สินทรัพย์ปลอดภัยอ่อนค่า ตอบรับวัคซีนโควิด-การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ทองคำ
REUTERS/Leonhard Foeger/File Photo

สินทรัพย์ปลอดภัยอ่อนค่า เทขายดอลลาร์สหรัฐ-ทองคำ ตอบรับความคาดหวังวัคซีนโควิด-19 และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่ค่าเงินบาทแข็งค่าตามภูมิภาค ปิดตลาดที่ระดับ 29.86/88 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (16/2) ที่ระดับ 29.86/87 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (15/2) ที่ระดับ 29.88/90 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ เนื่องจากนักลงทุนมีมุมมองเชิงบวกต่อการกระจายของวัคซีนโควิด-19 และความสามารถในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในหลาย ๆ ประเทศเริ่มดีขึ้น ทำให้นักลงทุนคาดว่าเศรษฐกิจจะสามารถฟื้นตัวได้ดีขึ้น จึงเทขายสินทรัพย์ปลอดภัย เช่น ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ และทองคำ เข้าไปถือครองสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น

โดยราคาทองคำนั้นอ่อนค่าลงมาจนหลุดระดับ 1,820 ดอลลาร์ต่อออนซ์ นอกจากนี้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังได้รับแรงกดดันจากกระแสการเข้าซื้อสกุลเงินคริปโต ที่บริษัทหลายแห่งในสหรัฐ เช่น เทสลา, ทวิตเตอร์ มีความสนใจจะไปลงทุนในบิตคอยน์อีกด้วย

ในส่วนของค่าเงินบาทเปิดตลาดแข็งค่าเล็กน้อยจากปิดตลาดเมื่อวานนี้ (15/2) โดยค่าเงินบาทแข็งค่าตามภูมิภาค ในขณะที่ที่ประชุม ครม. เห็นชอบมาตรการด้านการเงินเพื่อดูแลและเยียวยาผลกระทบจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม ทั้งการขยายเวลายกเว้นการผ่อนชำระสินเชื่อฉุกเฉิน 6 เดือน

รวมถึงให้เพิ่มวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยที่มีเงินอีก 10,000 ล้านบาท เพื่อบรรเทาภาระหนี้สินของประชาชนและช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี หลังจากเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดระลอกใหม่ จนต้องประกาศพื้นที่ควบคุมสูงสุดและสั่งปิดสถานที่การให้บริการไปหลายพื้นที่ จนกระทบต่อประชาชนและผู้ประกอบการในภาคท่องเที่ยวและสาขาธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องจำนวนมาก

ทัังนี้ ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 29.86-29.89 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 29.86/88 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (16/2) ที่ระดับ 1.2137/38 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (15/2) ที่ระดับ 1.2134/36 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรปรับตัวแข็งค่าตามการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) ซึ่งเป็นองค์กรบริหารของสหภาพยุโรป (EU) เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า EU จะเปิดตัวโครงการใหม่เพื่อศึกษาการกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19 โดยมีเป้าหมายที่จะเตรียมวัคซีนรุ่นต่อไป ซึ่งอาจเป็นสิ่งจำเป็นในอนาคต

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.2123-1.217 ดอลลาร์สหรัฐ/ูยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.2152/53 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (16/2) ที่ระดับ 105.47/49 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (15/2) ที่ระดับ 105.25/27 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงเนื่องจากนักลงทุนอยู่ในสถานะเปิดรับความเสี่ยงได้มากขึ้น จากปัจจัยของวัคซีนโควิด-19 ที่ได้เริ่มมีการแจกจ่ายอย่างทั่วถึง และความคาดหวังว่า เศรษฐกิจโลกจะสามารถฟื้นตัวได้ นักลงทุนจึงเทขายสินทรัพย์ปลอดภัย ซึ่งเยนก็คือหนึ่งในนั้น แล้วเข้าถือครองสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น

นอกจากนี้ นายโอชิฮิเดะ ซูงะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ญี่ปุ่นจะเริ่มฉีดวัคซีนต้านโรคโควิด-19 ในวันพรุ่งนี้ (17/2) โดยจะเริ่มฉีดให้แก่บุคลากรทางการแพทย์เป็นกลุ่มแรก ซึ่งจะเริ่มฉีดวัคซีนในกรุงโตเกียว ก่อนจะขยายไปยังพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป

ทั้งนี้ ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 105.26-105.63 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 105.31/33 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดุลการค้าญี่ปุ่น เดือนธันวาคม (17/2), ดัชนีราคาผู้บริโภคสหราชอาณาจักร (17/2), ดัชนีราคาผู้ผลิตสหราชอาณาจักร เดือนมกราคม (17/2), ยอดค้าปลีกสหรัฐเดือนมกราคม (17/2), ดัชนีราคาผู้ผลิตสหรัฐเดือนมกราคม (17/2), ดัชนีการจ้างงานจากธนาคารกลางรัฐฟิลาเดลเฟียสหรัฐ เดือนกุมภาพันธ์ (18/2), จำนวนใบอนุญาตก่อสร้างสหรัฐเดือนมกราคม (18/2),

จำนวนที่อยู่อาศัยเริ่มสร้างสหรัฐเดือนมกราคม (18/2), จำนวนคนขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกสหรัฐ (18/2), ดัชนีราคาผู้บริโภคญี่ปุ่นเดือนมกราคม (19/2), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหราชอาณาจักรโดยสถาบันจึเอฟเค (Gfk) เดือนกุมภาพันธ์ (19/2), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อญี่ปุ่น เดือนกุมภาพันธ์ (19/2),

ยอดค้าปลีกสหราชอาณาจักร เดือนเมษายน (19/2), ดัชนีราคาผู้ผลิตเยอรมัน เดือนมกราคม (19/2), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อเยอรมันเดือนกุมภาพันธ์ (19/2), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อสหรัฐ เดือนกุมภาพันธ์ (19/2), ยอดขายบ้านมือสองสหรัฐ เดือนมกราคม (19/2)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ 0.45/0.55 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ 3.50/4.05 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ