เงินบาทแข็งค่า ตลาดจับตาสถานการณ์ระบาดของ Covid-19 ใกล้ชิด

ค่าเงินบาท

ค่าเงินบาทแข็งค่า ตลาดจับตาดูสถานการณ์ระบาดของ Covid-19 อย่างใกล้ชิด ขณะที่เงินบาทปิดตลาดในวันศุกร์ (30/4) ที่ระดับ 31.13/15 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราระหว่าง 26-30 เมษายน 2564 ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางแข็งค่า โดยเปิดตลาดในเช้าวันจันทร์ (26/4) ที่ระดับ 31.34/36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ในสัปดาห์นี้ สิ่งที่นักลงทุนรอคอยคือการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ที่มีขึ้นระหว่างวันที่ 27-28 เมษายน ซึ่งคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ได้ออกมาเปิดเผยถึงว่าคณะกรรมการมีมติเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ที่ระดับ 0.00-0.25% สอดคล้องกับที่ตลาดคาดการณ์ไว้

นอกจากนี้ยังระบุว่าธนาคารกลางสหรัฐจะยังคงเข้าซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) อย่างน้อย 1.2 แสนล้านดอลลาร์/เดือนเช่นเดิม และธนาคารกลางสหรัฐจะยังคงเน้นย้ำแนวทางที่ใช้มาต้งแต่เดือน ธ.ค. 2563 โดยต้องการให้อัตราเงินเฟ้อและการจ้างงานปรับตัวขึ้นสู่ระดับเป้าหมายก่อนที่จะมีการตัดสินใจปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตร

อย่างไรก็ดี ธนาคารกลางสหรัฐยังมีมุมมองเชิงบวกต่อากรฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยระบุว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจและตัวเลขการจ้างงานมีความแข็งแกร่งขึ้นในช่วงที่ผ่านมาโดยได้แรงหนุนจากความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 และการสนับสนุนด้านนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ

ในส่วนของรายงานตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญในวันพฤหัสบดี (29/4) กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 สำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 1/2564 ขยายตัว 6.4% ในไตรมาสแรก ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ประมาณ 6.1-6.5%

โดยการขยายตัวครั้งนี้ถือเป็นการขยายตัวสูงเป็นอันดับ 2 นับตั้งแต่ไตรมาส 3/2546 หลังจากที่เติบโต 4.3% ในไตรมาส 4/2563 ในปี 2564 นี้นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะสามารถเติบโตได้มากกว่า 63% ซึ่งจะเป็นการขยายตัวสูงสุดนับตั้งแต่ปี2527

สำหรับประเทศไทย เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีการยกระดับมาตรการคุมเข้มการแพร่ระบาดให้เข้มข้นขึ้นหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ในประเทศที่รุนแรงและมีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดถึงกว่า 2,000 คนต่อวัน

ตัวอย่างมาตรการที่ประกาศใช้ได้แก่ การปิดสถานที่เสี่ยงหลายแห่ง การห้ามประชาชนในพื้นที่สีแดงรับประทานอาหารในร้าน เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ในส่วนของตัวเลขทางเศรษฐกิจของไทยนั้นปรับตัวดีขึ้น สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมของไทย (MPI) เดือนมีนาคม 2564 อยู่ที่ระดับ 107.73 ขยายตัว 4.12% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งเป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบ 29 เดือน

อีกทั้งยังมีรายงานของกระทรวงอุตสาหรกรมได้ออกมาเปิดเผยว่า สถานการณ์ภาคการผลิตอุตสาหกรรมของไทยเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวตามเศรษฐกิจของโลกที่ดีขึ้น รวมถึงการที่รัฐบาลไม่ได้ใช้มาตรการล็อกดาวน์ จึงมองวาภาคการผลิตอุตสาหกรรมยังคงดำเนินกิจการได้อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 31.19-31.47 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (30/4) ที่ระดับ 31.13/15 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรในสัปดาห์นี้ ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในทิศทางแข็งค่าก่อนจะปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อยในวันพฤหัสบดี (29/4) โดยได้รับอานิสงส์จากค่าเงินดอลลาร์ที่ถูกแรงเทขายหลังธนาคารกลางสหรัฐส่งสัญญาณการดำเนินนโยบายเชิงผ่อนคลายไปอีกระยะ

นอกจากนี้ ค่าเงินยูโรยังได้รับแรงหนุนจากตัวเลขเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง โดยรายงานตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิต-บริการเบื้องต้นของยูโรโซน อยู่ที่ระดับ 53.7 ในเดือน เม.ย. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 9 เดือน เพิ่มขึ้นจากระดับ 53.2 ในเดือน มี.ค.

ขณะที่ Ifo ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยเศรษฐกิจของเยอรมนี ได้ออกมาเปิดเผยตัวเลขดัชนีราคานำเข้าของเยอรมนีที่ระดับ 1.8% ซึ่งดีกว่าที่คาดการณ์ที่ระดับ 0.9% นอกจากนี้ธนาคารกลางแห่งสหภาพยุโรปได้รายงานตัวเลขสินเชื่อส่วนบุคคลของสหภาพยุโรปที่ระดับ 3.3% ซึ่งออกมาดีกว่าคาดการณ์ที่ระดับ 3.2%

ในส่วนของด้านตลาดแรงงาน สำนักงานจัดหางานของรัฐบาลกลางแห่งสหภาพยุโรประบุว่าตัวเลขดัชนีการว่างงานของเยอรมนีปรับตัวสูงขึ้น 9,000 ตำแหน่ง เพิ่มสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้

ในส่วนของประเด็นเรื่อง Brexit ในที่สุดทางรัฐสภายุโรปได้ลงมติรับรองข้อตกลงด้านการค้าและความร่วมมือระหว่างสหภาพยุโรป (EU) และอังกฤษแล้วในวันพฤหัสบดี (29/4) ด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบ 660 เสียง ไม่เห็นชอบ 5 เสียง และงดออกเสียง 32 เสียง หลังการเจรจาดำเนินมาอย่างยาวนาน

เนื่องจากทั้งสหภาพยุโรปและอังกฤษไม่สามารถบรรลุข้อตกลงทางการค้าร่วมกันได้ ซึ่งล่วงเลยกำหนดสิ้นสุดระยะเปลี่ยนผ่านของอังกฤษเมื่อวันที่ 31 ธ.ค. 2563

จากข้อมูลของสำนักงานสถิติของสหภาพยุโรป (Eurostat) บ่งชี้ว่าการที่อังกฤษตัดสินใจแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปนั้นทำให้การค้าระหว่างอังกฤษและสหภาพยุโรปได้รับผลกระทบอย่างหนักจาก โดยใน 2 เดือนแรกของปี 2564 ตัวเลขการส่งออกจากสหภาพยุโรปไปยังอังกฤษนั้นลดลง 20.2% เมื่อเทียบกับปี 2563

ในขณะที่ตัวเลขการนำเข้าจากอังกฤษมายังสหภาพยุโรปหดตัวลงถึง 4.7% ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.2058-1.2145 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (30/4) ที่ระดับ 1..2090/93 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนทยอยปรับตัวอ่อนค่าตลอดทั้งสัปดาห์ โดยตลาดยังคงติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในญี่ปุ่นอย่างใกล้ชิด

เมื่อวันอาทิตย์ (25/4) นายโยชิฮิเดะ ซูงะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้ประกาศภาวะฉุกเฉินในเมืองสำคัญต่าง ๆ ได้แก่ กรุงโตเกียว, เกียวโต, โอซาก้า และเฮียวโงะ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วงวันหยุดยาวเทศกาลโกลเด้นวีคระหว่างวันที่ 25 เม.ย.-11 พ.ค.

โดยจากรายงานข่าวพบว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในญี่ปุ่นเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาแล้ว

นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่หลายท่านออกมาเรียกร้องให้ประชาชนงดกิจกรรมเสี่ยง โดยนางยูริโกะ โคอิเกะ ผู้ว่าการกรุงโตเกียว และผู้ว่าการจากจังหวัดชิบะ, คานางาวะ และไซตามะ ได้ร่วมกันรณรงค์ให้ประชาชนอยู่บ้าน และหยุดดื่มตามท้องถนน หรือรับประทานอาหารร่วมกับบุคคลที่ไม่ใช่สมาชิกในครอบครัวในช่วงวันหยุดโกลเด้นวีคนี้

สำหรับการประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในวันอังคาร (27/4) คณะกรรมการมีมติคงนโยบายการเงินและคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ที่ระดับ -0.1% ส่วนเป้าหมายอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ถูกวางไว้ที่ระดับ 0%

ทั้งนี้ธนาคารกลางญี่ปุ่นได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจญี่ป่นในปีงบประมาณ 2564 จากระดับ 3.9% สู่ระดับ 4% แต่ปรับลดคาดการณ์แนวโน้มดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) พื้นฐานลงจากระดับ 0.5% สู่ระดับ 0.1% โดยธนาคารกลางญี่ปุ่นมีความเป็นไปได้ที่ธนาคารจะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2% ได้ในยุคผู้ว่าการคนปัจจุบัน

ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ระหว่าง 107.67-109.15 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (30/4) ที่ระดับ 108.87/89 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ