เปิด 10 สถิติ “เราชนะ” ครม. ติดใจ แจก 7,000 บาท อีก 2.4 ล้านคน

ภาพจาก มติชน

เปิด 10 สถิติโครงการเราชนะ ที่ได้รับการตอบรับจากประชาชนอย่างล้นหลาม ท็อปฟอร์มจน ครม. ติดใจ อนุมัติอีก 2.4 ล้านคน

วันที่ 20 เมษายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานกรณี ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบเปลี่ยนแปลงรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญของ “โครงการเราชนะ” เพื่อให้ผู้ที่มีคุณสมบัติเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของโครงการสามารถได้รับความช่วยเหลือตามโครงการ และสามารถใช้จ่ายวงเงินที่ได้รับ ภายในระยะเวลาที่เหมาะสมตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ดังนี้

  1. ขยายกลุ่มเป้าหมายและกรอบวงเงินของโครงการจากกลุ่มเป้าหมายจำนวนประมาณ 31.1 ล้านคน กรอบวงเงินไม่เกิน 210,200 ล้านบาท เป็นกลุ่มเป้าหมายจำนวนประมาณ 33.5 ล้านคน หรือเพิ่มอีก 2.4 ล้านคน ใช้กรอบวงเงินไม่เกิน 213,242 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 3,042 ล้านบาท
  2. ขยายระยะเวลาใช้วงเงินสนับสนุนสำหรับผู้ได้รับสิทธิ์ตามโครงการจาก สามารถใช้จ่ายได้ไม่เกินวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 เป็นใช้จ่ายได้ไม่เกินวันที่ 30 มิถุนายน 2564

“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมสถิติที่น่าสนใจเกี่ยวกับโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ “เราชนะ” ที่ท็อปฟอร์มจนรัฐบาลต้องขยายกลุ่มเป้าหมายและกรอบวงเงินของโครงการ

1.วันที่ 29 ม.ค.64 ซึ่งเป็นวันแรกของการเปิดลงทะเบียนสำหรับประชาชนทั่วไป ผ่านเว็บไซต์ www.เราชนะ.com ตั้งแต่เวลา 06.00 น. เป็นต้นไป ปรากฏว่า 30​ นาทีแรก มีผู้ลงทะเบียนกว่า​ 1 ล้าน​ราย​ กระทั่ง 12.00 น. มีผู้ลงทะเบียนมากถึง 5 ล้านคน และเวลา 18.00 น. มีประชาชนลงทะเบียนกว่า 6.03 ล้านคน

2.วันที่ 15 ก.พ.64 ซึ่งเป็นวันแรกที่เปิดให้คนไม่มีสมาร์ทโฟนลงทะเบียน หลายพื้นที่มีประชาชนแห่ไปต่อคิวที่จุดลงทะเบียนของธนาคารกรุงไทยจนแน่น ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ คนพิการ บางคนรอคิวแต่เช้ามืด

3.ที่ จ.นครศรีธรรมราช ที่หอประชุมเมืองนครศรีธรรมราช ภายในสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ 84 (ทุ่งท่าลาด) ซึ่งเป็นจุดที่ได้เปิดรับลงทะเบียนโครงการเราชนะสำหรับผู้ที่ไม่มีสมาร์ทโฟนในพื้นที่ อ.เมือง และ อ.พระพรหม ปรากฏว่าตั้งแต่เช้ามีประชาชนเกือบ 4,000 คนจากทั้งสองอำเภอมาเข้าแถวเพื่อผ่านจุดตรวจคัดกรองโควิดด้านหน้าหอประชุมก่อนเข้าไปลงทะเบียนด้านในหอประชุม โดยต่อคิวยาวเหยียดกว่า 1 กม.

4.วันแรกของการลงทะเบียนกลุ่มไม่มีสมาร์ทโฟน ลงทะเบียนสำเร็จ จำนวน 112,981 คน

5.กระทรวงการคลังจึงขยายระยะเวลาการปิดรับลงทะเบียนกลุ่มไม่มีสมาร์โฟนออกไป จากวันที่ 5 มี.ค.64 เป็น 26 มี.ค.64 โดยระหว่างวันที่ 6 – 7 มี.ค.64 ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ต้องปิดระบบลงทะเบียน เพื่อปรับปรุงระบบฐานข้อมูล และเปิดระบบรับลงทะเบียนอีกครั้งในที่ 8 มี.ค.64

6.มีผู้ได้รับสิทธิ์ในโครงการฯ แล้ว รวมทั้งสิ้น 32.8 ล้านคน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

  • ประชาชนกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 13.7 ล้าน
  • ประชาชนกลุ่มที่อยู่ในระบบฐานข้อมูลของแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ในโครงการเราเที่ยวด้วยกันและคนละครึ่ง และกลุ่มประชาชนทั่วไปที่ลงทะเบียนทางเว็บไซต์ www.เราชนะ.com จำนวน 16.8 ล้านคน
  • ประชาชนกลุ่มผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษที่ผ่านการคัดกรองคุณสมบัติแล้ว จำนวน 2.3 ล้านคน

7.โครงการนี้ทำให้มีการใช้จ่ายหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทยกว่า 200,353 ล้านบาท

8.มีผู้ประกอบการร้านค้าและผู้ให้บริการ ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ กว่า 1.3 ล้านกิจการ

9.จังหวัดที่มีร้านค้าลงทะเบียนสูงสุด 10 อันดับ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 187,598 แห่ง, ชลบุรี 61,698 แห่ง, สมุทรปราการ 44,196 แห่ง, เชียงใหม่ 43,463 แห่ง, นนทบุรี 43,312 แห่ง, ปทุมธานี 41,622 แห่ง, สงขลา 36,946 แห่ง, นครราชสีมา 36,563 แห่ง, นครศรีธรรมราช 31,107 แห่ง และ สุราษฎร์ธานี 29,219 แห่ง  (ข้อมูล ณ วันที่ 26 มี.ค.64)

10.ร้านค้าที่มียอดใช้จ่ายมากที่สุด คือ 1) ร้านค้าทั่วไปและอื่นๆ 71,530 ล้านบาท 2) ร้านธงฟ้า 62,953 ล้านบาท 3) รัานอาหารและเครื่องดื่ม 33,433 ล้านบาท 4) ร้าน OTOP 4,706 ล้านบาท 5) ร้านค้าบริการ 3,300 ล้านบาท และ 6) ขนส่งสาธารณะ 111 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 28 มี.ค.64)