ดอลลาร์แข็งค่า หลังผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐพุ่งสูงขึ้น

ดอลลาร์สหรัฐ
REUTERS/Jo Yong-Hak/File Photo

ดอลลาร์แข็งค่า หลังผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐพุ่งสูงขึ้น ขณะที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าแตะระดับสูงสุดในรอบ 3 เดือนที่ระดับ 30.93 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (12/3) ที่ระดับ 30.75/77 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 8-12 มีนาคม 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดในเช้าวันจันทร์ (8/3) ที่ระดับ 30.50/51 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (5/3) ที่ระดับ 30.47/49 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

และมีแนวโน้มอ่อนค่าอย่างรวดเร็วในระหว่างวันตามการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยได้รับปัจจัยหนุนจากการปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ที่ปรับตัวขึ้นแตะระดับสูงสุดที่ร้อยละ 1.626 เมื่อคืนวันศุกร์ (5/3) ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563

โดยการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐเกิดขึ้นหลังจากกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 379,000 ตำแหน่งในเดือนกุมภาพันธ์ สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าอาจจะเพิ่มขึ้น 210,000 ตำแหน่ง ในขณะที่อัตราการว่างงานลดลงสู่ระดับ 6.2% ในเดือนกุมภาพันธ์ ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าอาจจะทรงตัวที่ระดับ 6.3%

ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นแข็งแกร่งเกินคาดเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวแล้วจากผลกระทบของโควิด-19

ทั้งนี้ค่าเงินบาทได้อ่อนค่าแตะระดับสูงสุดในรอบ 3 เดือนที่ระดับ 30.93 บาท/ดอลลาร์สหรัฐในวันอังคาร (6/3) ก่อนที่จะเริ่มกลับมาแข็งค่าในวันพุธ (7/3) จากการอ่อนค่าลงของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐที่ปรับตัวลงสู่ระดับ 1.52% ภายหลังจากที่กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ทั่วไปดีดตัวขึ้น 0.4% ในเดือนกุมภาพันธ์ตามคาด หลังจากปรับตัวขึ้น 0.3% ในเดือนมกราคม

และเมื่อเทียบรายปี ดัชนี CPI ทั่วไปพุ่งขึ้น 1.7% ตามคาดเช่นกัน ซึ่งเป็นการดีดตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 หลังจากเพิ่มขึ้น 1.4% ในเดือนมกราคม ประกอบกับในเวลาต่อมาสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐมีมติด้วยคะแนนเสียง 220 ต่อ 211 ผ่านร่างกฎหมายกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์

โดยร่างกฎหมายกระตุ้นเศรษฐกิจมีชื่อว่า “American Rescue Plan Act of 2021” ครอบคลุมถึงการจัดสรรงบประมาณ 4 แสนล้านดอลลาร์เพื่อแจกจ่ายให้กับชาวอเมริกันโดยตรงคนละ 1,400 ดอลลาร์ ให้เงินช่วยเหลือบรรดารัฐและรัฐบาลกลางในวงเงิน 3.50 แสนล้านดอลลาร์ จัดสรรเงินทุนเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และขยายโครงการช่วยเหลือคนตกงานสัปดาห์ละ 300 ดอลลาร์ออกไปจนถึงเดือนกันยายนปีนี้

โดยประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้ลงนามในร่างกฎหมายกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐวงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์เป็นที่เรียบร้อยแล้วในเช้าวันนี้ โดยร่างกฎหมายกระตุ้นเศรษฐกิจฉบับล่าสุดนี้ นับเป็นฉบับที่ 6 ที่สภาคองเกรสสหรัฐให้การอนุมัตินับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เมื่อกว่า 1 ปีที่ผ่านมา

สำหรับประเด็นอื่น ๆ ในประเทศไทยนั้น ในวันพุธ (10/3) ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนกุมภาพันธ์ อยู่ที่ 49.4 จาก 47.8 ในเดือนมกราคม โดยดัชนีปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน

โดยมีปัจจัยบวก ได้แก่ ภาครัฐดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อาทิ โครงการ “เราชนะ” “เรารักกัน” “คนละครึ่ง” “เราเที่ยวด้วยกัน” การเริ่มต้นฉีดวัคซีนโควิด-19 ส่งผลให้ผู้บริโภคคลายความกังวล คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น

ขณะที่ปัจจัยลบ ได้แก่ สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ยังคงมีอยู่ กระทบต่อการดำเนินชีวิต การทำธุรกิจและภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ปรับคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 64 เหลือ 2.5-3.5% จากเดิม 3.5-4.5% โดยความกังวลต่อเสถียรภาพทางการเมือง ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับเพิ่มขึ้น เงินบาทแข็งค่าทำให้มีความกังวลต่อความสามารถในการแข่งขันสินค้าไทย และผู้บริโภคยังกังวลเศรษฐกิจชะลอตัว

ทั้งนี้ในช่วงปลายสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 30.485-30.95 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (12/3) ที่ระดับ 30.75/77 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดในเช้าวันจันทร์ (8/3) ระดับ 1.1920/22 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (5/3) ที่ระดับ 1.1922/24 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ก่อนที่จะร่วงลงต่ำกว่าระดับ 1.9000 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร จากการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปีที่ปรับตัวสูงขึ้น

ในวันพุธ (10/3) สำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป (ยูโรสแตท) ได้เปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของยูโรโซนหดตัวลง 0.7% ในไตรมาส 4/2563 เมื่อเทียบรายไตรมาส ซึ่งย่ำแย่กว่าตัวเลขประมาณการเบื้องต้นที่ระบุว่าหดตัว 0.6% เมื่อเทียบรายปี ขณะที่เศรษฐกิจยูโรโซนหดตัวลง 4.9% ในไตรมาส 4 ซึ่งดีกว่าตัวเลขประมาณการเบื้องต้นที่ระบุว่าหดตัว 5.0%

ในวันพฤหัสบดี (11/3) ค่าเงินยูโรได้ปรับตัวแข็งค่าขึ้นและเคลื่อนไหวใกล้ระดับ 1.2000 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร หลังธนาคารกลางยุโรป (ECB) มติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หรืออัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์ที่ระดับ 0% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และคงอัตราดอกเบี้ยงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ฝากไว้กับ ECB ที่ระดับ -0.50% ขณะที่คงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ระดับ 0.25%

นอกจากนี้ ECB มีมติคงวงเงินในการซื้อพันธบัตรตามโครงการ Pandemic Emergency Purchase Programme (PEPP) ที่ระดับ 1.85 ล้านล้านยูโร โดยจะซื้อพันธบัตรตามโครงการดังกล่าวจนถึงเดือนมีนาคม 2565 โดย ECB ระบุว่า ECB จะเพิ่มวงเงินในการซื้อพันธบัตรในไตรมาส 2 เพื่อทำให้อัตราดอกเบี้ยยังคงอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่เศรษฐกิจยูโรโซนยังคงได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ทั้งนี้ในช่วงปลายสัปดาห์ค่าเงินยูโรมีการเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1834-1.1989 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (12/3) ที่ระดับ 1.1930/33 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดในเช้าวันจันทร์ (8/3) ที่ระดับ 108.42/43 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (5/3) ที่ระดับ 108.33/35 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

การเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนในช่วงนี้ยังคงเป็นไปตามในทิศทางที่ตรงกันข้ามของดอลลาร์สหรัฐและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ โดยในวันอังคาร (9/3) รัฐบาลญี่ปุ่นได้ปรับลดประมาณการตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในไตรมาส 4/2563 โดยระบุว่า GDP ขยายตัว 11.7% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขประมาณการเบื้องต้นที่ระดับ 12.7% เนื่องจากการลงทุนในภาคธุรกิจชะลอตัวลง

อีกทั้งนักวิเคราะห์ประเมินว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นอาจจะหดตัวลงในไตรมาส 1/2564 ด้วย เนื่องจากผลกระทบของการที่รัฐบาลประกาศใช้มาตรการฉุกเฉินในช่วงต้นปีนี้ เพื่อควบคุการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายผู้บริโภค

ทั้งนี้ในช่วงต้นสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 108.32-109.23 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (5/3) ที่ระดับ 109.09/11 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ