NPL ท่วมธุรกิจ”ซื้อหนี้-ทวงหนี้”คึกคัก “หน้าใหม่” แห่ร่วมสมรภูมิ

หนี้บัตรเครดิต

หนี้เสียท่วมกว่า 5 แสนล้านบาท หนุนธุรกิจทวงหนี้-บริหารหนี้คึกคัก ดึงดูดผู้เล่นหน้าใหม่ร่วมวง “RS” ร่วมทุน “เชฎฐ์เอเชีย”ชิงเค้ก “BAM-JMT-CHAYO” จัดทัพตั้งบริษัทร่วมทุนใหม่ขยายพอร์ตรับซื้อหนี้เสีย หลังแนวโน้มหนี้เสียเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง “บรรยง” จีบแบงก์ตั้งบริษัทร่วมทุนเปิดโมเดลใหม่รับบริหารหนี้ ชี้วิกฤตโควิดทำให้ธุรกิจ AMC ต้องแบกหนี้นานขึ้น

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า จากสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้ปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เพิ่มมากขึ้น หลาย ๆ ธุรกิจประสบปัญหา แต่ในส่วนของธุรกิจรับซื้อหนี้เสีย รวมถึงติดตามและบริหารหนี้ถือเป็นธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์จากสถานการณ์ดังกล่าว เพราะถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือกลไกช่วยแก้ปัญหาให้กับทุกฝ่าย

หนี้เสียท่วม 5 แสนล้าน

นายสุทธิรักษ์ ตรัยชิรอาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส (JMT) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในช่วงที่เกิดวิกฤตโควิด-19 หรือเศรษฐกิจมีความเสี่ยง ต้องยอมรับว่าธุรกิจบริหารหนี้ (AMC) จะมีผลประกอบการและอัตราการเติบโตที่ดี ทำให้มีผู้เล่นหน้าใหม่ หรืออยู่ในธุรกิจอื่นสนใจเข้ามาลงทุน เพื่อกระจายความเสี่ยง จึงเห็นการเคลื่อนไหวในตลาดมากในช่วงนี้

ขณะเดียวกันด้วยตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) คงค้างทั้งระบบ ณ สิ้นปี 2563 มีอยู่ราว 5 แสนล้านบาท และแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยบริษัท AMC หลัก ๆ ที่มีอยู่ในตลาดก็ไม่สามารถซื้อหนี้ได้ทั้งหมด ดังนั้นในแง่การแข่งขันจึงไม่น่าห่วงมากนัก อย่างไรก็ตามเนื่องจากปีนี้มีมาตรการช่วยเหลือค่อนข้างดี อาจจะไม่เห็นเอ็นพีแอลไหลเยอะ น่าจะทรงตัวอยู่ในระดับ 5 แสนล้านบาทไปจนถึงกลางปี

นายสุทธิรักษ์กล่าวว่า ปี 2564 บริษัทตั้งงบประมาณรับซื้อหนี้มาบริหารอยู่ที่ 6,000 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างประมูลหนี้หลายราย อย่างไรก็ตามสามารถขออนุมัติบอร์ดบริษัทเพิ่มงบประมาณในการรับซื้อหนี้เป็น 1 หมื่นล้านบาทได้

BAM จีบแบงก์ตั้ง บ.ร่วมทุน

นายบรรยง วิเศษมงคลชัย ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตลาดรับจ้างบริหารหนี้ปีนี้ยังมีโอกาสทำกำไรได้ เนื่องจากช่วงนี้แบงก์ขายหนี้ออกมาค่อนข้างมาก เพราะคาดกันว่าแนวโน้มหนี้เสียจะเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดีภาพรวมแนวโน้มหนี้เสียในระบบปีนี้อาจจะยังไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก เนื่องจากแบงก์ชาติมีต่ออายุมาตรการพักชำระหนี้ออกไปอีก หลังผลกระทบจากโควิดระลอกใหม่

สำหรับกลยุทธ์ BAM ปีนี้ หากเป็นสินทรัพย์รอการขาย (NPA) บริษัทจะเร่งระบายของในพอร์ต เพื่อเตรียมรับของใหม่เข้ามา โดยเฉพาะที่ดินเปล่าที่ปีนี้มีแนวโน้มขายได้ง่ายขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์หันมาเน้นพัฒนาที่อยู่อาศัยแนวราบ ขณะที่ภาวะดอกเบี้ยที่ต่ำมาก ทำให้มีนักลงทุนเข้ามาซื้อที่ดินเพื่อลงทุนกันมากขึ้น ส่วนหนี้เอ็นพีแอลก็จะคัดลูกหนี้ใหญ่สัก 100 ราย ที่มูลหนี้มีตั้งแต่ระดับพันล้านบาทลงมาถึงร้อยล้านบาท เพื่อดูว่ารายไหนจะแก้หนี้ได้ช่วยทำให้บริษัทเก็บเงินสดได้มากขึ้น

“นอกจากนี้ BAM ยังอยู่ระหว่างการเจรจากับแบงก์แห่งหนึ่ง เพื่อร่วมทุนตั้งบริษัทบริหารหนี้ให้กับแบงก์ดังกล่าว ถ้าบริหารแล้วมีกำไร แบงก์ก็จะได้แชร์กำไรด้วย”

ต้องทุนหนา-เก็บหนี้ไว้นาน

นายบรรยงกล่าวว่า ธุรกิจการบริหารหนี้ปีนี้อาจจะไม่ง่ายนัก เพราะเมื่อซื้อหนี้มาแล้ว การเจรจากับลูกหนี้เพื่อปรับโครงสร้างจะค่อนข้างยาก เนื่องจากลูกหนี้ขาดรายได้ จึงไม่ค่อยมีกำลังผ่อนชำระ ทั้งลูกหนี้ธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจด้านการท่องเที่ยว ไปจนถึงรายย่อย ต้องระมัดระวังการซื้อหนี้เข้าพอร์ต เพราะหากซื้อเก็บไว้มากจะมีภาระดอกเบี้ยสูง ต้องแบกดอกเบี้ยเพื่อรอเวลาเศรษฐกิจฟื้น เพื่อให้ลูกหนี้มีกำลัง

เปิดโอกาสผู้เล่นใหม่เข้าตลาด

นายสุขสันต์ ยศะสินธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ชโย กรุ๊ป (CHAYO) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันในตลาดรับซื้อและบริหารจัดการหนี้ และติดตามทวงถามหนี้ มีอยู่ทั้งสิ้นราว 60 บริษัท แต่ที่แอ็กทีฟมีประมาณ 10 บริษัท ขณะที่ปัจจุบันมีธุรกิจนอกวงการให้ความสนใจเข้ามาร่วมทุนกับกิจการ AMC มากขึ้น ซึ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดมีฐานเงินทุนเพื่อรับซื้อหนี้เสียเพิ่มขึ้น

เนื่องจากมองเห็นศักยภาพและโอกาสการเติบโต เพราะเอ็นพีแอลในตลาดค่อนข้างใหญ่และเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งหากมีผู้เล่นใหม่เข้ามาในตลาดเพิ่ม 1-2 ราย ก็ยังไม่สามารถซื้อเอ็นพีแอลได้ทั้งหมด เนื่องจากแต่ละปีสถาบันการเงินจะเทขายหนี้เสียออกจากพอร์ตประมาณ 40-50% และที่เหลือจะบริหารเอง

CHAYO ตั้งบริษัทร่วมทุนใหม่

นายสุขสันต์กล่าวว่า ในส่วนของชโยกรุ๊ปก็มีแผนจัดตั้งบริษัท ชโย เจวี จำกัด โดยจะมีพันธมิตรเข้ามาร่วมทุนเพื่อรองรับการขยายธุรกิจรับซื้อหนี้ได้มากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันบริษัทมีข้อจำกัดในเรื่องของเงินทุนที่อยู่ 1.7-2 เท่าของเงินกู้ หากต้องการขยายงาน ผู้ถือหุ้นต้องใส่เงินเพิ่มทุน ซึ่งจะมีผลต่อหุ้นที่จะ dilute ดังนั้นจึงมีแนวคิดตั้งบริษัทใหม่ ซึ่งขณะนี้รอ ธปท.อนุมัติใบอนุญาตประกอบธุรกิจ คาดว่าภายในเดือน ก.พ.น่าจะชัดเจน ขณะเดียวกันก็ได้ทยอยคุยกับพันธมิตรธุรกิจที่จะเข้ามาร่วมทุน ซึ่งนอกจากจะมีเงินทุนแล้วจะต้องมีความเชี่ยวชาญเพื่อต่อยอดธุรกิจได้ คาดว่าในไตรมาส 2 ปีนี้จะสามารถเริ่มดำเนินธุรกิจได้

ขณะที่ปริมาณธุรกรรมการติดตามทวงถามหนี้ก็มีอัตราการเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน ในแง่ของจำนวนลูกหนี้ แต่วงเงินอาจจะลดลงหรือทรงตัว เนื่องจากสถาบันการเงินมีนโยบายคุมเข้มการปล่อยสินเชื่อลดความเสี่ยง จึงปล่อยสินเชื่อวงเงินน้อยลงเฉลี่ย 2 หมื่นบาทต่อราย จากเดิม 3 หมื่นบาทต่อราย โดยทุก 3 เดือน บริษัทจะได้รับธุรกรรมให้ติดตามหนี้จากธนาคารประมาณ 1 แสนราย วงเงินราว 5,000 ล้านบาท

นายสุขสันต์กล่าวว่า สัดส่วนรายได้ของบริษัทจะแบ่งเป็น การรับซื้อหนี้มาบริหารประมาณ 80% เร่งรัดติดตามหนี้ 18% และปล่อยสินเชื่อออนไลน์ราว 1% อย่างไรก็ดี คาดว่าในปี 2564 สัดส่วนเร่งรัดติดตามหนี้จะลดลงเหลือ 11-12% เนื่องจากมาตรการพักหนี้-ปรับโครงสร้างหนี้ของ ธปท. ทำให้การติดตามหนี้ลดลง และการรับหนี้เสียจะเพิ่มขึ้นเป็น 88%

“ปัจจุบันหนี้เสียคงค้างในระบบประมาณ 5 แสนล้านบาท เป็นหนี้ไม่มีหลักประกันราว 1 แสนล้านบาท หากดูสัดส่วนการติดตามหนี้จะพบว่ากรณีหนี้ค้างชำระไม่เกิน 90 วัน อัตราการติดตามได้จะสูงราว 30% แต่หลังจาก 91-180 วัน จะเก็บได้ 10% และค้างตั้งแต่ 1-2 ปีขึ้นไป อัตราเก็บได้เหลือแค่ 1% ยิ่งนานยิ่งเก็บยาก ทำให้เราต้องประเมินว่าซื้อหนี้มาจะเก็บได้กี่เปอร์เซ็นต์ และต้องใส่เงินทุนลงไปเท่าไร แต่ส่วนใหญ่จะซื้อส่วนลด 50% ของราคา”

RS รุกธุรกิจ “ทวงหนี้”

นายสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) หรือ RS เปิดเผยว่า จากที่ล่าสุดบริษัทได้เข้าไปซื้อหุ้นเพิ่มทุนในบริษัทเชฎฐ์เอเชีย (Chase) จำนวน 35% มูลค่า 920 ล้านบาท ซึ่งดำเนินธุรกิจทวงถามหนี้ บริหารสินทรัพย์ และรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจากสถาบันการเงินและไม่ใช่สถาบันการเงิน รวมถึงให้บริการสินเชื่อบุคคลภายใต้กำกับดูแลของ ธปท. เหตุผลที่เข้าไปลงทุนเนื่องจากบริษัทมองศักยภาพการเติบโตและโอกาสทางธุรกิจบริหารหนี้และธุรกิจอื่น ๆ ที่จะมาเชื่อมโยงกับอีโคซิสเต็มของอาร์เอสได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะเอามาสนับสนุนเงินผ่อนให้กับการขายสินค้าอีคอมเมิร์ซของอาร์เอส

ขณะที่ภาพรวมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) มีอัตราเติบโตต่อเนื่องทุกปีในช่วง 7 ปีที่ผ่านมาเติบโตขึ้นกว่า 9% ต่อปี ดังนั้นซัพพลายของธุรกิจหรือหนี้เสียน่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต จึงเป็นโอกาสที่ดีของธุรกิจรับจ้างทวงหนี้และบริหารหนี้เสียจะมีกำไร ประกอบกับต้นทุนทางการเงินที่ถูกจากอัตราดอกเบี้ยต่ำ ทำให้การเข้าถึงแหล่งเงินทุนมีต้นทุนน้อยลง

โดยปีที่ผ่านมากลุ่มบริษัทเชฎฐ์เอเชียมีรายได้รวม 709 ล้านบาท กำไรสุทธิ 180 ล้านบาท การร่วมมือกับอาร์เอสจะทำให้บริษัทมีโอกาสเติบโตก้าวกระโดด เพราะเป็นธุรกิจเงินต่อเงิน ซึ่งเม็ดเงินก้อนแรกก็หนุนให้บริษัทเชฎฐ์เอเชียเติบโตได้ทันที ขณะเดียวกันทำให้เครดิตการกู้ยืมเงินจากแบงก์ดีขึ้นด้วย

สำหรับแผนงานต่อจากนี้ บริษัทจะส่งทีมเข้าไปนั่งในบอร์ดและบริหารในบริษัทเชฎฐ์เอเชีย และในระยะกลางคาดว่าจะผลักดันเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ภายในปลายปี 2565 หรือต้นปี 2566