“ตัวช่วย” ลงทุน “หุ้นกู้”

คอลัมน์ Look Around

การลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนหรือ “หุ้นกู้” ได้รับความนิยมจากนักลงทุนทุกระดับ เพราะความเสี่ยงไม่สูงเท่ากับเล่นหุ้น และได้รับผลตอบแทนที่มากกว่าเงินฝากออมทรัพย์

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาการเข้าถึงหุ้นกู้ของนักลงทุนรายย่อยยังไม่ดีนัก เนื่องจากความต้องการซื้อที่สูง สวนทางกับความต้องการขายที่มีอยู่อย่างจำกัด โดยเฉพาะหุ้นกู้น้ำดีที่ได้รับการจัดอันดับเครดิต (credit rating) ในระดับลงทุน (investment grade) หรือเรตติ้ง BBB-ไปจนถึง AAA

เพื่อช่วยปลดล็อกข้อจำกัด สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) จึงได้พัฒนาแอปพลิเคชั่น ตลอดจนเว็บไซต์ต่าง ๆ ขึ้นมา เริ่มจากแอป “Me Bond” (มีบอนด์) สำหรับนักลงทุนบุคคลที่จะได้รับข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการลงทุนในตราสารหนี้ ทั้งข้อมูลตราสารหนี้ปัจจุบัน-ย้อนหลัง, กระแสเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ (fund flow) รวมถึงหุ้นกู้ที่มีแผนจะเสนอขายแก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO)

โดยบนแอป Me Bond จะมีทั้งเมนู “พอร์ตลงทุน” ที่ช่วยให้ผู้ลงทุนสามารถติดตามมูลค่าพอร์ตลงทุน อายุเฉลี่ย และอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยของพอร์ต เป็นกราฟแบบอ่านง่าย ๆ

เมนู “ตราสารหนี้ออกใหม่” ที่รวมข้อมูลตราสารหนี้ทั้งภาครัฐและเอกชน ที่กำลังเสนอขายอยู่ในตลาดแรก ให้นักลงทุนสามารถเปรียบเทียบข้อมูลสำคัญและจำเป็น ก่อนตัดสินใจลงทุน

เมนู “ค้นหาตราสารหนี้” ที่ช่วยค้นหาตราสารหนี้ในตลาดรองที่นักลงทุนสนใจ

เมนู “เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล” ที่สะท้อนแนวโน้มและทิศทางของผลตอบแทนตราสารหนี้ตามรุ่นอายุต่าง ๆ

และเมนู “dashboard” ที่จะสรุปภาพรวมตลาดตราสารหนี้ระหว่างวัน รวมถึง fund flow ต่างชาติแบบ real time

ขณะเดียวกัน ThaiBMA ยังได้พัฒนาระบบ อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ออกตราสารหนี้ ผู้จัดจำหน่าย และผู้ลงทุนสถาบัน ได้แก่ ระบบสำรวจความต้องการซื้อตราสารหนี้แบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Bookbuilding) เพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับในการสำรวจความต้องการซื้อตราสารหนี้แก่ผู้จัดจำหน่ายตราสารหนี้ โดยสามารถใช้บริการได้ผ่านเว็บไซต์ ebb.thaibma.or.th

นอกจากนี้ ยังมี “Smart Funding Solution” เป็นเว็บไซต์ที่จัดทำขึ้นเพื่อสนับสนุนบริษัทผู้ออกตราสารหนี้ในการบริหารจัดการตราสารหนี้คงค้างทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยแต่ละงวด การวิเคราะห์จังหวะ โอกาส และจำลองการออกตราสารหนี้รุ่นใหม่ด้วยต้นทุนที่เหมาะสม โดยสามารถใช้บริการได้ผ่านเว็บไซต์ trogon.thaibma.or.th/sf

ด้วยเครื่องมือต่าง ๆ เหล่านี้น่าจะช่วยตอบโจทย์ทั้งผู้ลงทุนที่จะสามารถทำความเข้าใจและเข้าถึงการลงทุนในตราสารหนี้ได้ง่ายขึ้น ส่วนบริษัทผู้ออกตราสาร และผู้จัดจำหน่าย ก็มีเครื่องมือช่วยอำนวยความสะดวกในการทำงานด้วยเช่นกัน