 (มาตรการของภาครัฐ)

โรคระบาดในตอนนี้ได้กลายเป็นคลื่นระลอกสองไปแล้ว และบทเรียนจากน้ำท่วม ก็เคยพิสูจน์มาแล้วให้รู้ว่าปัจจัยภายนอกจากการบริหารจัดการนั้น ไม่สามารถใช้สถิติมาจับได้ โดยสถานการณ์ต่าง ๆ อาจทำให้โอกาสในการติดเชื้อสูงเป็นเท่าตัวได้ในชั่วข้ามคืน หากมีนโยบายการจัดการจากภาครัฐที่ไม่ดีพอ ดังนั้น มาตรการ 3 อย่าง ที่ปกติภาครัฐจะใช้กันคือ การเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) การค้นหาผู้ติดเชื้อที่แท้จริงให้ได้มากที่สุด

รวมถึงการแยกผู้ป่วยติดเชื้อออกมาอย่างมีประสิทธิภาพ จะเป็นหนึ่งในส่วนที่จะชี้เป็นชี้ตายว่าประเทศไทยจะไปหรือว่าจะรอดได้ และก็เป็นจุดบ่งชี้ที่จะบอกว่าซื้อประกันโควิดไปแล้วนั้นคุ้มหรือไม่คุ้ม เพราะยิ่งมีคนติดเชื้อกันมากเท่าไร คนที่ซื้อประกันโควิดเอาไว้ก็จะรู้สึกอุ่นใจกว่า แต่ถ้าภาครัฐมีมาตรการที่คุมเข้มขึ้นมา ตัวประกันโควิดที่ซื้อมาก็จะไม่ได้มีความหมายอะไรมาก เฉกเช่นเดียวกับประกันน้ำท่วมในสมัยนั้น

2.จุดพลิกผันที่ 2 (จำนวนเตียงและบุคลากรการแพทย์)

ถ้าเกิดไม่เพียงพอเมื่อใด คนที่ติดเชื้อโควิดจะไม่สามารถเข้าถึงโรงพยาบาลได้ ทำให้อัตราการตายจากคนติดเชื้อจะสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดทันที และกลับไปทวีคูณให้โอกาสไปแพร่เชื้อกับคนอื่นมีมากยิ่งขึ้นไปอีก

3.จุดพลิกผันที่ 3 (แสงสว่างของการมีวัคซีนและยารักษา)

ทางด้านจิตวิทยานั้น จะเห็นว่าการมีตัวตนของวัคซีนทำให้หลายคนคลายความกังวลใจเรื่องโควิดไปมากพอสมควร แต่หลายคนยังไม่รู้ว่า จริง ๆ แล้ว กว่าวัคซีนจะเริ่มแจกจ่ายกันไปจนครบก็คงจะประมาณสิ้นปี 2564 นี้ ซึ่งก็ต้องขึ้นกับว่าเชื้อไวรัสจะแพร่ระบาดไปมากแค่ไหน ก่อนที่ทุกคนจะได้วัคซีนครบ

และถ้ามีการคิดค้นยาที่รักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น จนมองว่าโควิดเป็นเพียงแค่ไข้หวัดใหญ่ธรรมดา และไม่มีใครกลัวโควิดอีกต่อไป ถึงจุดนั้น คนทั่วไปอาจจะมองว่าการติดเชื้อไปก็คงไม่เป็นไร โดยเฉพาะคนที่กักตุนซื้อประกันโควิดเอาไว้ ถึงจะไม่จงใจให้ไปติด แต่ก็จะไม่ระวังตัวอีกต่อไป

จะคุ้มหรือไม่คุ้มในตอนนั้นก็สุดแล้วแต่จะคิดครับ

4.จุดพลิกผันที่ 4 (วิวัฒนาการของไวรัส)

ถ้าเราเชื่อว่าโรคระบาดครั้งนี้ เป็นการแพร่ระบาดใหญ่ของไวรัสในทุก 100 ปีแล้ว สถิติบ่งบอกว่า ไวรัสจะมีการวิวัฒนาการและแบ่งออกเป็นระลอกคลื่น คือ คลื่นลูกที่หนึ่ง สามารถติดต่อกันง่ายดาย คนที่ติดในระลอกแรกนั้นอัตราการตายจะไม่สูง แต่พอเปลี่ยนเป็นคลื่นลูกที่สอง ความรุนแรงเพิ่มพูนขึ้นจนสามารถทำให้คนตายเป็นจำนวนมาก แต่คนที่มีภูมิคุ้มกันจากคลื่นลูกแรกนั้นกลับจะมีโอกาสติดเชื้อได้น้อยกว่า และสุดท้ายก็เข้าสู่คลื่นลูกที่สาม ที่ไวรัสสามารถกลายพันธุ์ไปติดเด็กได้ง่ายมากขึ้น และทำให้คนตายมากขึ้นไปอีก

ซึ่งตอนนี้เราเข้าสู่คลื่นลูกที่สองกันไปแล้ว และไวรัสกำลังซุ่มเงียบเพื่อแอบกลายพันธุ์อยู่ พร้อมรอที่จะโจมตีเป็นคลื่นลูกที่สองเต็มตัวและลูกที่สามในไม่ช้า

สรุปแล้ว ประกันโควิด กลายเป็นเรื่องของการซื้อความสบายใจจากความเสี่ยงเรื่องมาตรการภาครัฐ เรื่องจำนวนเตียงและบุคลากรทางการแพทย์ เรื่องคนที่ชะล่าใจกับการจะมีวัคซีนและยา รวมถึงเรื่องวิวัฒนาการของไวรัสนั่นเอง