คลังรื้อวิธีเก็บภาษีเบียร์ใหม่ ตีกรอบแบงก์การันตี 1 ล้านบาท

กรมสรรพสามิตเปลี่ยนวิธีเก็บภาษีเบียร์ใหม่ เลิกเก็บที่มิเตอร์หัวจ่าย ปรับใหม่ให้จ่ายภาษีทุกวันที่ 15 ของเดือนถัดไปเช่นเดียวกับ “รถยนต์-น้ำมัน” พร้อมให้วางเงินประกัน/แบงก์การันตี ไม่เกิน 1 ล้านบาท/เดือน ยันเพื่อสร้างความเป็นธรรมแก่ผู้ประกอบการ หนุนเอกชนมี cash flow ดีขึ้น ชี้ช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน

นายณัฐกร อุเทนสุต ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากกรมสรรพสามิตเริ่มจัดเก็บภาษีตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 มาตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย. 2560 ที่ผ่านมา ในส่วนของภาษีสรรพสามิตเบียร์นั้น ทางกรมสรรพสามิตได้มีการเปลี่ยนแปลงวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีเบียร์ใหม่ จากเดิมที่การจัดเก็บภาษีเบียร์ที่ดำเนินการภายใต้กฎหมายเดิม หรือพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493 จะกำหนดให้เก็บภาษีเบียร์จากมิเตอร์หัวจ่าย ทำให้ภาระภาษีของผู้ประกอบการเกิดขึ้นทันที แม้จะยังไม่ได้นำสินค้าออกจากโรงงานอุตสาหกรรม

ขณะที่กฎหมายภาษีสรรพสามิตฉบับใหม่ได้ทำให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ประกอบการมากขึ้น เช่นเดียวกับสินค้าสรรพสามิตอื่น ๆ โดยเปลี่ยนมาจัดเก็บภาษีเบียร์เมื่อมีการนำสินค้าออกจากโรงงานอุตสาหกรรมแทน และกำหนดให้เสียภาษีทุกวันที่ 15 ของเดือนถัดไป

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีการกำหนดให้เสียภาษีทุกวันที่ 15 ของเดือนถัดไป ทางกรมสรรพสามิตจึงต้องกำหนดให้ผู้ประกอบการต้องมีการวางเงินประกันเช่นเดียวกับหลักปฏิบัติในกรณีสินค้าสรรพสามิตอื่น ๆ โดยมูลค่าการวางเงินประกัน กำหนดไว้ที่ไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการไม่ได้รับผลกระทบในเรื่องกระแสเงินสด (cash flow) เนื่องจากไม่ต้องชำระภาษีไปก่อนเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งปกติแล้วการเก็บภาษีเบียร์แบบเดิม ผู้ประกอบการจะต้องจ่ายเงินทันทีตก 800 ล้านบาทถึง 1,000 ล้านบาทต่อเดือน

ขณะที่การกำหนดวงเงินวางประกันที่ไม่เกิน 1 ล้านบาทนั้น ก็ถือว่าเป็นการช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการด้วย

Advertisment

“กฎหมายใหม่เราใช้หลักการของ พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 คือ เมื่อเอาของออก ภาระภาษีจึงจะเกิด ดังนั้นทางกรมสรรพสามิตจึงกำหนดให้ต้องมีการวางเงินประกัน อย่างแบงก์การันตี เพื่อที่ผู้ประกอบการจะไปเสียภาษีในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป ซึ่งแนวทางนี้ก็อยู่บนหลักการเดียวกับสินค้าสรรพสามิตอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ น้ำมัน โดยเมื่อผู้ประกอบการไม่ต้องจ่ายภาษีไปก่อนจะนำของออก ก็มีความเป็นธรรมขึ้น” นายณัฐกรกล่าว

นายณัฐกรกล่าวอีกว่า แม้จะไม่ได้จัดเก็บภาษีเบียร์จากมิเตอร์แล้ว แต่ในแง่ของการตรวจสอบควบคุมไม่ให้เกิดการรั่วไหล ทางกรมสรรพสามิตก็ยังคงมีเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ที่โรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงยังมีข้อมูลจากมิเตอร์ที่แจ้งเข้าระบบอยู่เหมือนเดิม

ทั้งนี้ สำหรับภาษีเบียร์ตามกฎหมายใหม่ จะจัดเก็บทั้งตามมูลค่า และตามปริมาณ โดยเก็บตามมูลค่าที่ 22% และเก็บตามปริมาณที่ 430 บาทต่อปริมาณหนึ่งลิตรแห่งแอลกอฮอล์ ซึ่งก่อนหน้านี้กรมสรรพสามิตประเมินว่า อัตราภาษีดังกล่าวจะทำให้เบียร์ปรับราคาขึ้นประมาณ 0.50-2.66 บาท/ต่อหน่วย (กระป๋อง, ขวด) แต่เบียร์ราคาแพงจะราคาลดลง 0.99-2.05 บาท

ขณะที่ในปีงบประมาณ 2560 ที่ผ่านมา ผลการจัดเก็บ 11 เดือน หรือจนถึงสิ้นเดือน ส.ค. 2560 กรมสรรพสามิตจัดเก็บภาษีเบียร์ได้ทั้งสิ้น 83,467 ล้านบาท เพิ่มจากช่วงเดียวกันปีงบประมาณก่อนหน้า 3,978 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 5%

Advertisment