เทียบชัด ๆ พ.ร.ก.ซอฟต์โลนใหม่ 5 แสนล้าน รัฐให้อะไรเพิ่มบ้าง?

ภาพโดย anuvat intarachune จาก Pixabay

รัฐบาลพลิกเกม ชงแก้ พ.ร.ก.ซอฟต์โลน 5 แสนล้าน เร่งแก้ล็อกกฎหมายแก้ปัญหาทันการณ์ไวรัสโควิดระบาดรอบใหม่ อุ้มเอสเอ็มอีเต็มพิกัด ทั้งขยายเวลาขอกู้-ยืดเวลาชำระหนี้-เพิ่มวงเงินกู้ ฯลฯ 

ความพยายามของรัฐบาล กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการคลายล็อก พ.ร.ก.ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วงเงิน 5 แสนล้าน ที่มีเงื่อนไขป้องกันความเสี่ยงสูง ทำให้ปล่อยกู้ได้เพียง 1.2 แสนล้าน มีทางออกใหม่

โดยให้ตัวแทนรัฐบาลในฝ่ายนิติบัญญัติหารือด่วนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และนำไปสู่การออกกฎหมายใหม่ เปิดทางให้มีการปล่อยกู้ให้เอสเอ็มอีได้ง่าย และช่วยเหลือธุรกิจได้ทันเวลา ในช่วงการระบาดรอบใหม่ของไวรัสโควิด-19

นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐเป็นประธาน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาติดตาม ตรวจสอบ การใช้เงินตามพระราชกำหนด 3 ฉบับ เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เตรียมเสนอขอความเห็นชอบจากที่ประชุม กมธ.ให้เสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก้ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (ฉบับที่ ..) ในวันพุธที่ 20 มกราคม 2564

“เพื่อตราเป็นพระราชบัญญัติแทนพระราชกำหนดฉบับเดิม เนื่องจากติดเงื่อนไขในข้อกฎหมายต่าง ๆ ทำให้ SMEs เข้าไม่ถึงสินเชื่อ ภายหลังที่ กมธ.ได้หารือข้อมูล รายละเอียด และเห็นชอบในหลักการร่วมกันกับเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา, ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย, ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร”

ทั้งนี้ หากที่ประชุมเห็นชอบกับร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวจะเสนอให้ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร บรรจุวาระการประชุมเพื่อพิจารณาเป็นการเร่งด่วน นอกจากนี้ จะขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม นำร่างพระราชบัญญัติที่คณะกรรมาธิการได้เสนอต่อสภา ให้เสนอเป็นพระราชกำหนด เพราะจะได้แก้ไขปัญหาได้ทันเวลา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (ฉบับที่ ..) มีสาระสำคัญโดยแก้จากพระราชกำหนด ฉบับเดิมประกาศใช้เมื่อเดือนเมษายน 2563 อาทิ

“ประชาชาติธุรกิจ” เปรียบเทียบ พ.ร.ก.ซอฟต์โลน (ฉบับปัจจุบัน) กับ ร่างแก้ไข พ.ร.ก.ซอฟต์โลน ให้เห็นชัด ๆ ว่าแตกต่างกันอย่างไร ดังนี้

1.วงเงินสินเชื่อ

  • พ.ร.ก.ซอฟต์โลน (ฉบับปัจจุบัน) : ผู้ประกอบการจะต้องมีวงเงินสินเชื่อคงค้างกับสถาบันการเงินแต่ละแห่ง ไม่เกิน 500 ล้านบาท ณ วันที่ 31 ธ.ค.63
  • ร่างแก้ไข พ.ร.ก.ซอฟต์โลน : ผู้ประกอบการไม่จำเป็นต้องมีวงเงินสินเชื่อคงค้างกับสถาบันการเงิน ณ วันที่ 31 ธ.ค.63

2.การขยายเวลาการยื่นกู้

  • พ.ร.ก.ซอฟต์โลน (ฉบับปัจจุบัน) : ขยายเวลาการยื่นกู้ออกไปได้คราวละ 6 เดือน ไม่เกิน 2 ครั้ง
  • ร่างแก้ไข พ.ร.ก.ซอฟต์โลน : ขยายเวลาให้สถาบันการเงินยื่นกู้ขอวงเงินกู้ได้คราวละ 6 เดือน จนกว่าเงินจะหมด

3.การขอสินเชื่อ

  • พ.ร.ก.ซอฟต์โลน (ฉบับปัจจุบัน) : ขอสินเชื่อได้ไม่เกิน 2 ครั้ง โดยวงเงินทั้ง 2 ครั้ง รวมกันต้องไม่เกิน 20% ของยอดสินเชื่อคงค้าง
  • ร่างแก้ไข พ.ร.ก.ซอฟต์โลน : ขอสินเชื่อเพิ่มเติมจากยอดหนี้เดิมได้ไม่เกิน 30% ของยอดสินเชื่อ และกรณีลูกค้าไม่มีวงเงินสินเชื่อกับสถาบันการเงิน กู้ได้ไม่เกิน 20 ล้านบาท

4.อัตราดอกเบี้ย

  • พ.ร.ก.ซอฟต์โลน (ฉบับปัจจุบัน) : อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2% ต่อปี นาน 2 ปี
  • ร่างแก้ไข พ.ร.ก.ซอฟต์โลน : สามารถคิดอัตราดอกเบี้ย 5% ต่อปี ในระยะ 5 ปีแรก

5.การชดเชยความเสียหาย

  • พ.ร.ก.ซอฟต์โลน (ฉบับปัจจุบัน) : รัฐบาลชดเชยความเสียหาย 70% กรณีที่มีวงเงินไม่เกิน 50 ล้านบาท หรือ 60% ที่มีวงเงินเดิมเกิน 50 ล้านบาท
  • ร่างแก้ไข พ.ร.ก.ซอฟต์โลน : ชดเชยความเสียหายไม่เกิน 80% ของลูกหนี้แต่ละราย

6.ระยะเวลาที่สถาบันการเงินชำระคืนเงินกู้ยืม

  • พ.ร.ก.ซอฟต์โลน (ฉบับปัจจุบัน) : สถาบันการเงินชำระคืนเงินกู้ยืมพร้อมดอกเบี้ยแก่ ธปท. ภายใน 2 ปี
  • ร่างแก้ไข พ.ร.ก.ซอฟต์โลน : สถาบันการเงินชำระคืนเงินกู้ยืมพร้อมดอกเบี้ยแก่ ธปท. ภายใน 5 ปี